[คำที่ ๔๔๒] สราค

 
Sudhipong.U
วันที่  13 ก.พ. 2563
หมายเลข  32562
อ่าน  470

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “สราค”

คำว่า สราค เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า สะ - รา – คะ] เขียนเป็นไทยได้ว่า สราคะ หมายถึง บุคคลผู้ยังมีความติดข้องยินดีพอใจ เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรม คือ สิ่งที่มีจริงๆ เท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไป เพราะมีความติดข้องยินดีพอใจ เกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกว่าเป็นบุคคลผู้ยังมีความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งเป็นคำที่ส่องให้เข้าใจถึงสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ราคะ หรือ โลภะ ก็คือ สภาพธรรมอย่างเดียวกันที่เป็นความติดข้องยินดีพอใจ ติดข้องในสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะติดข้องในอะไรก็ตาม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก นั่นเอง ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับจนหมดสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ความติดข้องยินดีพอใจก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา เมื่อความติดข้องยินดีพอใจเกิดขึ้น ก็ไม่สละซึ่งสิ่งนั้น ไม่ปล่อยให้จิตเป็นกุศล ความดีเกิดไม่ได้เลยในขณะที่ความติดข้องยินดีพอใจเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

ข้อความในพระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของความติดข้องยินดีพอใจไว้ ดังนี้

“โลภะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? การโลภ กิริยาที่โลภ ความโลภ การกำหนัดนัก กิริยาที่กำหนัดนัก ความกำหนัด ความเพ่งเล็ง อกุศลมูลคือโลภะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า โลภะมีในสมัยนั้น”

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ มลสูตร แสดงโทษของความติดข้องยินดีพอใจ ไว้ดังนี้

“โลภะ ก่อให้เกิดความพินาศ โลภะทำจิตให้กำเริบ ชนไม่รู้สึกโลภะนั้นอันเกิดแล้วในภายในว่าเป็นภัย คนโลภย่อมไม่รู้ประโยชน์ ย่อมไม่เห็นธรรม โลภะย่อมครอบงำนรชนในขณะใด ความมืดตื้อย่อมมีในขณะนั้น”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองยังเต็มไปด้วยกิเลสมากมายแค่ไหน เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมาล้วนเต็มไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น รวมถึงความติดข้องยินดีพอใจ ด้วย ติดข้องยินดีพอใจในภายใน คือ ในตนเอง ซึ่งมีมากเหลือเกิน ได้แก่ รักตัวเอง รักรูปตัวเอง คิ้ว ตา จมูก ปาก ทั้งหมดทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปด้วยความรักตัวเอง ติดข้องในภายในยังไม่พอ ยังติดข้องในภายนอกอีก ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ก็ดี ที่ประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความอยาก มีความปรารถนา มีความต้องการติดข้องยินดพอใจไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกเกี่ยวโยง ยึด ผูกพันอย่างแน่นหนากับรูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริง ๆ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ถูกความติดข้องยินดีพอใจรึงรัดผูกพันไว้เกี่ยวประสานไว้ไม่ให้พ้นไปได้เลย ความติดข้อง ยินดีพอใจ เป็นอกุศลธรรมประการหนึ่ง ไม่ว่าจะติดข้องในอะไร หรือเกิดกับใครก็ตาม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็คือ โลภเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต คือ ความติดข้องยินดีพอใจ) ความติดข้องยินดีพอใจไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะเป็นอย่างอื่นไปได้เลย เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เกิดเมื่อใดก็ผูกพันไว้กับสิ่งนั้น ผูกพันไว้ไม่ให้จิตเป็นกุศล และผูกพันไว้ในสังสารวัฏฏ์ ไม่ให้ออกไปจากสังสารวัฏฏ์ ไม่ทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดได้เลย ความติดข้องยินดีพอใจ นั้น มีหลายระดับขั้น กล่าวคือ มีทั้งระดับที่เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ รับประทานอาหาร เป็นต้น และ ที่มีกำลังมาก หรือ เกินประมาณ ถึงขั้นล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่น เป็นต้น

เป็นที่น่าพิจารณาว่า ถ้าถูกความติดข้องยินดีพอใจครอบงำแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง ความติดข้องยินดีพอใจที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้น สิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจองราคะหรือโลภะโดยตลอด สำหรับบุคคลผู้มีความติดข้องมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ แม้ว่าจะได้ทรัพย์สมบัติมากมายเพียงใด ก็ยังไม่พอแก่กำลังของความติดข้องยินดีพอใจ ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับความติดข้องยินดีพอใจ ยังต้องการอยู่ตลอด ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีความติดข้องยินดีพอใจอยู่ก็ตาม เมื่อฟังบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงโทษภัยของอกุศลธรรมประเภทนี้ได้ สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ สามารถรู้ลักษณะของอกุศลธรรมคือความติดข้องยินดีพอใจ ว่าเป็นเพียงสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะดับความติดข้องยินดีพอใจได้อย่างเด็ดขาด

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า สภาพธรรมทั้งหมด เป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่ยั่งยืน แม้แต่ความติดข้องยินดีพอใจ ก็เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นตามการสะสมมาของแต่ละบุคคล ยากที่จะพ้นไปได้ เพราะสะสมมากจริงๆ เราไม่สามารถที่จะมีกุศลจิตเกิดตลอดเวลา และตลอดทั้งวันก็ไม่ใช่ว่าจะมีแต่อกุศลจิตเกิดแต่เพียงอย่างเดียว มีกุศลจิต เกิดบ้าง บุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ ย่อมมีความเป็นไปอย่างนี้จริงๆ กล่าวคือ มีทั้งกุศลและอกุศล แต่ในชีวิตประจำวันอกุศลจะเกิดมากกว่ากุศล

การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ถ้าในชีวิตประจำวันไม่สะสมกุศลประการต่างๆ ไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เลย ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลธรรมเกิดพอกพูนทับถมมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาให้เบาบางลงได้ และที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละคลายความไม่รู้ เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็สามารถดับกิเลสทั้งหลายได้ตามลำดับขั้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลายอย่างแท้จริง และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวันไม่ได้เลยทีเดียว เพราะทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นำไปสู่ปัญญา ทำให้เกิดปัญญา คือ ความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่มีทุกขณะตามความเป็นจริง.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ