[คำที่ ๔๑o] ทุทฺทส
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ทุทฺทส”
คำว่า ทุทฺทส เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ทุด - ทะ - สะ ] มาจากคำว่า ทุ (ยาก) กับ คำว่า ทส (ซึ่งมาจากคำเดิม คือ ทิส แปลว่า เห็น) แปลง ทิส เป็น ทส แล้วซ้อน ทฺ จึงรวมกันเป็น ทุทฺทส แปลว่า เห็นได้โดยยาก แสดงถึงความเป็นจริงของธรรม คือ สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เป็นสิ่งที่เห็นได้โดยยาก รู้ได้ยาก เพราะเป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง ตามข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อายาจนสูตร ดังนี้ว่า
-บทว่า ทุทฺทโส ความว่า (ธรรม) ชื่อว่า เห็นได้ยาก คือ เห็นได้โดยลำบาก อันใครๆ ไม่อาจเห็นได้สะดวก เพราะลึกซึ้ง
-ธรรม เห็นได้ยาก เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดถูกภูเขาบังไว้
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นผู้ตรัสรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้หมดจดจากกิเลส เป็นผู้พ้นจากกิเลสด้วยพระองค์เอง พระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ทั้งหมดที่พระองค์ทรงบำเพ็ญมาตลอดระยะเวลานานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ ไม่ใช่เพียงเพื่อตรัสรู้เฉพาะพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่เพื่ออุปการะเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริงอย่างที่พระองค์ทรงเข้าใจ พระองค์ทรงเห็นว่าสัตว์โลกมากไปด้วยกิเลสทั้งหลาย มีความติดข้อง ความไม่รู้ และความเห็นผิด เป็นต้น จึงทรงประกอบด้วยพระมหากรุณาที่ไม่มีใครเสมอเหมือน ทรงแสดงพระธรรมประกาศพระศาสนาเพื่อให้สัตว์โลกได้พ้นจากกิเลสตามพระองค์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลที่ดี ให้สัตว์โลกที่มืดบอดด้วยกิเลสประการต่างๆ มีอวิชชา ความไม่รู้ เป็นต้น ได้ค่อยๆ พ้นจากกิเลสไปตามลำดับ ด้วยความเข้าใจถูกเห็นถูกของตนเอง ซึ่งมีผู้ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง มากมายนับไม่ถ้วน
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะทรงแสดงในส่วนใด ด้วยพยัญชนะใดก็ตาม ย่อมไม่พ้นไปจากเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ทั้งหมดทั้งปวงเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริง อันเป็นธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ที่หาความเป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นตัวตน ไม่ได้เลย ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงทุกอย่างทุกประการ ซึ่งสิ่งที่มีจริงนี้ ก็กำลังมีในขณะนี้ แต่ก็ไม่รู้เลยว่าเป็นธรรม มีแต่เป็นเราที่เห็น เป็นเราที่ได้ยิน เป็นเราที่ได้กลิ่น เป็นเราที่ลิ้มรส เป็นเราที่กระทบสัมผัส เป็นเราที่คิดนึก เป็นเราที่เป็นกุศลหรือเป็นอกุศล จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะค่อยๆ รู้ขึ้นมาบ้างว่าเป็นธรรม ทำให้เห็นถึงความหนาแน่นของอวิชชา คือ ความไม่รู้ที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ ที่ปกคลุมปิดบังไม่ให้รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงถึงแม้จะมีอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างเป็นปกติอยู่ตลอดเวลาก็ตาม ธรรมจึงเป็นเรื่องที่ยาก ละเอียด ลึกซึ้ง เป็นอย่างยิ่ง บุคคลที่ผู้ที่เป็นบัณฑิตมีปัญญาเท่านั้นถึงจะรู้ตามความเป็นจริงได้ และที่สำคัญ เมื่อเป็นธรรม ก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด และไม่ต้องแสวงหาธรรมที่ไหนเลย เพราะมีอยู่ทุกขณะ หนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายอวิชชาให้เบาบางลงได้ คือ การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญาซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ไม่ละทิ้งโอกาสสำคัญในชีวิต เพราะไม่มีอะไรที่จะมีค่าเท่ากับเกิดมาแล้วได้เข้าใจธรรม ขณะที่มีความเข้าใจเพิ่มขึ้นก็จะค่อยๆ ละคลายอวิชชาไปตามลำดับ
จะเห็นได้จริงๆ ว่า ธรรม ลึกซึ้ง ธรรม ไม่ง่าย ไม่ควรคิดว่า ธรรมง่ายๆ เพราะเหตุว่าถ้าง่าย จะต้องฟังไหม ถ้าง่าย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะต้องบำเพ็ญพระบารมีที่จะตรัสรู้ไหม และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อทรงตรัสรู้แล้วทรงแสดงพระธรรม ๔๕ พรรษา ถ้าง่ายก็ไม่ต้องถึง ๔๕ พรรษา แต่นี่พระองค์ทรงแสดงพระธรรมถึง ๔๕ พรรษา เพราะทรงรู้ว่า กว่าสัตว์โลกจะเข้าใจขึ้นๆ ต้องทรงพระมหากรุณาแสดงอย่างละเอียดแค่ไหน และที่น่าพิจารณา คือ ทุกวันนี้ ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ต่างคนก็บอกว่า ตนเองเป็นชาวพุทธ อย่างนี้ตรงตามความเป็นจริงหรือไม่? เพราะตามความเป็นจริงแล้ว ชาวพุทธ คือ ผู้ที่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าไม่รู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นชาวพุทธได้อย่างไร ได้แต่เพียงบอกว่ารู้จักว่าพระองค์ทรงพระนามว่าอะไร ประสูติที่ไหน เมื่อไหร่ ทรงตรัสรู้เมื่อไหร่ และเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อไหร่ แต่นั่นไม่ใช่การรู้จักพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ถ้ารู้จัก ต้องรู้จักพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณและพระมหากรุณาคุณ อันเนื่องมาจากได้ศึกษาด้วยความเคารพอย่างยิ่งในแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดงและมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ซึ่งแต่ละคำล้ำค่าเป็นอย่างยิ่ง ถ้าได้เข้าใจแล้วก็จะเห็นเลยว่าไม่มีอะไรจะประเสริฐไปกว่านี้
บุคคลผู้ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจถูก เห็นถูก ในสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้เลย เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน ถ้ายังไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ไม่ฟัง ไม่ศึกษา เมื่อไม่ฟัง ไม่ศึกษา ก็ไม่มีปัญญา เมื่อไม่มีปัญญา ความคิดเห็น ก็เป็นความคิดเห็นของผู้ไม่มีปัญญา ไม่ตรงตามความเป็นจริง ดำเนินชีวิตไปแบบผิดๆ เกิดมาแล้วตายไป เป็นอย่างนี้ทุกภพทุกชาติ ก็มากไปด้วยความไม่รู้ พอกพูนความไม่รู้มากยิ่งขึ้น และความไม่รู้นี้เอง เป็นต้นเหตุของความไม่ดีทั้งหมด จึงเป็นสิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง
ในเมื่อพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ละเอียดลึกซึ้ง ก็ยิ่งจะต้องมีความอดทนเป็นอย่างยิ่งที่จะค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่คิดเอาเอง และจุดประสงค์ในการศึกษาต้องตรง คือ เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกขัดเกลาความไม่รู้ ซึ่งมีมากเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแล้ว ก็จะต้องกลับมาที่การฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ ตั้งแต่ในขณะนี้ เพราะความเข้าใจถูก เห็นถูก จะเป็นที่พึ่งที่แท้จริง ทำให้รู้ได้ว่า อะไรถูก อะไรผิด เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้ตกไปในหนทางที่ผิด เพราะหนทางที่จะทำให้หลงผิด นั้นมีมาก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพึ่งพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยการฟังด้วยการศึกษาด้วยความเคารพ ละเอียดรอบคอบ ไม่ประมาทพระธรรม ว่า ง่าย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ