[คำที่ ๔๒o] มิจฺฉาปฏิปตฺติ

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ก.ย. 2562
หมายเลข  32540
อ่าน  360

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มิจฺฉาปฏิปตฺติ

คำว่า มิจฺฉาปฏิปตฺติ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มิด - ฉา - ปะ – ติ - ปัด - ติ] มาจากคำว่า มิจฺฉา (ผิด) กับคำว่า ปฏิปตฺติ (ปฏิบัติ) รวมกันเป็น มิจฺฉาปฏิปตฺติ เขียนเป็นไทยได้ ว่า มิจฉาปฏิบัติ แปลว่า ปฏิบัติผิด ซึ่งเป็นการดำเนินไปในหนทางที่ผิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา แต่เป็นความประพฤติเป็นไปที่ทำให้กิเลสทั้งหลาย ทั้งความเห็นผิด ความติดข้อง ความไม่รู้ เป็นต้น ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ปฏิปัตติสูตร แสดงความเป็นจริงมิจฉาปฏิบัติ ดังนี้ ว่า

[๙๐] ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาปฏิบัติเป็นไฉน คือ ความเห็นผิด ความดำริผิด วาจาผิด การงานผิด เลี้ยงชีพผิด ความเพียรผิด ระลึกผิด ความตั้งมั่นผิด นี้เรียกว่ามิจฉาปฏิบัติ.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา มีความละเอียดลึกซึ้ง เห็นได้ยาก และที่สำคัญ แสดงถึงสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเป็นธรรม การที่จะเข้าใจธรรมได้นั้น ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมปัญญาไปตามลำดับ และจะต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนานในการอบรมเจริญปัญญา สะสมไปทีละเล็กทีละน้อย ขึ้นชื่อว่าชาวพุทธแล้ว ต้องเป็นผู้ฟังพระธรรม และมีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะไปหาทางลัด ด้วยการไปทำอะไรที่ผิดปกติ ไปปฏิบัติผิดด้วยความเป็นตัวตน มีความจดจ้องต้องการ นั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้รู้ความจริง เพราะหนทางลัด เป็นทางหรือวิธีของความไม่รู้ เป็นความเห็นผิด ถ้าดำเนินตามทางที่ผิด ซึ่งเริ่มด้วยความเห็นผิด โดยมีความไม่รู้เป็นประธาน ทุกอย่างก็ย่อมผิดทั้งหมด ทั้งความตรึกนึกคิด ความเพียร เป็นต้น ผิดทั้งหมด กล่าวโดยสรุป คือ ผิดทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมเลย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บอกทางเท่านั้น ว่า ทางที่ถูก ที่เป็นไปเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส คือ อะไร นั่นก็คือ การอบรมเจริญปัญญา เป็นปกติธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังละกิเลสอะไรๆ ไม่ได้ ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัยให้กิเลสประเภทนั้นๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ความเห็นผิด ก็เช่นเดียวกัน ก็เพราะยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็ย่อมจะมีความเข้าใจผิด เห็นผิด ยึดถือในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด และเมื่อเห็นผิดแล้วการชักชวนก็ย่อมจะชักชวนผู้อื่นไปในทางผิดๆ คล้อยตามความเห็นที่ผิด ด้วย ในเบื้องต้นนี้ก็ทำให้เห็นแล้วว่า ความเห็นผิด อันตรายมาก เป็นโทษแก่ตนเอง แล้วยังก่อให้เกิดโทษแก่คนอื่นด้วย แต่ละคนสะสมมาไม่เหมือนกัน สะสมมาทั้งส่วนที่ไม่ดีและส่วนที่ดี เพราะเคยได้ยินได้ฟังพระธรรมมาแล้ว เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว การสะสมฝ่ายดีนี้ ไม่สูญหายไปไหน ทำให้มีการพิจารณาไตร่ตรองว่า เหตุกับผลไม่ตรงกัน เมื่อเหตุผิดแล้ว ผลจะถูกไม่ได้ ก็ทำให้ถอยกลับจากหนทางที่ผิดนั้น ในเมื่อเป็นสิ่งที่ผิด ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะยึดถือไว้ ควรที่จะทิ้งได้ในทันที

ท่านอุปติสสะ (พระสารีบุตร) และ โกลิตะ (พระมหาโมคคัลลานะ) ก่อนที่จะได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ท่านเคยเป็นลูกศิษย์ของสัญชัยปริพาชก ท่านทั้งสองพิจารณาแล้วว่า คำสอนของอาจารย์ไม่ได้เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์ เป็นคำสอนที่ไม่เป็นไปกับด้วยสาระ ก็ไม่ได้อยู่ในสำนักนั้นอีกต่อไป ถอยกลับจากที่นั้น แล้วออกแสวงหาหนทางที่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้น จนกระทั่งท่านทั้งสองได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

ในสมัยครั้งพุทธกาลไม่มีสำนักปฏิบัติธรรมของบรรพชิต หรือสำนักปฏิบัติธรรมของคฤหัสถ์ เพราะผู้ที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในยุคนั้น ท่านมีปกติเจริญสติปัฏฐาน (ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) คือ ไม่มีการจำกัดหรือเลือกสถานที่ กาลเวลา และอารมณ์ คือ ทุกที่ทุกเวลาเป็นปกติ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีหลักฐานใดๆ แสดงว่ามีการสร้างหรือมีสำนักปฏิบัติธรรมของบรรพชิตหรือสร้างสำนักปฏิบัติธรรมของคฤหัสถ์ ในยุคนี้มีความเห็นผิดว่า ถ้าจะปฏิบัติธรรม ต้องอยู่ในห้องหรือไปสำนักปฏิบัติ ไปสถานที่อื่นๆ ปฏิบัติไม่ได้ จึงมีการสร้างสำนักปฏิบัติเพื่อการปฏิบัติธรรม ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา ที่น่าพิจารณา คือ ปัญญาจะเจริญขึ้นตามลำดับจนถึงความสมบูรณ์พร้อม (ถึงความเป็นพระอริยบุคคลข้ามพ้นจากความเป็นปุถุชนได้) ก็ต้องมาจากการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ใช่การไปทำอะไรด้วยความไม่รู้ตามสำนักต่างๆ ด้วยความต้องการ ด้วยความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม เพราะนั่นไม่ใช่หนทางที่จะทำให้ถึงความเจริญขึ้นของปัญญาเลย นำคำว่าปฏิบัติธรรมมาใช้ แต่ไม่ใช่เลยแม้แต่น้อย

สาวกในครั้งอดีต มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม ก็เพราะได้อาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ฉันใด สาวกในยุคนี้สมัยนี้ จะมีความเข้าใจถูกเห็นถูกในธรรม ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เช่นเดียวกัน ซึ่งจะประมาทในแต่ละคำของพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ไม่ได้เลย

ถ้าไม่ได้ศึกษาพระธรรม ไม่ได้ฟังพระธรรม ย่อมไม่สามารถที่จะมีความเข้าใจได้ว่า พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้อะไร และทรงแสดงอะไร ธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้และทรงนำมาแสดงนั้น เป็นความจริง เป็นสิ่งที่มีจริง ทุกประการ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตน เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ เท่านั้น (นามธรรมกับรูปธรรม) ความจริงทั้งหลายเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้ผู้ที่รู้แจ้ง บรรลุถึงความเป็นพระอริยบุคคลได้ เมื่อได้ฟังได้ศึกษา ความเข้าใจก็จะเพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ความมั่นคงในหนทางที่ถูก และการเห็นความสำคัญของการอบรมเจริญปัญญา ก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับด้วยเช่นกัน จะเห็นได้จริงๆ ว่า เนื่องจากได้สั่งสมอกุศล สั่งสมอวิชชา (ความไม่รู้) มาอย่างเนิ่นนาน นับชาติไม่ถ้วนในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่ได้อาศัยพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง สังสารวัฏฏ์ก็จะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เต็มไปด้วยทุกข์ เต็มไปด้วยกิเลสทั้งหลายเหมือนเดิม ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะประมาท ไม่ควรที่จะขาด-การศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อการดับทุกข์ ดับการเวียนว่ายตายเกิดได้ในที่สุด

สิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือ การฟังพระธรรม กาลสมัยนี้ ยังเป็นยุคที่พระธรรมยังดำรงอยู่ บุคคลผู้ที่เป็นกัลยาณมิตร เผยแพร่พระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็ยังมีอยู่ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ที่สะสมบุญมาแต่ปางก่อน เห็นประโยชน์ของการได้เข้าใจความจริง จะได้สะสมปัญญาจากการได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในแต่ละครั้ง สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป จนกว่าจะถึงความสมบูรณ์พร้อมของปัญญาได้ในที่สุด เพราะการที่ปัญญาจะมีมากได้ จะเป็นเหตุให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้นั้น ก็จะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 20 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ