[คำที่ ๔๒๘] โสเจยฺย
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “โสเจยฺย”
คำว่า โสเจยฺย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า โส - ไจ - ยะ] แปลว่า ความสะอาด มีความหมายที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะแสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และ ทางใจ บุคคลผู้ที่มีความสะอาด ปราศจากสิ่งที่ไม่สะอาดคืออกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงอย่างหมดสิ้นนั้น ได้แก่ พระอรหันต์
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โสเจยยสูตร แสดงความสะอาด ๓ อย่าง ไว้ดังนี้ ว่า
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย โสเจยยะ (ความสะอาด) ๓ นี้ โสเจยยะ ๓ คือ อะไรบ้าง คือ กายโสเจยยะ (ความสะอาดทางกาย ได้แก่ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติผิดในกาม) วจีโสเจยยะ (ความสะอาดทางวาจา ได้แก่ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ เว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ) มโนโสเจยยะ (ความสะอาดทางใจ ได้แก่ ไม่เพ่งเล็งอยากได้ของของผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และมีความเห็นชอบ) ”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำสอนที่น่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่มีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาอย่างแท้จริง เป็นคำสอนของบุคคลผู้ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาสี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ธรรมตามความเป็นจริง และไม่ใช่เพียงเพื่อตรัสรู้เฉพาะพระองค์เพียงพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ทรงมีพระมหากรุณาที่จะทรงแสดงพระธรรมเกื้อกูลให้สัตว์โลกได้เข้าใจความจริงตามพระองค์ด้วย คำสอนของพระองค์เป็นคำจริงที่ใครๆ ก็คัดค้านไม่ได้ ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดปัญญาเป็นของตนเอง เป็นคำสอนที่เปิดเผยความจริงที่ถูกปกปิดไว้ด้วยความเห็นผิดและความไม่รู้นานแสนนาน เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตรงตามความเป็นจริง
ธรรม หมายถึง สิ่งที่มีจริงทั้งหมด เมื่อกล่าวถึงธรรมในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่พ้นไปจากจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลย) แต่ละบุคคลที่เกิดมามีชีวิตดำเนินไปในแต่ละวันๆ นั้น ก็เป็นธรรมทุกขณะ เพราะมีธรรมเหล่านี้ คือ มีจิต มีเจตสิก และ มีรูป เกิดขึ้นเป็นไป จึงหมายรู้ได้ว่าเป็นคนนั้น คนนี้ มีพฤติกรรมอย่างนั้น อย่างนี้
ตามความเป็นจริงแล้ว แต่ละบุคคลที่จะเป็นผู้ที่สะอาด หรือ ไม่สะอาด ไม่ได้อยู่ที่รูปลักษณ์ภายนอก ไม่ได้อยู่ที่ฐานะ ทรัพย์สมบัติ ตระกูล หรือ ยศถาบรรดาศักดิ์ แต่อยู่ที่สภาพจิต เพราะเหตุว่าเมื่อเป็นกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ชื่อว่า สะอาด เพราะขณะนั้นอกุศลหรือความชั่วซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สะอาดเกิดขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อจิต เป็นอกุศลจิต ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ก็ชื่อว่าไม่สะอาด จะถือเอารูปลักษณ์ภายนอกเป็นประมาณไม่ได้เลย นี้คือ ความเป็นจริงตามพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ดังนั้น จิต จึงมีความสำคัญมาก ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นกุศลจิต หรือ อกุศลจิต เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามการสะสมมาของแต่ละบุคคลจริงๆ โดยที่ไม่เหมือนกันเลย จะเห็นได้ว่าการที่บุคคลมีพฤติกรรมที่ต่างๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นกุศลหรือ อกุศล ก็สำเร็จเพราะจิตทั้งนั้น กล่าวคือ เมื่อจิตเป็นกุศล ก็น้อมไปในสิ่งที่ดี ทำในสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่น ไม่มีโทษเกิดจากจิตที่เป็นกุศลเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม ถ้าจิตเป็นอกุศล ย่อมเป็นเหตุให้ทำในสิ่งที่ไม่ดี นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนมากมาย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น คือ ธรรมนั่นเองที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่มีสัตว์บุคคลตัวตนเลย
เมื่อได้ศึกษาพระธรรม ก็จะค่อยๆ เข้าใจว่า ส่วนใหญ่แล้วชีวิตประจำวันจะเป็นไปกับอกุศลธรรมมากมายทีเดียว ด้วยโลภะ (ความติดข้อง) บ้าง โทสะ (ความโกรธ,ความขุ่นเคืองใจ) บ้าง เป็นต้น ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล (คือเว้นในสิ่งที่ควรเว้นและประพฤติในสิ่งที่ควรประพฤติ) และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ ถูกปรุงแต่งด้วยโลภะ บ้าง โทสะ บ้าง เป็นต้น และทุกขณะที่จิตเป็นอกุศล ไม่ปราศจากความไม่รู้หรืออวิชชาเลย ความไม่สะอาดเกิดแล้วในขณะนั้น ในชีวิตประจำวัน ความสะอาดคือขณะที่จิตเป็นกุศลนั้นมีน้อยมาก
อกุศลธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่สะอาด ก็มีจริงๆ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลธรรมที่เคยได้สะสมมาก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ขณะโกรธ ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ เกิดแล้วตามเหตุปัจจัย ใครๆ ก็บังคับบัญชาไม่ได้ และ ถ้าโกรธมาก มีกำลังมากขึ้น ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมความโกรธมาแล้ว, เวลาโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะกิจหน้าที่ของโลภะ คือ ติดข้องต้องการ ถ้าไม่ได้ในทางที่ชอบ ก็แสวงหาในทางที่ผิด เบียดเบียนผู้อื่นได้ ตามกำลังของความติดข้องต้องการ เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะคือความไม่พอใจ ตามมาอีก เป็นทุกข์เดือดร้อนเพราะโลภะโดยตลอด ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย โดยมีรากลึก คือ ความไม่รู้ เพราะเหตุว่าอกุศลธรรมทั้งหลาย เกิดเพราะความไม่รู้ สำหรับความไม่สะอาดที่ชั่วร้ายที่สุด และมีโทษมากคือความเห็นผิด สามารถทำลายสิ่งที่ประเสริฐที่สุดคือพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ เพราะคิดธรรมเอง ประมาทคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็นำมาซึ่งความเสื่อมอย่างหนัก เป็นโทษในโลกนี้และสะสมเป็นโทษในชาติต่อๆ ไปอีก
สิ่งที่จะเป็นเครื่องเกื้อกูลที่ดีที่สุดในชีวิต ที่จะทำให้ค่อยๆ สะอาดปราศจากสิ่งที่ไม่สะอาด ขัดเกลาไปทีละเล็กทีละน้อย ก็คือ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ชีวิตของผู้ที่ได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา ย่อมจะเห็นคุณค่าของพระธรรม เคารพบูชาพระรัตนตรัยอย่างสูงสุด ถึงแม้ว่าจะยังไม่ได้ดับกิเลสอะไรๆ เลย อกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดา แต่ก็มีปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เข้าใจในความเป็นจริงของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ว่าเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเป็นไปแล้วก็ดับไป พร้อมทั้งเห็นโทษของอกุศลที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แล้วมีความละอายมีความเกรงกลัวที่จะถอยกลับจากอกุศล
ขัดเกลาให้เบาบางลง เพราะอกุศลของใคร ใครก็ขัดเกลาให้ไม่ได้ นอกจากความเข้าใจพระธรรมเท่านั้นจริงๆ และถ้าหากไม่เริ่มขัดเขลาในวันนี้ ไม่เริ่มเป็นผู้ตรงตั้งแต่ในวันนี้ นับวันก็ยิ่งจะพอกพูนอกุศลทับถมหมักหมมมากขึ้นซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอนก็ตาม ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีอยู่เสมอ เตือนให้เป็นผู้ไม่ประมาทในชีวิต และ เป็นประโยชน์ทุกกาลสมัย ด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ได้ฟังได้ศึกษาเท่านั้น บุคคลผู้เห็นประโยชน์ของกุศลธรรม และ เห็นโทษของอกุศลธรรม โดยอาศัยการฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจไปตามลำดับ จิตใจย่อมน้อมไปในทางกุศลขัดเกลากิเลสในชีวิตประจำวันเพิ่มมากยิ่งขึ้น คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น ทำให้เป็นคนที่สะอาดขึ้นด้วยกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ มีปัญญาซึ่งเป็นสภาพธรรมที่สะอาดที่สุดที่สามารถละคลายการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคล จนถึงการดับสิ่งที่ไม่สะอาดทั้งหมดได้ในที่สุด ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ