[คำที่ ๔๔๑] มต

 
Sudhipong.U
วันที่  6 ก.พ. 2563
หมายเลข  32561
อ่าน  512

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ มต

คำว่า มต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า มะ - ตะ] แปลว่า ตายแล้ว (มีรากศัพท์มาจาก มร ธาตุ มีความหมายว่า ตาย) เป็นคำที่กล่าวถึงขณะสุดท้ายของชีวิตในชาตินี้ คือ จุติจิตเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่เคลื่อนพ้นจากสภาพความเป็นบุคคลนี้ ไม่สามารถย้อนกลับมาเป็นบุคคลนี้ได้อีก เป็นการตายในชาติหนึ่ง จึงรู้ได้ว่า เป็นคนนั้น คนนี้ตาย ซึ่งแท้ที่จริงแล้วไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตนเลย มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต สัลลสูตร แสดงถึงความเป็นจริงของชีวิต ว่า เมื่อเกิดมาแล้ว ต้องตาย ดังนี้

“ภาชนะดินที่นายช่างทำแล้วทุกชนิดมีความแตกเป็นที่สุด แม้ฉันใด ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนเขลา ทั้งคนฉลาด ล้วนไปสู่อำนาจของความตาย มีความตายเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ด้วยกันทั้งหมด”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตที่ในแต่ละชาติจะต้องสิ้นสุดที่ความตาย จะเป็นบุคคลผู้ตายไปแล้วอย่างแน่นอน แต่ก่อนที่วันนั้นจะมาถึง ควรที่จะทำอะไรจึงจะเป็นประโยชน์ ดังนี้

บุตรทั้งหลาย ไม่มีเพื่อต้านทาน, บิดา ก็ไม่มีเพื่อต้านทาน ถึงพวกพ้อง ก็ไม่มีเพื่อต้านทาน, เมื่อบุคคลถูกความตาย ครอบงำแล้ว ความต้านทานในญาติทั้งหลาย ย่อมไม่มี; บัณฑิตทราบอำนาจประโยชน์ นั้นแล้ว พึงสำรวมในศีล ชำระทางไปพระนิพพานโดยเร็วทีเดียว


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของคำสอน ก็ล้วนเป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์ เป็นคำเกื้อกูล และเป็นเครื่องเตือนที่ดีในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษามีความเข้าใจถูกเห็นถูก มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต จนกระทั่งสูงสุด เพื่อความเป็นผู้หมดจดจากกิเลส ดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้น

ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับกิเลสทั้งปวงจนหมดสิ้น การเวียนว่ายตายเกิด ย่อมมีอยู่ตราบนั้น ไม่เป็นสุคติภูมิ ก็เป็นทุคติภูมิ ตามกรรมของแต่ละบุคคล กล่าวคือ ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์หรือเกิดเป็นเทวดา ในทางตรงกันข้าม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรมก็ทำให้ไปเกิดในอบายภูมิ เป็นสัตว์นรกบ้าง เป็นเปรตบ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นสัตว์ดิรัจฉานบ้าง ตามควรแก่กรรมของแต่ละบุคคลที่ได้กระทำมา

การเกิดในภพหนึ่งชาติหนึ่งนั้น สั้นมาก ไม่ยั่งยืนเลย ความเกิดยังเป็นไปตราบใด ความตาย ก็ย่อมมีอยู่ตราบนั้น แม้จะเกิดเป็นเทวดามีความสุข สะดวกสบายทุกอย่าง แต่ถึงอย่างไรแล้ว ในที่สุดก็จะต้องเคลื่อนจากความเป็นเทวดา แม้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เป็นเช่นเดียวกัน เกิดมาในแต่ภพแต่ละชาติ ก็ต้องสิ้นสุดที่ความตายทั้งนั้น เกิดแล้วก็ต้องจะจากโลกนี้ไปด้วยกันทั้งนั้น แล้วยังต้องเกิดอีก ยังต้องเดินทางต่อไปในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดอยู่ร่ำไป ตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรม นั่นเอง ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมแต่ละหนึ่งๆ เท่านั้น

แต่ละบุคคลที่เกิดมา ล้วนมีความตายเป็นที่สุดด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหลีกพ้นได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น บุคคลผู้ไม่ระลึกถึงความตายว่าตนเองจักต้องตายแน่นอน ก็เป็นผู้ที่ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่เจริญกุศลทุกประการอันจะเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง เมื่อถึงคราวใกล้ตาย ย่อมเกิดความกลัวหวาดหวั่น เพราะที่ผ่านมากระทำแต่กุศลกรรม ไม่ได้สร้างกุศลไว้ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ภพต่อไปย่อมไม่พ้นไปจากอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานเดือดร้อนนานาประการ เป็นผู้ตายไปอย่างไม่มีที่พึ่ง กล่าวได้ว่าเดือนร้อนในโลกนี้ยังไม่พอยังจะต้องเดือนร้อนในโลกหน้า อีกด้วย

ในเรื่องของการไม่ระลึกถึงความตาย และ ระลึกถึงความตายนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปรียบด้วยข้ออุปมาที่เห็นได้ชัด คือ คนที่ประมาทมัวเมาในชีวิต ไม่ระลึกถึงความตายอันจะเป็นเครื่องเตือนให้กระทำความดีประการต่างๆ นั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีเครื่องป้องกัน เปรียบเหมือนกับผู้ที่เห็นอสรพิษเมื่อจวนตัวแล้ว (คืออยู่ใกล้ตัวแล้ว) หมดทางป้องกันมีแต่จะถูกอสรพิษกัดทำร้ายอย่างเดียว ผู้ประมาทมัวเมาในชีวิต ก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่ระลึกถึงความตายอยู่เสมอว่าเราจะต้องตายแน่แท้ อาจจะเป็นขณะหนึ่งขณะใดต่อจากนี้ไปก็ได้ ก็ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในชีวิต เป็นผู้ที่เจริญกุศล สะสมความดีเป็นที่พึ่งสำหรับตนเอง ย่อมเป็นผู้ไม่หวาดหวั่น หรือ ไม่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวใกล้ตาย เพราะได้กระทำที่พึ่งสำหรับตนเอง กล่าวคือ ได้เจริญกุศลทุกประการไว้แล้ว มีเครื่องป้องกันที่ดีแล้ว เนื่องจากว่าตั้งอยู่ในความไม่ประมาทอยู่เสมอ นั่นเอง ในข้อนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงด้วยข้ออุปมาเหมือนกับ ผู้ที่เห็นอสรพิษมาแต่ไกล ย่อมมีเวลาที่จะหาทางป้องกันให้ตนเองรอดพ้นจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากอสรพิษดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ นั้น บุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา หรือ ญาติพี่น้องเป็นต้น ย่อมสามารถเป็นที่พึ่ง สามารถช่วยเหลือทำกิจในด้านต่างๆ ให้แก่เราได้ แต่พอถึงเวลาตาย บุคคลเหล่านั้น ไม่สามารถที่จะช่วยต้านทานไว้ได้เลย ใครๆ ก็ช่วยเราไม่ได้เลยจริงๆ ดังนั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งจะต้องสิ้นสุดลงที่ความตายในชาตินี้ (และยังจะต้องเกิดอีกต่อไป แต่ไม่รู้ว่าจะไปเกิดเป็นอะไร ในภพไหน ตามควรแก่กรรมที่จะนำเกิด ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น) ก็ควรจะแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองจากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด ก่อนที่ความตายจะมาถึงซึ่งไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะเป็นวันใด เวลาใด ด้วยการเป็นคนดี ไม่ประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ และไม่ละเลยในการอบรมเจริญปัญญา ด้วยการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เพราะสิ่งที่จะทำให้เป็นคนดียิ่งขึ้น ก็คือ ความเข้าใจพระธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ