[คำที่ ๔๒๔] กตฺตพฺพ

 
Sudhipong.U
วันที่  10 ต.ค. 2562
หมายเลข  32544
อ่าน  423

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ กตฺตพฺพ

คำว่า กตฺตพฺพ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า กัด - ตับ – พะ] มาจากคำว่า กร (ทำ) [ลบที่สุดธาตุ ซ้อน ตฺ] ลง ตพฺพ ปัจจัย ในความหมายว่า พึง,ควร จึงรวมกันเป็น กตฺตพฺพ แปลว่า สิ่งที่ควรทำ มีความหมายที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง คุณความดีทั้งหลายทั้งปวงเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่ควรทำ ควรสะสม

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก แสดงความประพฤติเป็นไปในทางที่ถูกที่ควร ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นอันเป็นการทำสิ่งที่ควรทำ ซึ่งในขณะที่ทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น นั้น ประโยชน์ของตนเอง คือ กุศลธรรม ก็เจริญขึ้น เป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว ดังนี้ ว่า

“อนึ่ง เมื่อควรทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ อันสมควร (แก่ฐานะ) ของตน แก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ถึงความเป็นสหาย (คือ เป็นมิตรพร้อมที่จะช่วยเหลือ) อนึ่ง เมื่อทุกข์ มีความเจ็บป่วยเป็นต้น เกิดขึ้นแก่สัตว์ทั้งหลาย ก็เป็นผู้จัดการช่วยเหลือตามสมควร เมื่อสัตว์ทั้งหลาย ตกอยู่ในความเสื่อม มีความเสื่อมจากญาติและเสื่อมจากสมบัติเป็นต้น ก็ช่วยบรรเทาความเศร้าโศก เป็นผู้ตั้งอยู่ในสภาพที่จะช่วยเหลือ ข่มผู้ที่ควรข่มโดยถูกธรรม เพื่อให้พ้นจากอกุศลแล้วตั้งอยู่ในกุศล


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุด ประเสริฐที่สุด เจริญที่สุดในโลก ไม่มีใครเสมอเหมือน พระบารมีคุณความดีทั้งหมดที่พระองค์ได้ทรงสะสมอบรมมาตั้งแต่เมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกอย่างแท้จริง เมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ทรงมีพระมหากรุณาต่อสัตว์โลก จึงทรงแสดงพระธรรม ประกาศความจริง เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพื่อให้มีความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริง ตามความเป็นจริง ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลกโดยตลอด มีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งมนุษย์ เทวดา และพรหมบุคคล

การที่แต่ละบุคคลจะรู้ธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการสะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะต้องฟัง พิจารณาไตร่ตรองบ่อยๆ เนืองๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องยิ่งขึ้น และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษานั้น ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละหนึ่งๆ ซึ่งไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และ ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ได้สอนให้ใครเกียจคร้าน ชีวิตความเป็นอยู่ที่จะต้องดำเนินไป ก็จะต้องมีกิจประจำวันมากมายหลายอย่าง เช่น บุตรธิดาก็มีกิจที่จะต้องบำรุงดูแลและช่วยเหลือมารดาบิดา เป็นต้น ซึ่งควรที่จะต้องเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้าน ก็ไม่สามารถจะเกิดกุศลจิตที่จะทำกิจที่สมควรนั้นได้เลย

ตามความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกิจใหญ่น้อยประการใดก็ตามควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น แต่ถ้าไม่ทำ ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ที่ไม่ทำในขณะนั้น เพราะอะไร? ก็เพราะอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำให้เป็นคนเกียจคร้านที่จะทำกุศล เพราะฉะนั้น คนขยัน โดยเฉพาะขยันที่จะช่วยสงเคราะห์คนอื่น ก็ย่อมจะทำไปด้วยกุศล ด้วยสภาพจิตที่ดีงาม แต่คนที่ไม่ทำสิ่งที่ควรทำ ไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือใคร ในขณะนั้นจะไม่รู้เลยว่า อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำ ทำให้เป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว มีความสำคัญในตน ลืมคิดถึงบุคคลอื่น แม้แต่การที่จะสงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลต่างๆ เหล่านั้น ก็ไม่เห็น หรืออาจจะเข้าใจผิดคิดว่า ไม่เป็นการสมควรที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์คนอื่น อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ผิดจริงๆ ส่วนกุศลธรรมทั้งหลายเป็นธรรมที่ตั้งจิตไว้ชอบ โดยที่ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ขณะที่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น กุศลธรรม เกิดขึ้นตั้งจิตไว้ชอบ คือ สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่น ทำในสิ่งที่ควรทำ แต่ถ้าความสำคัญตนเกิดขึ้น ก็ตั้งจิตไว้ผิด คือ ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำกิจอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อบุคคลอื่น นั่นอกุศลธรรมเกิดขึ้นตั้งจิตไว้ผิด ไม่ได้ตั้งจิตไว้ชอบเลย แต่ถ้าเป็นกุศลธรรมแล้วก็ตั้งจิตไว้ชอบจริงๆ ไม่ว่ากับใคร ช่วยเหลือเสมอกันหมด ไม่ได้ทำไปด้วยความหวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น

ที่เป็นบุคคลนั้น บุคคลนี้ ที่มีความประพฤติเป็นไปแตกต่างกัน แท้ที่จริงแล้ว ก็คือ สภาพธรรมแต่ละลักษณะซึ่งสะสมมาเป็นปัจจัยทำให้ขณะนั้นสภาพของจิตเป็นอย่างไร ถ้าสะสมอกุศลธรรมมามาก ก็ตั้งจิตคือปรุงแต่งจิตในขณะนั้นให้เกิดขึ้นเป็นไปในทางอกุศล ถ้าสะสมกุศลธรรมมามาก เห็นคุณของความดี กุศลธรรมทั้งหลายก็เป็นปัจจัยปรุงแต่งให้จิตนั้นเกิดขึ้นเป็นไปในทางกุศล

ดังนั้น พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไม่ได้สอนให้บุคคลเป็นผู้เกียจคร้าน เพราะเหตุว่าผู้ที่เกียจคร้านจะไม่ทำความดี จะไม่สงเคราะห์ช่วยเหลือบุคคลอื่นเลย จะไม่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นการเกื้อกูลให้บุคคลทั้งหลายเจริญกุศลทุกประการ แม้แต่การที่จะเป็นผู้ที่ขยันในการที่จะช่วยเหลือสงเคราะห์บุคคลอื่น เช่น ในคราวที่ผู้อื่นประสบกับภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการที่จะได้ขัดเกลาละคลายกิเลสของตนเองด้วย เพราะเหตุว่ากิเลสมีมาก ถ้ากุศลจิตไม่เกิด ไม่น้อมไปในการเจริญกุศลโดยลักษณะหนึ่งลักษณะใด ก็เป็นการพอกพูนอกุศลแล้ว เพราะฉะนั้น อกุศลก็จะต้องมีมาก ถ้าเป็นผู้ที่เกียจคร้านในการที่จะเจริญกุศลทุกประการ

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลต่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ขัดเกลากิเลสของแต่ละบุคคล ไม่มีคำสอนแม้แต่บทเดียวที่จะส่งเสริมให้เกิดอกุศลเลยแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟัง ได้ศึกษาและน้อมประพฤติปฏิบัติตามอย่างแท้จริง เพราะถึงอย่างไรแล้วเกิดมาแล้ว ก็ต้องจากโลกนี้ไปแน่นอน ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้ แต่ว่าขอให้ได้เป็นคนดีและได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง สะสมปัญญา คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น เห็นคุณของความดี น้อมไปในการทำสิ่งที่ดีอยู่เสมอๆ ซึ่งเป็นการทำสิ่งที่ควรทำ เป็นประโยชน์สำหรับชีวิตอย่างแท้จริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ