[คำที่ ๔๓๓] ผาสุขวิหาร

 
Sudhipong.U
วันที่  12 ธ.ค. 2562
หมายเลข  32553
อ่าน  479

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ ผาสุกวิหาร --- อยู่อย่างผาสุก”

คำว่า ผาสุกวิหาร เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ผา – สุ - กะ – วิ - หา - ระ] มาจากคำว่า ผาสุก (ผาสุก, เป็นสุข) กับคำว่า วิหาร (อยู่, เป็นอยู่) รวมกันเป็น ผาสุกวิหาร แปลว่า อยู่อย่างผาสุก, อยู่เป็นสุข มีความละเอียดอย่างยิ่งโดยเฉพาะในความหมายที่มุ่งหมายถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายดี คือ กุศลธรรม และธรรมฝ่ายดีที่ประเสริฐที่สุด คือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีทั้งหลายเจริญขึ้น ทำให้เป็นผู้อยู่อย่างผาสุก อยู่อย่างเป็นสุข ไม่เดือดร้อนด้วยอำนาจของกิเลสทั้งหลาย จะเห็นได้เลยว่า ปัญหาหรือความทุกข์ความเดือดร้อน ความอยู่ไม่ผาสุก นั้น มาจากใจซึ่งเต็มไปด้วยกิเลส และถ้ายังคงมีกิเลสมากๆ ไม่มีทางที่จะอยู่อย่างผาสุกได้เลย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงตรัสรู้ความจริง พระองค์ทรงรู้ว่ากิเลสเบาบางลงเท่าไหร่ ความผาสุก ความเจริญ ก็จะมีเพิ่มขึ้นเท่านั้น เมื่อธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ขัดเกลาความไม่ดี ย่อมทำให้ผู้นั้นอยู่อย่างผาสุก ไม่เดือดร้อนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า เพราะธรรมฝ่ายดีทั้งหมด ไม่นำมาซึ่งความทุกข์ความเดือดร้อนเลยแม้แต่น้อย ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อตปนียสูตร ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ได้ทำความดีงามไว้ ทำกุศลไว้ ได้ทำบุญอันเป็นเครื่องต่อต้านความขลาดกลัวไว้ ไม่ได้ทำบาป ไม่ได้ทำอกุศลกรรมอันหยาบช้า ไม่ได้ทำอกุศลกรรมอันกล้าแข็ง บุคคลนั้น ย่อมไม่เดือดร้อนว่า เราได้ทำกรรมอันดีงาม ดังนี้ บ้าง ย่อมไม่เดือดร้อนว่า เราไม่ได้ทำบาป ดังนี้ บ้าง”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง อนุเคราะห์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ซึ่งความจริง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็คัดค้านไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่สามารถดับเหตุให้มีการเกิด คือ โลภะ (ความติดข้อง) อวิชชา (ความไม่รู้) ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป เกิดเป็นสัตว์โลกในภพภูมิต่างๆ แม้การเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นการเกิดในภพภูมิหนึ่ง ซึ่งเป็นสุคติภูมิ มนุษย์แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) และเพราะยังมีกิเลสที่สะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ติดข้องบ้าง ไม่พอใจบ้าง สำคัญตนยกตนบ้าง เป็นต้น และถ้าสะสมมากขึ้นมีกำลังมากขึ้น ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นได้ และในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่แล้วอกุศลจะเกิดขึ้นเป็นไป ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน ไม่ได้เป็นไปในศีล เช่น งดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ เป็นต้น และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ขณะที่อกุศลเกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่ความเป็นผู้อยู่อย่างผาสุกเลย เพราะขณะนั้นยังเต็มไปด้วยกิเลส กิเลสนั่นเองที่เบียดเบียนทำร้ายจิตของผู้นั้น ทำให้เป็นผู้อยู่เป็นทุกข์เพราะโลภะ เป็นทุกข์เพราะโทสะ เป็นทุกข์เพราะโมหะ เป็นทุกข์เพราะความเห็นผิด เป็นทุกข์เพราะกิเลสประการต่างๆ อาจจะติดข้องมากๆ ถึงขั้นทำทุจริตลักขโมยทรัพย์สินของผู้อื่น ก็ได้ อาจจะโกรธมากๆ ถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือ ถึงกับฆ่าผู้อื่น ก็ได้ อาจจะมีเห็นผิดแล้วมีความประพฤติเป็นไปตามความเห็นที่ผิด สอนผู้อื่นในสิ่งผิดๆ ให้ผู้อื่นออกจากคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้ เป็นผู้วิ่งพล่านไปด้วยอำนาจของกิเลสทั้งหลาย และสำหรับกิเลสที่มีกำลังถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรม นั้น ผลที่จะเกิดขึ้น ก็จะต้องเป็นผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนา ไม่น่าพอใจโดยส่วนเดียว และผลจะไปเกิดกับคนอื่นไม่ได้ ก็ต้องเกิดกับตนเองเท่านั้น เพราะตนเองเป็นผู้ทำในสิ่งที่ไม่ดี กล่าวได้เลยว่า เป็นโทษทันทีที่ทำสิ่งที่ไม่ดีลงไป และสิ่งที่ไม่ดีที่ทำไปนั้น สามารถให้ผลนำเกิดในอบายภูมิได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรจึงจะเป็นเหตุทำให้เป็นผู้อยู่อย่างผาสุกตามพระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จะเห็นได้ว่า พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก สามารถขัดเกลาละคลายกิเลส จนกระทั่งสามารถดับได้ตามลำดับขั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญานี้เอง ที่จะเป็นไปเพื่อความผาสุก อยู่อย่างเป็นสุขที่เกิดจากกุศลธรรม ความดีประการต่างๆ และ ปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้น เพราะกุศลธรรมและปัญญา ไม่นำความทุกข์ความเดือดร้อนมาให้แก่ใครเลยแม้แต่น้อย

ที่น่าพิจารณา คือ แต่ละบุคคลล้วนเป็นผู้มากไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเราหรือเป็นบุคคลอื่น ถ้าไม่ฟังพระธรรม ไม่ศึกษาพระธรรม ย่อมไม่เห็นกิเลสตามความเป็นจริงว่าให้ทุกข์ให้โทษอย่างไร และไม่มีทางที่จะขัดเกลาละคลายได้เลย มีแต่จะพอกพูนสะสมกิเลสมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นผู้เห็นโทษของกิเลสและเห็นประโยชน์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ย่อมมีทางที่จะทำให้เป็นผู้อยู่อย่างผาสุกในชีวิตประจำวัน อันเนื่องมาจากเป็นผู้มีกิเลสที่เบาบางลง นั่นเอง

ชีวิตของแต่ละคนจะเหลืออีกเท่าใด ไม่มีใครสามารถที่จะทราบได้ เพราะฉะนั้น จะอยู่อย่างไรซึ่งเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างประเสริฐที่สุด อยู่อย่างผาสุกจริงๆ คือ อยู่เพื่อเข้าใจธรรม เข้าใจความจริงตรงตามความเป็นจริง แต่ละคนควรรู้จักตัวเองตามความเป็นจริง และเป็นผู้ไม่ประมาทที่จะรู้ว่าความไม่รู้มีมาก จึงทำให้มีอกุศลมาก และปัญญาก็มีน้อยมาก ซึ่งจะต้องได้อาศัยคำจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการตั้งใจฟัง ตั้งใจศึกษาด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย และอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานอย่างยิ่งในการสะสมอบรมเจริญปัญญา ด้วยความเพียร อดทน ไม่ท้อถอย.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 26 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ