[คำที่ ๔๒๑] เจตสิกโรค
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เจตสิกโรค”
คำว่า เจตสิกโรค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า เจ – ตะ - สิ - กะ- โร - คะ] มาจากคำว่า เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) กับคำว่า โรค (สภาพที่เสียดแทงให้เดือดร้อน) รวมกันเป็น เจตสิกโรค แปลว่า โรคทางใจ, โรคของจิต, โรคคือกิเลสที่เกิดประกอบกับจิต แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมที่มีจริง แต่เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี คือ กิเลส อันเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต ที่เมื่อเกิดขึ้นประกอบพร้อมกับจิต ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ แม้แต่น้อย เป็นเครื่องเสียดแทงจิตใจให้เร่าร้อน ให้เดือดร้อน เป็นเหตุให้ทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรมากมาย ตามกำลังของกิเลส และที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ ทุกขณะที่ไม่รู้ความจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ นั้น โรค คือ กิเลสเกิดขึ้นประกอบพร้อมกับจิตแล้วในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ในแต่ละวันจะมากไปด้วยโรคทางใจเพียงใด
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต โรคสูตร แสดงความจริงว่า ผู้ที่ไม่มีโรคทางใจ คือ พระอรหันต์ เท่านั้น บุคคลนอกกนี้ยังไม่พ้นจากโรคทางใจ แม้ว่าบางคนอาจจะไม่ค่อยเป็นโรคทางกายเลยก็ตาม ดังนี้ คือ
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่าง เป็นไฉน? คือ โรคทางกาย ๑ โรคทางใจ ๑, ปรากฏอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกาย ตลอดเวลา ๑ ปี ก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกาย ตลอดเวลา ๒ ปี ก็มี ๓ ปี ก็มี ๔ ปี ก็มี ๕ ปี ก็มี ๑๐ ปี ก็มี ๒๐ ปี ก็มี ๓๐ ปี ก็มี ๔๐ ปี ก็มี ๕๐ ปี ก็มี ๑๐๐ ปี ก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่า ไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้น หาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ (พระอรหันต์)”
ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรีคาถา สุเมธาเถรีคาถา แสดงความหมายของโรคทางใจ ไว้ว่า
“โรคทางใจ คือ กิเลส เสียดแทงจิตใจ”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา โดยนัยประการต่างๆ โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง เป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่า แต่ละคนยังมากไปด้วยโรคทางใจ คือ กิเลสหลากหลายชนิด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดีโดยส่วนเดียว ซึ่งเวลาที่กิเลสเกิดขึ้น ก็เกิดประกอบพร้อมกับจิต จึงกำกับด้วยคำที่ชัดเจนว่า เจตสิก เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ไม่นำมาซึ่งคุณประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น เปรียบเหมือนสิ่งที่เป็นพิษ เปรียบเสมือนอสรพิษ เปรียบเสมือนไฟ เนื่องจากว่าแต่ละคนได้สะสมกิเลสมามากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จึงมีสารพัดโรคที่จะเกิดขึ้นเสียดแทงจิตใจ ทั้งโรคโลภะ (ความติดข้องต้องการ) โรคโทสะ (ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ) โรคโมหะ (ความหลง ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง) โรคมานะ (ความสำคัญตน ถือตน) โรคมิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของธรรม) โรคมัจฉริยะ (ความตระหนี่ไม่อยากให้สมบัติของตนทั่วไปแก่คนอื่น) โรคริษยา (เห็นอื่นได้ดีมีความสุขแล้วทนไม่ได้) เป็นต้น ซึ่งถูกโรคกิเลสเหล่านี้ทำร้ายจิตใจมานับชาติไม่ถ้วน ไม่ใช่เพียงเฉพาะชาตินี้เท่านั้น และยังจะต้องเป็นอย่างนี้อีกต่อไป ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับโรคกิเลสเหล่านี้ได้ตามลำดับขั้น
โรคทางใจ คือ กิเลส ทั้งหลายนั้น เป็นโรคที่เห็นยาก เมื่อเป็นเช่นนี้โรคทางใจจึงรักษาได้ยากกว่าโรคทางกาย ซึ่งจะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการเจริญกุศล อบรมเจริญปัญญา ซึ่งเป็นยาที่จะรักษาโรคทางใจให้หมดสิ้นไปได้ในที่สุด ถ้าผู้ใดพิจารณาเห็นโรคคือกิเลสที่ตนมีตามความเป็นจริงแล้วรีบขัดเกลาละคลาย ไม่เป็นผู้ที่ประมาท ไม่เป็นผู้ที่ปล่อยปละละเลย ก็ย่อมจะดีกว่าการปล่อยให้โรคคือกิเลสนั้นกำเริบหนักยิ่งขึ้น เพราะถ้ามีกิเลสมากมายพอกพูนหนาแน่นขึ้นก็ยากที่จะแก้ไขได้ เพราะไม่ยอมแม้แต่คิดที่จะขัดเกลากิเลสของตนเองเลย แล้วกิเลสจะน้อยลงได้อย่างไร ถ้าเป็นผู้ที่ไม่มีการขัดเกลากิเลส ไม่เป็นโทษของกิเลส ก็กล่าวได้ว่า เป็นผู้ที่ไม่ยอมถูกรักษาด้วยพระธรรม เป็นผู้ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม ก็ยังจะต้องอยู่ต่อไปในสังสารวัฏฏ์ เต็มไปด้วยทุกข์อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
เภสัช (ยา) ที่ประเสริฐ ที่จะรักษาโรคทางใจได้ทุกประเภทจริงๆ คือ ความเข้าใจพระธรรม เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็คือ ปัญญา อย่างเช่นพระภิกษุในสมัยครั้งพุทธกาล บางรูป ท่านเกิดความติดข้องเป็นอย่างมาก พอได้เข้าเฝ้าฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยบารมีที่ตนเองได้สะสมมาทำให้ได้ประจักษ์แจ้งสภาพธรรมตามความเป็นจริง รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสตามลำดับขั้นจนถึงสูงสุดถึงความเป็นพระอรหันต์ ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น หรือ บางรูป โกรธง่ายมาก ใครทำอะไรให้หน่อยก็โกรธ มากไปด้วยความไม่พอใจ แต่พอได้ฟังพระธรรมจากพระองค์ ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ดับความโกรธได้อย่างเด็ด ไม่มีความโกรธทุกระดับเกิดขึ้นอีกเลย และในที่สุดแล้วก็จะบรรลุถึงความเป็นพระอรหันต์ ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง นี้คือ ประโยชน์ที่เกิดจากการได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสจนกระทั่งสามารถดับได้ในที่สุด
การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ด้วยความเคารพละเอียด รอบคอบ ทำให้ได้รู้จักตนเองตามความเป็นจริงว่ายังมีกิเลสมากมายหนาแน่นเหนียวแน่น ยังเต็มไปด้วยโรคทางใจคือกิเลสอันเป็นสิ่งที่น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง และ ทำให้รู้ว่าตนเองยังต้องอบรมปัญญาต่อไปอีกยาวนานกว่าจะสามารถละกิเลสที่ตนเองสะสมมาอย่างมากได้ เพราะชีวิตในแต่ละวันสะสมพอกพูนกิเลสอยู่เป็นประจำ เทียบส่วนไม่ได้เลยกับกุศลซึ่งมีน้อยมากในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้น การที่จะขจัดโรคทางใจคือกิเลสได้นั้น ต้องอาศัยการเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก เพราะถ้ามีปัญญาแล้ว กุศลธรรมประการต่างๆ ก็จะเจริญเพิ่มขึ้นคล้อยตามปัญญา เพราะปัญญา เป็นสภาพธรรมที่เข้าใจถูกเห็นถูก ย่อมนำไปในกิจทั้งปวงที่ดีงามโดยตลอด ไม่มีทางที่ปัญญาจะนำพาไปในทางที่ผิด ขณะที่กุศลธรรมเกิดขึ้นนั้น ก็เป็นเครื่องป้องกันหรือต้านทานอกุศลแล้ว เพราะขณะนั้นอกุศลเกิดไม่ได้ จนกว่าจะมีปัญญาคมกล้าถึงความเจริญสมบูรณ์พร้อมสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้น เมื่อนั้นจึงจะเป็นผู้ปราศจากโรคทางใจ คือ กิเลสอย่างสิ้นเชิง ซึ่งจะต้องเริ่มเป็นผู้เห็นคุณอันประเสริฐยิ่งของพระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุด.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ