[คำที่ ๔o๙] สมจริยา

 
Sudhipong.U
วันที่  27 มิ.ย. 2562
หมายเลข  32529
อ่าน  906

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สมจริยา”

คำว่า สมจริยา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สะ – มะ - จะ - ริ - ยา] มาจากคำว่า สม (เรียบร้อย,ไม่พลั้งพลาด) กับคำว่า จริยา (ความประพฤติ) รวมกันเป็น สมจริยา แปลว่า ความประพฤติที่เรียบร้อย, ความประพฤติที่ไม่พลั้งพลาด เป็นคำที่กล่าวถึงความประพฤติที่ดีงาม ซึ่งก็คือ ความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายดีทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง ขณะที่มีความประพฤติที่เรียบร้อยดีงาม งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกามเป็นต้น, และความเป็นผู้ตั้งจิตไว้ชอบในคุณความดีประการต่างๆ เรียกว่า สมจริยา ซึ่งเป็นความประพฤติที่เรียบร้อยดีงาม เป็นไปเพื่อระงับซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย ตามข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท มีคำอธิบายความหมายของคำว่า สมจริยา ไว้ดังนี้ ว่า

“บทว่า ความประพฤติเรียบร้อย (สมจริยา) ได้แก่ ความประพฤติระงับซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวง”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีความละเอียดลึกชึ้งอย่างยิ่งเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง เพราะทุกส่วนของคำสอนที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องเตือนเพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต เพื่อความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขัดเกลาละคลายกิเลสอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงโดยตลอด

เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ได้ฟังพระธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของอกุศลประการต่างๆ มีโลภะ โทสะ โมหะ เป็นต้น แล้ว ก็จะเห็นได้จริงๆ ว่า แต่ละคนแต่ละท่านไม่ได้พ้นไปเลยจากอกุศลนั้นๆ ไม่ว่าจะกล่าวถึงอกุศลประเภทใดๆ ก็ตาม ล้วนมีด้วยกันทั้งนั้น เพราะยังดับไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อเข้าใจชีวิตตามความเป็นจริง ก็จะเห็นชัดว่า กำลังก้าวไปสู่อะไร? ไปสู่เหวที่จะตกลงไปลึกๆ? หรือว่ากำลังค่อยๆ ขยับออกให้พ้นจากทางนั้น ซึ่งถ้าไม่มีการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเลย ทุกวันจะต้องถูกครอบงำด้วยความมัวเมาด้วยอกุศลธรรมทั้งหลายอย่างไม่มีวันสร่าง แต่เมื่อใดที่มีความเข้าใจความจริงจากการได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะเห็นได้ว่า ทางที่ควรจะก้าวไปนั้น ควรจะเป็นไปในทางกุศล ซึ่งถ้าจะสังเกตจากชีวิตของตนเองโดยละเอียดขึ้นก็จะรู้ได้ ว่า การกระทำทางกายหรือคำพูดทางวาจาในวันหนึ่งๆ ซึ่งดูเหมือนกับว่าไม่ถึงกับเป็นภัยร้ายแรง แต่ในขณะใดที่ความเข้าใจถูกเห็นถูกเกิดขึ้นจะรู้ได้ว่าบางขณะ แม้แต่คำพูดนั้นก็พูดไปตามความคิดที่กำลังโกรธ คือ พูดไปด้วยความโกรธ ซึ่งย่อมมีอย่างแน่นอน ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ปัญญาสามารถเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง และทำให้ถอยกลับจากอกุศลที่เคยเป็นมา ได้ เป็นไปได้จริงๆ ด้วยกำลังของปัญญา

เป็นที่น่าพิจารณาว่า วันหนึ่งๆ คือ ชีวิตประจำวันตามความเป็นจริง ถึงแม้ว่าจะสะสมกุศลมาสักเท่าไร แต่ถ้าไม่ใช่ผู้ที่อบรมเจริญปัญญาที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมว่า ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ก็ไม่สามารถที่จะละคลายอกุศลนั้นๆ ได้ แต่บุคคลผู้มีการอบรมเจริญปัญญา ก็จะสามารถรู้ตามความเป็นจริง อันเป็นเหตุให้มีการขัดเกลาละคลายอกุศล ได้ ยกตัวอย่างในเรื่องของความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ แต่ละคนแต่ละท่านที่ยังไม่ได้บรรลุธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ก็ยังมีความโกรธ มีความขุ่นเคืองใจเป็นธรรมดา แต่ว่าโกรธแล้ว จะระลึกได้ในขณะนั้นหรือไม่ว่า ขณะนั้นได้มีการกระทำทางกาย ทางวาจา ซึ่งเป็นไปตามความโกรธในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ผลจากการฟังพระธรรมแล้วเข้าใจพระธรรม ก็จะทำให้เริ่มคิดในทางที่ถูกที่ควรว่า ในวันหนึ่งๆ เปลี่ยนจากที่เคยเป็นอกุศล แล้วเป็นกุศลเพิ่มขึ้นหรือไม่? คือ คิดที่จะละคลายอกุศลหรือยัง? เช่นคิดที่จะไม่ผูกโกรธ ซึ่งเป็นคำเตือนที่ควรเตือนบ่อยๆ เป็นคำที่ควรฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำที่ประกอบด้วยความเป็นมิตร ด้วยความหวังดี มุ่งประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างแท้จริง เพราะว่าความโกรธนี้ทุกคนมี เมื่อมีแล้วบางคนก็ไม่ลืม โกรธนาน ผูกโกรธไม่จบ แต่พอเข้าใจพระธรรมขึ้นมาบ้าง แต่ก่อนนี้อาจจะโกรธนานหลายวันหลายเดือน ก็อาจจะลดละคลายลงมาบ้าง นี้คือผลจากการได้เข้าใจพระธรรม แล้วก็พิจารณาพระธรรม มีการคิดที่จะให้อภัย มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับผู้อื่นแทนที่จะโกรธกัน ขณะนั้น กุศลธรรมเกิดขึ้น ทำให้มีความประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร เรียบร้อยด้วยคุณความดี ระงับซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายได้

ยิ่งถ้าได้ศึกษาถึงความประพฤติเป็นไปของพระโพธิสัตว์ ผู้ซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีคุณความดีประการต่างๆ เพื่อถึงความตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ก็จะเห็นถึงความประพฤติของพระองค์ ซึ่งเป็นความประพฤติที่ดีงาม มีการประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ในบุคคลทั้งหลายทั้งที่เป็นมิตรและทั้งที่เป็นผู้ที่หวังร้ายต่อพระองค์ มีความอดทน มีเมตตา ต่อผู้อื่น คิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น พูดในสิ่งที่ควรพูด ทำในสิ่งที่ควรทำ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่าความประพฤติของพระโพธิสัตว์ เกิดจากความคิดอย่างละเอียดมาก เห็นประโยชน์ของทุกอย่างที่เป็นกุศล มีสติปัญญาที่จะพิจารณาการกระทำทางกาย ทางวาจาหรือแม้แต่ความคิดในขณะนั้น แล้วก็สามารถที่จะมีความมั่นคงที่จะประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควรโดยแยบคายด้วยกุศลธรรม ซึ่งควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตาม อันเป็นการประพฤติที่ถูกต้อง ชอบธรรม เพราะเหตุว่าการเดินทางในสังสารวัฏฏ์ไม่ได้จบลงเพียงแค่ชาตินี้ชาติเดียว แต่ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังต้องเกิดต่อไป ทรัพย์สมบัติใดๆ ก็นำติดตามไปไม่ได้ แต่กุศลธรรมและปัญญาสะสมไว้ในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้นที่จะเป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริง ไม่นำทุกข์โทษภัยใดๆ มาให้เลยแม้แต่น้อย

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมประโยชน์อยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ เป็นคำอนุเคราะห์ให้ได้เข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อความประพฤติที่เรียบร้อยดีงาม ขัดเกลาละคลายความไม่รู้และความเห็นผิดตลอดจนถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ได้อย่างแท้จริง ทำให้เป็นผู้เรียบร้อยดีงามตามลำดับขั้น จนถึงเรียบร้อยที่สุดเมื่อถึงการดับกิเลสได้หมดสิ้น ดังนั้น ในชีวิตประจำวัน จึงขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ