[คำที่ ๔๔๓] ฉนฺทชาต

 
Sudhipong.U
วันที่  20 ก.พ. 2563
หมายเลข  32563
อ่าน  523

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ฉนฺทชาต”

คำว่า ฉนฺทชาต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ฉัน - ทะ – ชา - ตะ] มาจากคำว่า ฉนฺท (ความพอใจใคร่ที่จะกระทำ,ฉันทะ) กับ คำว่า ชาต (เกิดแล้ว) รวมกันเป็น ฉนฺทชาต แปลว่า ผู้มีฉันทะคือความพอใจใคร่ที่จะกระทำ เกิดแล้ว หรือ เกิดฉันทะ เมื่อกล่าวถึงความเป็นจริงของธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อมีธรรมเกิดขึ้น จึงหมายรู้ได้ว่าบุคคลนั้นบุคคลนี้มีความประพฤติเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ แม้แต่ที่กล่าวถึงผู้มีฉันทะเกิดแล้ว ก็ต้องมีสภาพธรรมที่มีจริงเกิดขึ้นเป็นไป โดยเฉพาะ คือ ฉันทเจตสิก ซึ่งฉันทเจตสิก นั้น เป็นเจตสิกธรรม (ธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) ที่เกิดกับอกุศลจิต ก็ได้ เกิดกับกุศลจิต ก็ได้ ถ้าเป็นฉันทะ ที่เป็นอกุศล เป็นไปกับโลภะ บ้าง โทสะ บ้าง ไม่ดีอย่างแน่นอน มีแต่จะนำมาซึ่งทุกข์โทษภัยและทำให้อกุศลเกิดพอกพูนหนาแน่นมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าเป็นฉันทะที่เป็นไปกับการเจริญกุศลแล้ว ย่อมเป็นสิ่งที่ดี ควรอบรมเจริญจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ฉันทะที่เป็นไปในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาเป็นปกติในชีวิตประจำวัน สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย เป็นการได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้องอย่างยิ่ง ซึ่งในที่นี้จะนำเสนอในความหมายที่มุ่งหมายถึงเกิดฉันทะในทางที่เป็นกุศลความดีประการต่างๆ

ในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร มีข้อความที่แสดงถึงฉันทะในทางที่เป็นกุศล เป็นฉันทะที่ดีงาม เป็นไปในคุณความดี ดังนี้ คือ

“ความพอใจ ความเป็นผู้มีความพอใจ ความเป็นผู้ใคร่จะทำอันใด นั้น จัดเป็นกุศล คือ ความเป็นผู้มีความพอใจในธรรม”


พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี (คุณความดีที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส) ที่จะตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกอย่างตามความเป็นจริง และทรงมีพระมหากรุณาแสดงความจริงให้สัตว์โลกได้เข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง ละความไม่รู้ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดอกุศลต่างๆ มากมาย เพราะว่าอกุศลทั้งหลายเพิ่มขึ้นในแต่ละขณะที่ไม่รู้ เมื่อมีความเข้าใจถูก คือ ปัญญา ก็สามารถรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศลซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี และธรรมที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี คือ ความดีนั้น เป็นอย่างไร ธรรม เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น อกุศลเป็นอกุศล กุศลเป็นกุศล เนื่องจากว่าชีวิตประจำวันก็มีทั้งอกุศลและกุศล และอกุศลก็เกิดมากด้วย ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของผู้ที่ยังมีกิเลสเต็มไปด้วยกิเลส เป็นการยากมากที่จะฟันฝ่าคลื่นของอกุศลไปได้ จึงสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งเป็นเหมือนแสงสว่างก็จะนำไปสู่ทางของกุศล ห่างไกลจากอกุศลซึ่งเคยมีมากมาย แต่ว่าห่างไกลทันทีไม่ได้เลย ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป คล้อยตามความเข้าใจที่ค่อยๆ เจริญขึ้น

ตามความเป็นจริงแล้ว คำสอนใดก็ตามที่นำไปสู่ความอยาก หรือความต้องการ นั่นไม่ใช่คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คำสอนใดที่จะทำให้เข้าใจถูกต้องในสิ่งที่มีจริงในขณะนี้ได้ นั่นเป็นคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นคำสอนที่มีค่ามหาศาล เพราะเหตุว่าเป็นคำจริงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งไม่เคยรู้เลย กล่าวได้ว่า ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่เคยเกิดในสังสารวัฏฏ์ คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูก แต่ถ้าเปรียบเทียบความไม่รู้กับความรู้ ก็จะเห็นได้ว่า ความไม่รู้มีมากอย่างยิ่ง เพราะสะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ จะมีตัวตนที่จะไปเร่งรัดที่จะไปทำให้ความไม่รู้รวมถึงกิเลสประการอื่นๆ หมดสิ้นไป ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นความเพ้อฝัน ไม่ใช่ความจริง

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นประโยชน์เกื้อกูลสำหรับผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษาพร้อมทั้งมีความเข้าใจไปตามลำดับเท่านั้น ความเป็นผู้สนใจที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจนั้น เป็นเรื่องของการสะสมของแต่ละบุคคล เพราะเคยได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงมีความสนใจที่จะฟังที่จะศึกษาเพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะแตกต่างจากบุคคลผู้ที่ไม่ได้สะสมเหตุที่ดีมา เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เห็นประโยชน์ของพระธรรม แม้ว่าจะมีผู้กล่าวพระธรรมพร้อมทั้งพรรณนาคุณของพระธรรมอย่างไร ผู้นั้น ก็ไม่ฟัง และประการที่สำคัญ ผู้ที่ไม่สนใจฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมนั้น ไม่ได้มีเฉพาะในยุคนี้สมัยนี้เท่านั้น มีทุกยุคทุกสมัย แม้แต่ในสมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ทรงประกาศพระศาสนาเกื้อกูลแก่สัตว์โลก แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว ที่ไม่ฟัง ไม่ศึกษา ไม่ได้รับประโยชน์จากพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง

หนทางที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายอกุศล ก็มีหนทางเดียว เท่านั้น คือ ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จึงควรอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้เกิดฉันทะคือความพอใจในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ความเป็นผู้มีความพอใจในการฟังพระธรรม นั้น ไม่ได้หมายถึงความติดข้องต้องการอย่างโลภะ แต่เป็นความปรารถนา เป็นความประสงค์ที่จะฟังพระธรรม เพราะเห็นถึงคุณค่ามหาศาลของคำจริงแต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นฉันทะที่เป็นไปในทางกุศลที่จะได้สะสมอบรมเจริญปัญญา เพราะเข้าใจว่าเต็มไปด้วยความไม่รู้ คือ อวิชชาที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ถ้าไม่เริ่มฟัง ไม่มีฉันทะ ไม่มีความปรารถนาที่จะฟังพระธรรม เลย ความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ นับวันมีแต่จะพอกพูนความไม่รู้ให้เพิ่มขึ้นต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้จึงฟัง จึงศึกษา เพื่อละคลายความไม่รู้ อย่างนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญาและกุศลธรรมประการต่างๆ อย่างแท้จริง

ดังนั้น ยุคนี้สมัยนี้ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ยังดำรงอยู่ ยังไม่อันตรธานสูญสิ้นไป ก็เป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่ง ที่จะได้ฟังได้ศึกษา ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเองต่อไป ไม่ทอดทิ้งฉันทะในการฟังพระธรรม ไม่ประมาทในแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะทั้งหมด เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกโดยตลอด นำมาซึ่งคุณประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ