[คำที่ ๔๓๗] นตุมฺหาก
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “นตุมฺหาก”
คำว่า นตุมฺหาก เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า นะ - ตุม - หา - กะ] มาจากคำว่า น (ไม่ใช่) กับคำว่า ตุมฺหาก (ของเธอทั้งหลาย) รวมกันเป็น นตุมฺหาก แปลว่า ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล ว่างเปล่าจากการเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง เมื่อเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วดับไป แล้วจะเป็นของใครได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ที่กล่าวว่า ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย นั้น เป็นพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระภิกษุทั้งหลาย เพื่อทรงแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือ ขันธ์ทั้ง ๕ นั่นเอง ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ย่อมไม่มีอะไรที่จะเป็นของใครได้เลย เพราะเป็นแต่เพียงสภาพธรรมที่เกิดแล้วก็ดับไปเท่านั้น จึงควรที่จะได้ศึกษาเพื่อความเข้าใจความจริงอย่างถูกต้องมั่นคง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อการละคลายความติดข้องการยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ เหล่านั้นได้ในที่สุด
ข้อความในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค นตุมหากสูตร แสดงความจริงว่าอะไรที่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ของใครๆ เลย ดังนี้
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใด ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละสิ่งนั้นเสีย สิ่งนั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ก็อะไร ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย? รูป ไม่ใช่ของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลาย จงละรูปนั้นเสีย รูปนั้น อันเธอทั้งหลายละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข” (เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็โดยนัยเดียวกัน)
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัป ก็เพื่อที่จะทรงตรัสรู้ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีใครเป็นครูเป็นอาจารย์ เมื่อพระองค์ได้ทรงตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาแสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจถูกเห็นถูกตามพระองค์ ซึ่งมีผู้ที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมากมายนับไม่ถ้วน ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ ทรงให้ประโยชน์กับสัตว์โลกจากแต่ละคำๆ ที่พระองค์ทรงแสดง ให้เกิดปัญญาเป็นของตนเอง ถึงแม้ว่าบุคคลผู้นั้นจะอยู่แสนไกลหรือแม้กระทั่งช่วงเวลาใกล้ที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ไม่ทรงละเว้นโอกาสที่จะให้คนอื่นได้รับสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แก่เขาต่อไป
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เกื้อกูลให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง สิ่งที่มีจริงเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น เปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ พระองค์ทรงแสดง ว่า ทุกขณะ คือ สิ่งที่มีจริงที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน และไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครด้วย ไม่มีใครสามารถทำอะไรให้เกิดขึ้นได้เลย เช่น ความโกรธ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความติดข้องยินดีพอใจ เกิดเพราะเหตุปัจจัย ศรัทธา ความผ่องใสแห่งจิต เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความละอายต่อบาป เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความเข้าใจถูกเห็นถูก เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความจำ เกิดเพราะเหตุปัจจัย จิตแต่ละขณะ เกิดเพราะเหตุปัจจัย รูปแต่ละรูป เป็นแต่ละหนึ่ง เกิดเพราะเหตุปัจจัย เป็นต้น ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อประมวลแล้ว ชีวิต ก็มีสภาพธรรม ๒ อย่าง เท่านั้น คือ นามธรรม และ รูปธรรม
สภาพธรรม ๒ อย่าง คือ นามธรรม และ รูปธรรม นั้น ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลหรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างแท้จริง ตรงกับความหมายของขันธ์ นั่นเอง ทุกขณะไม่พ้นจากขันธ์ ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไปไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน เป็นสภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจริงๆ เพราะจากไม่มี แล้วเกิดมีเพราะเหตุปัจจัย แล้วก็ไม่มี เพราะต้องดับไป นี้คือ ความเป็นจริง ที่จะเป็นประโยชน์แล้ว ความเข้าใจมาก่อน ชื่อมาทีหลัง เพราะจริงๆ แล้ว ขันธ์ มีจริงๆ และมีจริงในชีวิตประจำวันในขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมใด ก็ไม่พ้นจากขันธ์ เลย ไม่ว่าจะเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย คิดนึก กุศล อกุศล เป็นต้น ล้วนมีจริงๆ เกิดแล้วดับไป ทั้งหมด เป็นขันธ์
ขันธ์ เมื่อกล่าวโดยประเภทแล้ว มี ๕ ได้แก่ รูปขันธ์ (รูปทั้งหมด) ๑ เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) ๑ สัญญาขันธ์ (ความจำ) ๑ สังขารขันธ์ (เจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต ๕๐ ประเภท มี ผัสสะ เป็นต้น) ๑ วิญญาณขันธ์ (จิตทุกประเภท) ๑ เมื่อกล่าวถึง ขันธ์ ไม่ใช่ให้จำในจำนวน แต่ให้เริ่มเข้าใจอย่างถูกต้อง ว่า ต้องมีจริง เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย สิ่งใดก็ตามที่มีจริงที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ทั้งหมด เป็นขันธ์ ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงๆ ทางตา สิ่งที่ปรากฏทางตาเกิดแล้วปรากฏ เมื่อมีสภาพรู้กำลังเห็นสิ่งนั้น จึงปรากฏว่าสิ่งนั้นมีจริงๆ แล้วก็ดับไป ไม่กลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น สิ่งที่กำลังปรากฏทางตา ต้องเกิดแน่นอนเพราะปรากฏว่ามีจริงๆ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป และ เห็น ก็มีจริงๆ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป จึงประมวลได้ว่า ในขณะที่เห็น มีอะไรบ้างที่เป็นขันธ์ กล่าวคือ สิ่งที่ปรากฏทางตา เป็นรูปขันธ์ และ เห็น ก็เป็นขันธ์ คือ เป็นวิญญาณขันธ์ และในขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วย ได้แก่ สัญญาเจตสิกเป็นสัญญาขันธ์ เวทนาเจตสิกเป็นเวทนาขันธ์ เจตสิกอีก ๕ ประเภทที่เกิดร่วมกับจิตเห็น คือ ผัสสะ (สภาพที่กระทบอารมณ์) เจตนา (สภาพที่จงใจขวนขวายให้สภาพธรรมที่เกิดร่วมกันทำกิจหน้าที่) เอกัคคตา (สภาพที่ตั้งมั่นในอารมณ์) ชีวิตินทรีย์ (สภาพที่เกิดขึ้นทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยดำรงอยู่จนกว่าจะดับไป) และ มนสิการ (สภาพที่ใส่ใจในอารมณ์) ก็เป็นสังขารขันธ์ ล้วนเป็นสภาพธรรมที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป นี้คือ การยกตัวอย่างให้เข้าใจถึงความเป็นขันธ์ ซึ่งขณะนี้แต่ละขณะไม่พ้นจากขันธ์เลย ธรรมมีมากทีเดียว จึงต้องค่อยๆ ฟังค่อยๆ ศึกษาเพื่อความเข้าใจถูกยิ่งขึ้นต่อไป ตราบใดที่ยังเห็นประโยชน์ ฟังต่อไป ศึกษาต่อไป ไม่ขาดการฟังการศึกษาให้เวลากับสิ่งที่มีค่าที่สุด ความเข้าใจถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้น มั่นคงขึ้น ไม่ว่าจะฟังจะศึกษาพระธรรมในส่วนใดก็ตาม รวมถึงเรื่องขันธ์ ด้วย ก็เป็นการค่อยๆ ปลูกฝังให้เกิดความเข้าใจอย่างมั่นคงว่า ตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นขันธ์ เป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ทั้งหมด ไม่มีเราเลย และ ไม่มีอะไรที่เป็นของใครๆ ด้วย
ดังนั้น การตั้งต้นในการฟังในการศึกษาให้เข้าใจว่า ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงแต่ละหนึ่งๆ ย่อมเป็นประโยชน์เกื้อกูลตั้งแต่ต้น เป็นรากฐานที่สำคัญ เมื่อได้ฟังได้ศึกษาต่อไปด้วยความเป็นผู้เห็นประโยชน์ ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ความเข้าใจถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ และที่สำคัญ แต่ละขณะ นั้น ส่องลึกลงไปถึงความเป็นจริงของธรรมที่ไม่ใช่เรา ไม่ใช่สิ่งหนึ่งสิ่งใด จึงไม่ควรแก่การยินดีติดข้องยึดถือโดยประการใดๆ เลย.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ