[คำที่ ๔๑๒] สทฺธาเจตสิก

 
Sudhipong.U
วันที่  18 ก.ค. 2562
หมายเลข  32532
อ่าน  365

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สทฺธาเจตสิก

คำว่า สทฺธาเจตสิก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สัด - ดา - เจ - ตะ- สิ- กะ] มาจากคำว่า สทฺธา (สภาพธรรมที่ผ่องใส สะสาด เกิดขึ้นแล้วก็ทำให้จิตและสภาพธรรมที่เกิดร่วมด้วย สะอาด) กับคำว่า เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) รวมกันเป็น สทฺธาเจตสิก แปลว่า สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต คือ ความผ่องใส, แปลทับศัพท์เป็น สัทธาเจตสิก (เขียนเป็นไทยได้อีกอย่างหนึ่งว่า ศรัทธาเจตสิก) สัทธาเจตสิก เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีอย่างหนึ่ง เป็นเจตสิกที่ดีงามที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามทุกประเภท เป็นไปในคุณความดีทั้งปวง ศรัทธาจะเป็นอกุศลไม่ได้เลย ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี-ปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของศรัทธา ไว้ว่า

ศรัทธา เมื่อเกิดขึ้น ย่อมข่มนิวรณ์ (อกุศลที่กางกั้นจิตไม่ให้เป็นไปในกุศล) ทั้งหลาย ย่อมทำให้กิเลสสงบ ย่อมทำให้จิตผ่องใส ย่อมทำจิตไม่ให้ขุ่นมัว”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง เพราะพระองค์ทรงตรัสรู้สิ่งที่มีจริง คือ ธรรมทุกอย่างตามความเป็นจริง จึงทรงแสดงสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ อนุเคราะห์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ว่า ธรรม เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แม้แต่ศรัทธา ก็เป็นสิ่งที่มีจริงอย่างหนึ่ง ด้วย ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่มีทางที่จะเข้าใจในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริงได้เลย ก็เข้าใจผิด คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง พูดในคำที่ไม่รู้จัก เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงต้องได้อาศัยคำจริงที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงจะมีความเข้าใจถูกต้องตรงตามความเป็นจริงได้ จะเห็นได้จริงๆ ว่า บุคคลผู้ที่มีพระมหากรุณากว่าคนอื่นทั้งหมด ก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุว่า สัตว์โลกมีความไม่รู้ มีความเห็นผิด เข้าใจผิดในธรรม เพราะฉะนั้น พระองค์ เมื่อทรงตรัสรู้ความจริงถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว จึงทรงมีพระมหากรุณาแสดงพระธรรม เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก จะได้มีความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อมีความเข้าใจแล้ว ก็นำมาซึ่งสิ่งที่เป็นกุศลเพิ่มขึ้น ทั้งกาย วาจา ใจ จนถึงสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ คำว่า ศรัทธา เป็นคำที่แต่ละคนคุ้นเป็นอย่างดี เพราะว่าคนในสังคมไทยก็ใช้คำนี้บ่อย แต่ว่าเวลาที่ใช้คำภาษาบาลี ก็ไม่ได้เข้าใจตามความหมายที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงความจริงของสภาพธรรมนั้นๆ เพราะศรัทธาก็คือ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) ที่ดีงามประเภทหนึ่ง ที่เกิดกับจิตที่ดีงามทั้งหมด เพราะฉะนั้น เวลาที่มีการพูดว่า เขามีศรัทธา ก็ต้องพิจารณาดูว่าเขาศรัทธาอะไร ถ้าเป็นไปในทางที่ผิด หมายความว่า เขาไม่เข้าใจคำว่าศรัทธา แต่เป็นความเห็นที่ผิด มีความเชื่อที่ผิดแล้วก็มีความมั่นคงขึ้น ถ้าเขาเชื่อมากๆ ในความเห็นผิด ก็แสดงว่าความเห็นผิดต้องมากขึ้นตามกำลังของความเชื่ออย่างที่เราเห็นกันอยู่ซึ่งมีมากและหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง มีตั้งแต่เห็นผิดเล็กๆ น้อยๆ เช่น กราบไหว้ต้นไม้แปลกๆ กราบไหว้สัตว์เดรัจฉานที่เกิดมามีรูปร่างแปลกๆ ด้วยความหวังความต้องการว่าจะได้โชคลาภ เป็นต้น ก็มีการกล่าวกันว่าเขามีศรัทธา ตามความเชื่อนั้นๆ แต่ความจริงไม่ใช่ศรัทธาตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ยิ่งพอมีความเห็นผิดมากขึ้น ผู้คนก็กล่าวกันว่าเขามีศรัทธามาก แต่ก็ยังคงเป็นความเห็นผิดซึ่งไม่ใช่ศรัทธาจริงๆ นี้จึงเป็นเหตุผลที่สำคัญยิ่ง ที่จะต้องมีการตั้งต้นในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริง ความจริงแล้ว ศรัทธา เป็นสภาพธรรมที่ผ่องใส สะอาด เพราะขณะนั้นไม่มีอกุศลเกิดร่วมด้วยเลย เป็นปัจจัยให้สภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดร่วมด้วยในขณะนั้นใสสะอาด ผ่องใส เพราะเหตุว่าไม่มีลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลใดๆ เกิดร่วมด้วยเลย และที่สำคัญ สภาพธรรมที่เป็นศรัทธา ไม่ใช่ปัญญา เพราะปัญญาเป็นความเห็นที่ถูกต้อง ซึ่งจะเห็นได้ว่า บางครั้งบางขณะมีศรัทธาที่จะให้ทานช่วยเหลือเกื้อกูลบุคคลอื่น แต่ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในขณะนั้นว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยเท่านั้น ดังนั้น ศรัทธาก็คือศรัทธา ปัญญาก็คือปัญญา บางครั้งศรัทธาเกิดโดยไม่มีปัญญาเกิดร่วมด้วย แต่ว่าขณะใดก็ตามที่ปัญญาเกิดต้องมีศรัทธาเกิดร่วมด้วย นี่ก็เป็นความต่างกันของสภาพธรรมที่เป็นศรัทธากับสภาพธรรมที่เป็นปัญญา แต่ถ้าเป็นเพียงคำพูดทั่วๆ ไปของผู้ที่ไม่ได้ศึกษาธรรม ก็พูดผิดเข้าใจผิด พูดคำที่ตนเองไม่รู้จัก แต่ถ้าได้ศึกษาพระธรรมแล้วก็จะรู้ได้ว่าคำพูดใดถูก เช่น มีศรัทธาที่จะฟังคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้องเป็นศรัทธาที่เป็นไปพร้อมกับความเห็นที่ถูกต้อง ที่รู้ว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นใคร ทรงแสดงอะไร คำแต่ละคำเป็นประโยชน์อย่างไร แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลโดยตลอด เป็นประโยชน์คือทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้น ในขณะนั้นมีศรัทธาสภาพธรรมที่ใสสะอาด ไม่มีโลภะที่จะต้องการผลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีโทสะ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ ไม่มีความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง แต่รู้ประโยชน์ ว่า คำใดที่จะสามารถทำให้เข้าใจได้ถูกต้อง ในขณะที่จิตผ่องใส เป็นไปในทางที่เป็นกุศลดีงาม ในขณะนั้นเป็นลักษณะของศรัทธาแต่เวลาที่มีความเห็นที่ถูกต้องเกิดร่วมด้วย ความเห็นถูกก็เป็นลักษณะของปัญญา ซึ่งจะเห็นได้จริงๆ ว่า คนไทยใช้คำว่า ศรัทธากับอกุศลด้วย และใช้คำว่าศรัทธากับกุศลด้วย แต่ในความเป็นจริงแล้วขณะใดที่เป็นอกุศล จิตย่อมไม่สะอาด จิตไม่ผ่องใส ย่อมไม่ใช่ศรัทธา เพราะฉะนั้น ศรัทธาจึงเป็นธรรมฝ่ายดี ที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงามเท่านั้น จะเกิดร่วมกับธรรมฝ่ายที่เป็นอกุศลไม่ได้เลย นี้คือ ความเป็นจริง ซึ่งก็ยากที่จะรู้ได้ เพราะเหตุว่า สภาพธรรมแต่ละหนึ่งก็ละเอียดลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่งและแตกต่างกันตามสภาพของธรรมนั้นๆ

แม้ว่า ธรรม จะยาก ละเอียด ลึกซึ้งเพียงใด แต่ก็สามารถเข้าใจได้ ถ้าเป็นผู้เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง มีความอดทน มีความเพียร มีความจริงใจ มีความตั้งใจมั่นที่จะเข้าใจอย่างถูกต้อง ไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ดังนั้น การมีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาพระธรรม มีศรัทธาเห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง นั้น มีค่าเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกคนต้องละจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แต่จะจากไปแบบไหน แบบไม่รู้ความจริง ซึ่งจะต้องเกิดแล้วตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หรือ แบบที่ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไว้ เป็นที่พึ่งต่อไป ก็ย่อมขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลว่าจะเห็นประโยชน์ของพระธรรมหรือไม่อย่างไร เป็นธรรมที่เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
เฉลิมพร
วันที่ 2 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ