[คำที่ ๔๑๔] สมฺปทา

 
Sudhipong.U
วันที่  1 ส.ค. 2562
หมายเลข  32534
อ่าน  490

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สมฺปทา

คำว่า สมฺปทา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สำ - ปะ - ทา] เขียนเป็นไทยได้ว่า สัมปทา แปลว่า ความถึงพร้อม มีความหมายที่ละเอียดกว้างขวางครอบคลุมความถึงพร้อมในด้านต่างๆ ทั้งหมด รวมถึงความถึงพร้อมที่ประเสริฐ ที่มีค่ายิ่ง คือ ความถึงพร้อมด้วยคุณความดีประการต่างๆ และ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกหรือสัมมาทิฏฐิ ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต สัมปทาสูตร ดังนี้ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความถึงพร้อม (สัมปทา) ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ ความถึงพร้อมด้วยญาติ ๑ ความถึงพร้อมด้วยโภคะ ๑ ความถึงพร้อมด้วยความไม่มีโรค ๑ ความถึงพร้อมด้วยศีล ๑ ความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งความถึงพร้อมด้วยญาติ ความถึงพร้อมด้วยโภคะ ความถึงพร้อมด้วยความไม่มีโรค แต่ว่า สัตว์ทั้งหลาย เมื่อตายไปแล้วย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุแห่งความถึงพร้อมด้วยศีล หรือ เพราะเหตุแห่งความถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นถูก) ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ความถึงพร้อม (สัมปทา) ๕ ประการนี้แล”


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ไม่มีใครเสมอเหมือน พระบารมีคุณความดีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงสะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริง เกื้อกูลสัตว์โลก เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อสัตว์โลกโดยตลอด มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหมบุคคล การที่แต่ละบุคคลจะเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องฟัง พิจารณาไตร่ตรองบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และความเข้าใจ พระธรรม ก็ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตอย่างแท้จริง

การประสบกับความเสื่อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสื่อมจากญาติ ความเสื่อมแห่งทรัพย์สมบัติ ความเสื่อมเพราะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ตราบใดที่ยังวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏฏ์ย่อมมีโอกาสประสบกับความเสื่อมเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ความเสื่อมเหล่านี้ เป็นความเสื่อมที่มีประมาณน้อย เป็นความเสื่อมเพียงบางครั้งบางคราวเท่านั้น และบางคราวอาจจะพ้นจากความเสื่อมเหล่านี้ แล้วกลับมามีความถึงพร้อมด้วยญาติ มีความถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ และ มีการหายจากโรคภัยไข้เจ็บ ก็เป็นได้ ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะธรรมทั้งหลายทั้งปวง เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น และไม่มีใครเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงด้วย เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไปไม่กลับมาอีกเลย อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมที่กล่าวมานั้น เป็นความเสื่อมเพียงเล็กน้อยจริงๆ แต่ความเสื่อมแห่งปัญญา หรือ ปัญญาเสื่อมไป ซึ่งก็คือ ปัญญาไม่เกิด ไม่เจริญขึ้น นั้น เป็นความเสื่อมที่ยิ่งกว่าความเสื่อมทั้งหลาย เพราะเหตุว่า เมื่อไม่มีปัญญา หรือ ปัญญาเสื่อมไปแล้ว กุศลธรรมประการต่างๆ ก็พลอยเสื่อมไปด้วย เป็นเหตุให้เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ซึ่งเป็นเหตุทำให้การประพฤติปฏิบัติผิดไปด้วย เป็นเหตุทำให้เกิดในอบายภูมิได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย อันจะเป็นเหตุตัดรอนไม่ให้กุศลธรรมและปัญญาเจริญขึ้นจนถึงการรู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้

ในทางตรงกันข้าม ความถึงพร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความถึงพร้อมด้วยญาติ ความถึงพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ และความถึงพร้อมด้วยความไม่มีโรค เป็นความถึงพร้อมที่มีประมาณน้อย ไม่ประเสริฐเหมือนกับความถึงพร้อมด้วยคุณความดีประการต่างๆ เพราะเหตุว่าญาติทั้งหลาย ก็ดี ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ก็ดี หรือแม้กระทั่งความเป็นผู้มีสุขภาพดีไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ นั้น ไม่สามารถติดตามไปในภพหน้าได้ ไม่ได้ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิได้ ไม่ได้เป็นที่พึ่งที่แท้จริง แต่ความถึงพร้อมที่ประเสริฐ ที่มีค่า นั้น ต้องเป็นความถึงพร้อมด้วยความความดี และ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะสภาพธรรมฝ่ายดีทั้งหลาย เป็นที่พึ่งได้ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า และเป็นเหตุให้บรรลุถึงประโยชน์อย่างยิ่ง กล่าวคือ การรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ดับกิเลสประการต่างๆ ได้ในที่สุด แล้วจะมีความถึงพร้อมด้วยคุณความดีและปัญญาได้อย่างไร ก็ต้องได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกไปตามลำดับ เท่านั้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก นำไปในคุณความดีทั้งปวง ไม่นำพาไปในทางที่ผิดในทางที่เป็นโทษใดๆ เลย

ข้อที่น่าพิจารณาอีกอย่างหนึ่ง คือ สำหรับเรื่องของทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ถ้ามีแล้ว หากเสื่อมไป หมดไป สำหรับผู้ไม่มีปัญญา ไม่มีคุณความดีเป็นที่พึ่ง ย่อมเดือดร้อนวุ่นวายเป็นอย่างมาก แต่ในทางตรงกันข้าม ตราบใดที่ยังเป็นผู้มีความถึงพร้อมด้วยคุณ

วามดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญญา ย่อมเป็นสิ่งที่ประเสริฐ อุปการะเกื้อกูลให้ไม่เดือดร้อน สามารถดำเนินชีวิตไปตามครรลองของความถูกต้อง ไม่ทำทุจริตกรรม เพราะเหตุว่าการจะได้ทรัพย์สมบัติ เป็นต้น นั้น ก็จะต้องเป็นผลมาจากเหตุคือ กุศลกรรม ความดีที่ได้กระทำแล้ว และการที่จะเสื่อมจากทรัพย์สมบัติ เป็นต้น ก็ต้องเป็นผลมาจากเหตุ คือ กรรม แต่เป็นอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตจริงๆ คือ คุณความดีทั้งหลายทั้งปวง รวมถึงปัญญา ความเข้าใจถูก เห็นถูกในธรรมตามความเป็นจริง ด้วย เพราะเราจะเป็นคนนี้ได้ชาตินี้ชาติเดียว พอถึงชาติหน้า ก็มาจากชาตินี้ทั้งหมดสืบต่อไป ถ้าชาตินี้เราได้สะสมความดีและมีความเข้าใจพระธรรมด้วย สิ่งเหล่านี้ก็ติดตามไปได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาเท่าที่ยังเหลืออยู่ในโลกนี้ จึงควรเป็นไปเพื่อการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมปัญญา และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 19 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ