[คำที่ ๔o๗] โลภคุณ

 
Sudhipong.U
วันที่  13 มิ.ย. 2562
หมายเลข  32527
อ่าน  347

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โลภคุณ”

คำว่า โลภคุณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โล พะ คุ – นะ] มาจากคำว่า โลภ (ความติดข้อง,ความต้องการ) กับคำว่า คุณ (คุณ ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงคุณประโยชน์ ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ดีงาม แต่หมายถึง ชั้น หรือ ระดับ หรือ เกิดขึ้นบ่อยๆ เกิดขึ้นมากครั้ง) รวมกันเป็น โลภคุณ แปลว่า ชั้นแห่งโลภะ, โลภะซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปมากครั้ง เป็นอีก ๑ คำ ที่แสดงถึงความจริงของอกุศลธรรมประการหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี โลภะเกิดขณะใด ย่อมเป็นอกุศล เกิดขึ้นแล้วก็สะสมทับถมมากขึ้น ไม่สามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตามความเป็นจริงได้ในขณะที่เป็นอกุศล โลภะ ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย มีแต่โทษเท่านั้น

ข้อความในปรมัตถโชติกา อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต โกกาลิกสูตร ได้อธิบายถึงความหมายของคำว่า โลภคุณ ไว้ดังนี้ ว่า

“โลภะ นั่นแล ชื่อว่า โลภคุณ เพราะเป็นไปแล้ว หลายๆ ครั้ง คำว่า โลภคุณ นี้ เป็นชื่อของตัณหา (ความอยากความต้องการ,โลภะ) ”


สภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวันเลย ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม สภาพธรรมต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีอยู่ทุกขณะ สิ่งที่สำคัญ คือ ความเข้าใจถูก เห็นถูก อันเริ่มมาจากการฟัง การศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ ไม่มีตัวตนที่จะไปบังคับให้ปัญญาเกิด ไม่มีตัวตนที่จะไปพิจารณา และแต่ละบุคคลที่เป็นปุถุชนย่อมมากไปด้วยกิเลส ที่สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะละให้หมดสิ้นไปได้ในทันทีทันใด

สิ่งที่มีจริงทั้งหมดทุกประการ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และทรงแสดงโดยละเอียดเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกจะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง เพราะอาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง สัตว์โลกจึงได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง และสิ่งที่มีจริงนั้น มีจริงในชีวิตประจำวันด้วย ไม่ต้องไปแสวงหาสิ่งที่มีจริงที่ไหน แม้แต่ โลภะ ก็มีจริง ตราบใดที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ก็ยังมีโลภะ ยังมีโลภะเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ละคำ ไม่ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะตรัสเรื่องอะไร ก็ทรงแสดงถึงสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ จนกว่าจะเข้าใจขึ้น นี้คือ ประโยชน์ของการฟังพระธรรม มีค่าทุกครั้งที่ความเข้าใจเกิดขึ้น

โลภะ เป็นธรรมที่มีจริงอย่างหนึ่ง แต่เป็นธรรมทางฝ่ายที่เป็นอกุศล ที่ติดข้อง ต้องการ ยินดีพอใจในสิ่งที่ปรากฏ มีระดับขั้นตั้งแต่บางเบา จนกระทั่งมีกำลังถึงขั้นล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน มีการลักขโมยของของผู้อื่น หรือ ถึงกับทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย เพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ก็เพราะความติดข้องเกินประมาณ นั่นเอง เพราะฉะนั้น เรื่องของโลภะ เป็นเรื่องที่แสนจะละเอียดจริงๆ มีหลายชั้น มีหลายระดับ และที่สำคัญคือ เกิดขึ้นเป็นไปมาก ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่ใช่เฉพาะวันนี้วันเดียว ชาตินี้ชาติเดียว แต่เป็นอย่างนี้มานานแล้วในสังสารวัฏฏ์ และยังจะเป็นอย่างนี้ต่อไป หรือแม้กระทั่งในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พระธรรมก็คอยเตือนว่า มีโลภะ แอบแฝงอยู่หรือไม่ ที่ต้องการจะรู้เร็วๆ อยากรู้สภาพธรรม อยากเป็นผู้เก่งธรรม เป็นต้น เพราะแท้ที่จริงแล้ว จุดประสงค์ของการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก ขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มโลภะ จึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

โลภะ มีจริงๆ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อใดก็ทำกิจของตน คือ ติดข้องไม่สละ ไม่ปล่อยให้จิตเป็นกุศล และลึกไปกว่านั้น ไม่ปล่อยให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ตราบใดที่ยังมีโลภะอยู่ เพราะผู้ที่สิ้นโลภะอย่างเด็ดขาดก็คือ พระอรหันต์ ประโยชน์ที่ได้ฟังเรื่องของโลภะ ก็เพื่อเข้าใจตามความเข้าใจถูกเห็นถูกว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้ว แม้แต่โลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล พอใจในรูปบ้าง พอใจในเสียงบ้าง พอใจในกลิ่นบ้าง พอใจในรสบ้าง พอใจในสิ่งที่กระทบสัมผัสกายบ้าง เป็นต้น ชีวิตประจำวัน ยากที่จะพ้นไปจากโลภะได้ โลภะ มีมากจริงๆ

ปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินดีพอใจในวัตถุต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูปเสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งความติดข้องในชีวิตประจำวัน รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจในนามธรรมและรูปธรรมที่ยึดถือว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นตัวตนด้วย โลภะย่อมสะสมทับถมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนแต่ในขณะที่กระทำอกุศลกรรม นั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อนคนอื่น เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และเมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้วนั่นเอง มีเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่กระทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น มีวิบากที่เลวทราม จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย

สำหรับบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีโลภะอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของโลภะ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของโลภะว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับโลภะได้ การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ อดทน จริงใจ ตั้งใจมั่นที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุดในสังสารวัฏฏ์ที่น้อยคนจะได้ฟัง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ