[คำที่ ๔๒๒] สมฺมาปณิหิต

 
Sudhipong.U
วันที่  26 ก.ย. 2562
หมายเลข  32542
อ่าน  446

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ สมฺมาปณิหิต

คำว่า สมฺมาปณิหิต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สำ - มา - ปะ - นิ - หิ - ตะ] มาจากคำว่า สมฺมา (โดยชอบ) กับคำว่า ปณิหิต (จิตที่ตั้งไว้) รวมกันเป็น สมฺมาปณิหิต แปลว่า จิตที่ตั้งไว้โดยชอบ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต มีความไม่รู้ ความติดข้อง และความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งกว่ากิเลสจะหมด ต้องเป็นผู้ที่ตั้งจิตไว้ชอบ คือ น้อมไปในคุณความดีทุกประการ ด้วยปัญญา เพื่อการขัดเกลาละคลายกิเลสที่สะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์

ข้อความในธัมมปทัฏฐกถา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท อธิบายคำว่า สมฺมาปณิหิต ไว้ดังนี้ ว่า

บทว่า สมฺมาปณิหิตํ คือ ชื่อว่า ตั้งไว้ชอบแล้ว เพราะความเป็นธรรมที่ตั้งไว้ชอบในกุศลกรรมบถ ๑๐” 

(เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น มีความเห็นถูกต้องตามความเป็นจริง)


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง เพราะแต่ละคำที่พระองค์ทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำที่ส่องให้เข้าใจถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ด้วยพระปัญญาอันเกิดจากการตรัสรู้ของพระองค์ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมไปตามลำดับ ก็จะเข้าใจว่า มีแต่ธรรมเท่านั้น ที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีเรา ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน แม้แต่การสะสมสิ่งที่ดี หรือ ไม่ดี ก็เป็นธรรมที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความเป็นจริงของจิตประการหนึ่ง คือ จิตเป็นสภาพธรรมที่สะสม ดังนั้น จิต จึงสะสมทั้งฝ่ายที่ดีและไม่ดี กล่าวคือสะสมทั้งกุศล และ อกุศล ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล เมื่ออกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ไม่ดี (อกุศล) ต่อไปอีกในจิตขณะต่อไป แม้ในทางฝ่ายกุศลก็เช่นเดียวกัน เมื่อกุศลจิตเกิดขึ้นแล้วดับไปก็สะสมสิ่งที่ดี (กุศล) ในจิตขณะต่อไป โดยไม่ปะปนกัน

ถ้าเป็นจิตที่ตั้งไว้ผิด คือ ตั้งไว้ในกุศลประการต่างๆ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ มีความโลภเพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น มีความพยาบาทปองร้ายผู้อื่น และ มีความเห็นผิด ก็เป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง หรือแม้แต่ในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ถ้าเพื่อความเก่ง เพื่อต้องการให้ผู้อื่นมายกย่องสรรเสริญ เพื่อลาภ สักการะ นั่นก็คือ เป็นจิตที่ตั้งไว้ผิด ด้วยอำนาจของอกุศลที่เกิดขึ้นเป็นไป กล่าวได้ว่า ขณะที่ติดข้องยินดีพอใจ ขณะที่โกรธ ขณะที่หลงไม่รู้ความจริง ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นทั้งหมด ก็ชื่อว่า ตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส มีแต่เพิ่มกิเลสให้หนาแน่นทับถมมากยิ่งขึ้น

จิตที่ตั้งไว้ผิด ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น มีแต่นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนโดยส่วนเดียว ข้าศึกศัตรูภายนอกที่เขาทำความเสียหาย ทำความเดือดร้อนให้แก่กันและกันประการต่างๆ หรือถึงกับทำให้สิ้นชีวิต ก็ทำได้เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น แต่จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมทำให้เขาเดือดร้อนยิ่งกว่านั้นอีก เพราะนอกจากจะให้ทำให้เดือดร้อนในปัจจุบันแล้ว เมื่อละจากโลกนี้ไปยังทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ มีนรก เป็นต้น เป็นทุกข์เดือดร้อนในโลกหน้าอีก จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง

ถ้าหากไม่ศึกษาพระธรรม ก็ไม่มีวันที่จะรู้จักกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่เห็นโทษเห็นภัย จึงไม่คิดจะละคลาย และไม่รู้ว่าอกุศลนั้นกำลังสะสมกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ จนยากที่จะแก้ไข หรือ ยากที่จะทำลายได้

จะเห็นได้จริงๆ ว่า ความไม่รู้ ความติดข้องในสิ่งต่างๆ ความโกรธความขุ่นเคืองใจ และ อกุศลประการอื่นๆ ในแสนโกฏิกัปป์มาแล้วจนถึงขณะนี้มีมากเท่าไหร่ แล้วก็จะค่อยๆ ลดคลายลงได้ ก็ด้วยปัญญาที่รู้ความจริงของสภาพธรรมตั้งแต่ขั้นการฟัง ยิ่งฟังก็ยิ่งจะรู้ว่า ต้องเป็นการอบรมความรู้ความเข้าใจให้ตรงให้ถูก เพื่อละความต้องการ ไม่ใช่เพื่อฟังแล้วยิ่งต้องการ ซึ่งถ้าเป็นไปด้วยความติดข้องต้องการ ขณะนั้นไม่ใช่ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเลย เพราะฉะนั้น การตั้งจิตไว้ชอบ หรือ เป็นจิตที่ตั้งไว้โดยชอบ ต้องด้วยปัญญาที่สะสมมาแล้วจากการฟังพระธรรม แล้วพิจารณาไตร่ตรองจนเข้าใจจริงๆ ว่า สภาพธรรมแม้ปรากฏก็เป็นสิ่งที่เห็นยาก เพราะลึกซึ้งอย่างยิ่งที่จะเห็นตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใดเลย แต่เป็นสิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่ง ลักษณะต่างๆ ที่ปรากฏแต่ละทาง คือ สิ่งที่ปรากฏทางตาก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง สิ่งที่ปรากฏทางหูก็อีกลักษณะหนึ่ง เป็นธรรมอีกอย่างหนึ่ง ตลอดไปจนถึงทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนกว่าจะรู้ทั่วจริงๆ ว่า เป็นธรรมทั้งหมด ละความไม่รู้ ละความต้องการ เป็นสิ่งที่ยากแสนยาก เมื่อเป็นเช่นนี้ เรื่องการที่จะประจักษ์สภาพธรรมได้เมื่อไหร่ อย่างไร มีวิธีอะไรบ้างที่จะทำให้รู้ได้เร็วด้วยความหวังความต้องการ นั้น แสดงว่า ผู้นั้นหลงทางตามโลภะ โดยไม่รู้ตัวเลย เพราะฉะนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดจะเกื้อกูลโดยตลอด เพื่อรู้แล้วละ ต้องรู้จึงจะละได้ ถ้าไม่รู้ก็ไม่ละ จึงเป็นเรื่องการฟังด้วยดี แล้วก็พิจารณาให้เข้าใจ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ยาก ละเอียดลึกซึ้ง แต่ก็ไม่เหลือวิสัยที่จะเข้าใจได้ เพราะเหตุว่าเมื่ออาศัยการฟังบ่อยๆ ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ก็จะทำให้ค่อยๆ ขัดเกลาละคลายความไม่รู้ลงไปทีละเล็กทีละน้อยได้

การได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง มีประโยชน์มากมายมหาศาล สามารถเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้มีความเห็นผิด มีความไม่รู้ ตลอดจนถึงอกุศลประการต่างๆ ที่เคยสะสมมาอย่างมากและเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ให้เป็นผู้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง มีกุศลธรรมประการต่างๆ เกิดขึ้นเจริญขึ้น ขัดเกลาละคลายสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้น การได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สามารถเปลี่ยนจากความเป็นผู้มากไปด้วยอกุศลให้เป็นกุศลยิ่งขึ้นได้ ซึ่งเป็นจิตที่ตั้งไว้โดยชอบ โดยที่ไม่ใช่ตัวตนที่ไปตั้ง แต่เป็นความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม คือ จิต และ เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) น้อมไปในทางฝ่ายกุศลมากยิ่งขึ้น ตามระดับของความเข้าใจถูกเห็นถูกที่ค่อยๆ เจริญขึ้นนั่นเอง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ