[คำที่ ๔๑๓] ตปนียธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  25 ก.ค. 2562
หมายเลข  32533
อ่าน  352

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ตปนียธมฺม

คำว่า ตปนียธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ตะ - ปะ - นี - ยะ – ดำ - มะ] มาจากคำว่า ตปนีย (ที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน, เหตุที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริงๆ , ธรรม) รวมกันเป็น ตปนียธมฺม แปลว่า สิ่งที่มีจริงที่เป็นตั้งแห่งความเดือดร้อน, เหตุที่นำมาซึ่งความเดือดร้อน แสดงถึงความเป็นไปของอกุศลธรรมทั้งหลายเท่านั้น ที่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อน เดือดร้อนทั้งในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น และยังเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนในภายหลังอีกด้วย ไม่นำมาซึ่งประโยชน์สุขใดๆ เลย เพราะถูกอกุศลธรรมครอบงำ จึงทำดี ไม่ได้ หรือ ไม่ทำสิ่งที่ดี ไม่สะสมความดีประการต่างๆ และ ได้ทำแต่สิ่งที่ไม่ดี ธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ จึงเป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนเท่านั้น ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ตปนียสูตร ดังนี้ ว่า

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้ เป็นเหตุให้เดือดร้อน, ๒ ประการ เป็นไฉน? ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่ได้ทำความดีงามไว้ ไม่ได้ทำกุศลไว้ ไม่ได้ทำบุญอันเป็นเครื่องต่อต้านความขลาดกลัวไว้ ทำแต่บาป ทำอกุศลกรรมอันหยาบช้า ทำอกุศลกรรมอันกล้าแข็ง บุคคลนั้น ย่อมเดือดร้อน ว่า เราไม่ได้ทำกรรมอันงาม ดังนี้ บ้าง ย่อมเดือดร้อน ว่า เราทำแต่บาป ดังนี้ บ้าง ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๒ ประการนี้แล เป็นเหตุให้เดือดร้อน”


ในชีวิตประจำวันโดยปกติของปุถุชนผู้ยังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมปฏิเสธไม่ได้เลยว่าอกุศลจิตจะไม่เกิดขึ้น เพราะอกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปอย่างมากด้วย หวั่นไหวไปในเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยอำนาจของกิเลสที่ได้สะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานนับชาติไม่ถ้วน ถึงแม้ว่า การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เป็นหนทางเดียวที่จะเป็นไปเพื่อดับกิเลส ดับความเดือดร้อนวุ่นวายใจ ดับทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงได้ในที่สุด แต่แม้กระนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้ฟังพระธรรม เพราะเป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล พระธรรม ไม่สาธารณะกับทุกคน เฉพาะผู้ที่เห็นประโยชน์เท่านั้นที่จะได้ฟังได้ศึกษา

ที่น่าพิจารณา คือ ชีวิตของผู้ที่ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้อบรมเจริญปัญญา ก็ดำเนินไปอย่างผู้ที่ไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญาเป็นเครื่องนำทางชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ทำให้ดำเนินไปด้วยความประมาท เพลิดเพลินมัวเมา ไม่เห็นโทษของอกุศล คือ ความชั่วทั้งหลายทั้งปวง และไม่เห็นประโยชน์ของความดีประการต่างๆ จิตใจมีแต่จะคล้อยไปในทางที่เป็นอกุศล ทำแต่สิ่งที่ผิด ทำแต่สิ่งที่เป็นโทษ ย่อมเป็นผู้เสื่อมอย่างที่สุดเพราะไม่มีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ในทางตรงกันข้าม ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ได้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ก็ดำเนินไปตามปกติ ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลจิตเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาตามเหตุปัจจัย แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ รู้ขึ้น เข้าใจขึ้นในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นแต่เพียงธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่เรา พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวต่ออกุศล พร้อมทั้งมีความจริงใจที่จะขัดเกลาอกุศลให้เบาบางลง ทั้งหมดทั้งปวงต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เริ่มด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง เห็นประโยชน์ของคำจริงแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้อง และเมื่อมีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ปัญญานี้เอง ที่จะนำทางชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง ไม่นำพาไปในทางที่ผิด

เป็นความจริงที่ว่าบุคคลที่กระทำชั่วทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขณะนั้นเป็นการกระทำเหตุที่ไม่ดี เดือดร้อนแล้วในขณะที่กระทำชั่ว ซึ่งจะเป็นเหตุทำให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้า โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย นอกจากกระทำชั่วของตนเองเท่านั้น เพราะเหตุว่าเวลาที่กรรมชั่วให้ผลนั้น ถึงแม้ว่าจะมีบุคคลอื่นคอยคุ้มครองป้องกันรักษาเพื่อให้รอดพ้นจากอันตรายต่างๆ ก็ไม่สามารถป้องกันการได้รับผลของกรรมที่ตนเองเคยกระทำไว้แล้วได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม กล่าวได้เลยว่าบุคคลที่ทำกรรมชั่ว ชื่อว่า ไม่รักตนเอง ไม่รักษาตนเอง เพราะได้กระทำแต่เหตุที่ไม่ดี ที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดีแก่ตนเองในโอกาสข้างหน้า เพราะเหตุว่าเมื่อถึงคราวที่กรรมชั่วให้ผล จะอยู่ที่ไหนก็ไม่สามารถรอดพ้นไปได้เลย

ส่วนบุคคลผู้ที่ได้กระทำความดี สะสมคุณความดีประการต่างๆ ไม่ได้กระทำสิ่งที่เป็นโทษ กล่าวคือ ความชั่วทั้งหลายให้กับตนเอง บุคคลประเภทนี้เป็นผู้รักตนเอง รักษาตนเองอย่างแท้จริง คือ รักษาด้วยการประพฤติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม รักษาด้วยการกระทำเหตุที่ดีที่จะให้ผลที่ดีในภายหน้า เนื่องจากว่าความดีทั้งหลายให้ผลเป็นสุขเท่านั้น ไม่ใช่อยู่ที่การมีบุคคลมากมายมาแวดล้อมป้องกันรักษา เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีใครมาแวดล้อมปกป้องรักษาเลย แต่เมื่อความดีที่ได้สะสมไว้แล้วให้ผล ก็ย่อมไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะไปประทุษร้ายเบียดเบียนให้ได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ ได้เลย

จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น ไม่มีล้าสมัยเลย ทันสมัยอยู่เสมอ เหมาะทุกกาลสมัย เพราะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษาแล้วน้อมที่จะประพฤติปฏิบัติตามในกาลทุกเมื่อ ด้วยการละเว้นในสิ่งที่จะนำมาซึ่งความเดือดร้อนประการต่างๆ แล้วประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ความเดือดร้อน ก็จะไม่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยังเป็นไปเพื่อความเจริญยิ่งขึ้นของความดีประการต่างๆ รวมถึงปัญญา ด้วย แต่ละคนจะเป็นคนนี้ได้ชาตินี้ชาติเดียว พอถึงชาติหน้าก็มาจากชาตินี้ทั้งหมดสืบต่อไป ถ้าชาตินี้ ได้ทำดี สะสมคุณความดีประการต่างๆ และมีความเข้าใจธรรมด้วย สิ่งเหล่านี้ก็จะติดตามไปได้ สังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล ถ้าได้สะสมความดีและมีความเข้าใจธรรมตามความเป็นจริง ก็สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ไม่เป็นเหตุนำมาซึ่งความเดือดร้อนโดยประการทั้งปวง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 17 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ