[คำที่ ๔๔๘] ธมฺมเอสนา

 
Sudhipong.U
วันที่  26 มี.ค. 2563
หมายเลข  32568
อ่าน  471

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ธมฺมเอสนา”

คำว่า ธมฺมเอสนา เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ดำ – มะ - เอ - สะ – นา] มาจากคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นำไปสู่ความเข้าใจความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง) กับคำว่า เอสนา (การแสวงหา) รวมกันเป็น ธมฺมเอสนา เขียนเป็นไทยได้ว่า ธรรมเอสนา แปลว่า การแสวงหาธรรม การแสวงหาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นำไปสู่ความเข้าใจความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริง ซึ่งเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐที่สุด ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ดังนี้ ว่า

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เอสนา (การแสวงหา) ๒ อย่างนี้ ๒ อย่างเป็นไฉน? คือ อามิสเอสนา (การแสวงหาอามิส คือ วัตถุสิ่งของ) ๑ ธรรมเอสนา (การแสวงหาธรรม) ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เอสนา ๒ อย่างนี้แล ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บรรดาเอสนา ๒ อย่างนี้ ธรรมเอสนา เป็นเลิศ”


ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และมีจริงในขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามไม่พ้นไปจากธรรมเลย มีแต่จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์,ไม่ใช่สภาพรู้) เท่านั้น ที่เกิดขึ้นเป็นไปจริงๆ และแต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ก่อนที่จะได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้ในชาตินี้ ก็เกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน และยังจะต้องเกิดเป็นไปอีกนานแสนนานจนกว่าจะได้อบรมเจริญปัญญาจนกระทั่งรู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสทั้งปวงได้อย่างหมดสิ้นเป็นพระอรหันต์ ปรินิพพานแล้ว ไม่ต้องมีการเกิดอีก เมื่อไม่มีการเกิด ทุกข์ใดๆ ก็ไม่มี ไม่มีการประสบกับทุกข์ภัยใดๆ อีกเลยในสังสารวัฏฏ์ ซึ่งจะต้องเป็นปัญญาเท่านั้นถึงจะเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริงได้ แล้วปัญญาจะมาจากไหน ถ้าไม่สะสมมาจากการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นปกติในชีวิตประจำวัน ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากที่จะได้ฟังพระธรรม

ในชาตินี้ ยังเป็นผู้มีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) มาก อกุศลจิตเกิดบ่อยมาก และปัญญาก็ยังไม่เจริญ ถ้าหากว่าไม่ได้สะสมเหตุที่ดีบ่อยๆ เนืองๆ โดยเฉพาะการฟังพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน แล้ว ก็ย่อมจะเป็นโอกาสของอกุศลที่พร้อมจะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจอยู่ตลอดเวลา

บุคคลผู้ที่ยังมีวิชชา (ความไม่รู้) เป็นเครื่องปกปิดไว้ จึงทำให้มีความติดข้องยินดี พอใจ ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ติดข้องในทรัพย์สมบัติ ติดข้องในวัตถุสิ่งของต่างๆ แสวงหาในสิ่งเหล่านี้ ทำให้ไม่เห็นว่าเป็นเพียงสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวแล้วก็หมดไปเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นการแสวงในสิ่งที่ไม่ประเสริฐ เพราะได้มาแล้วทำให้ติดข้องยินดีพอใจ และ เมื่อสิ่งนั้นพลัดพรากไป ก็เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ใจ สะสมอกุศลมากมายต่อไปอีก

สิ่งที่น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือ แท้ที่จริงแล้ว เกิดมา แสวงหาอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าใครจะแสวงหาอะไร ถ้าเป็นพระโพธิสัตว์ (ผู้ข้องอยู่ในการตรัสรู้ความจริง) ก็แสวงหาความจริงแสวงหาการเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงๆ ที่กำลังปรากฏ เช่น เห็นเดี๋ยวนี้ ความจริงคืออะไร ความจริงคือไม่ใช่ใครเลย แต่เป็นสภาพที่มีจริงอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเห็น เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป เป็นต้น เมื่อพระองค์ยังไม่ได้ตรัสรู้ การแสวงหาความจริงของพระองค์จึงยังไม่สิ้นสุด จนกว่าจะสามารถเข้าใจความจริงของสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง พระบารมีทั้งหมดของพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญมาก็เพื่อที่จะได้ตรัสรู้ความจริงแล้วทรงแสดงความจริงเกื้อกูลแก่สัตว์โลก การแสวงหาของพระองค์ประเสริฐอย่างยิ่ง แต่ถ้าไม่ใช่พระโพธิสัตว์ ทุกวันนี้แต่ละคนแสวงหาอะไร เป็นสิ่งที่น่าคิดอย่างยิ่ง ก็แล้วแต่ความเป็นไปของแต่ละบุคคล แสวงหากันไปสารพัด แสวงหาในสิ่งที่ตนเองต้องการ เพราะฉะนั้น ที่เคยแสวงหาอย่างอื่นมาแล้วในชีวิต ก็สามารถรู้ว่าไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรเลย ยิ่งแสวงหายิ่งเป็นโรคทางใจ คือ สะสมกิเลสมากยิ่งขึ้น แต่ถ้าแสวงหาความเข้าใจความจริงที่สามารถจะค่อยๆ เข้าใจสิ่งที่กำลังมีกำลังปรากฏในขณะนี้ ขณะนั้นกำลังรักษาจิตหรือรักษาโรคทางใจคือกิเลส แทนที่จะแสวงหาอย่างอื่น ก็รู้ว่าสิ่งเดียวที่ทำให้จิตสะอาดบริสุทธิ์ พ้นจากโทษพ้นจากโรคคือกิเลส ก็คือ ความเห็นถูกในสิ่งที่กำลังปรากฏ

การฟังพระธรรม ต้องเป็นผู้ละเอียดและรู้ว่า ต้องสอดคล้องกันทั้งหมด แม้แต่ชีวิตตามความเป็นจริงของแต่ละคน ก็รู้ได้เลยว่า ในชีวิตแสวงหาไปหมดตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็แสวงหาสิ่งที่น่าพอใจทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ แต่เมื่อมีโอกาสได้สะสมศรัทธาสภาพที่ผ่องใสจากอกุศลที่จะรู้ความจริงเข้าใจความจริง ก็มีการได้ยินได้ฟังพระธรรม เพราะฉะนั้น ก็แสวงหาความเข้าใจพระธรรมเพิ่มขึ้น ปัญญาสามารถรู้ถูกว่า ขณะไหนแสวงหาสิ่งไม่เป็นสาระเลย กับขณะไหนที่แสวงหาสิ่งที่เป็นสาระที่สามารถชำระจิตได้ เพราะคนอื่นชำระจิตของใครก็ไม่ได้ แต่พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เหมือนยารักษาโรค อยู่ที่ว่าจะหาเจอหรือไม่ เพราะฉะนั้น ผู้นั้นต้องสามารถเป็นผู้ละเอียด มีปัญญาและขณะใดที่เข้าใจ ขณะนั้นก็ขัดเกลาละคลายความไม่รู้ไปทีละเล็กทีละน้อย

การได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมในภพนี้ชาตินี้ ก็แสดงว่าต้องเป็นผู้เคยได้สะสมเหตุที่ดีมาแล้ว เคยได้ฟังพระธรรม เคยเห็นประโยชน์ของพระธรรมมาแล้ว จึงสนใจที่จะฟัง ที่จะได้ศึกษาสะสมความเข้าใจถูก เห็นถูกต่อไป ชีวิตของผู้ที่ยังมีกิเลส ก็เป็นไปด้วยอำนาจของกิเลสเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ โลภะ ความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ และกิเลสประการอื่นๆ ด้วย ชีวิตก็เป็นไปอย่างปกติ ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน แต่ผู้ที่เห็นประโยชน์ของพระธรรม แม้ว่าจะเป็นไปด้วยอำนาจของกิเลส แต่ก็ยังมีโอกาสที่จะได้ยินได้ฟังพระธรรมบ้างในวันหนึ่งๆ มากบ้าง น้อยบ้าง ตามโอกาสที่มี เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้เพียงเล็กน้อย ก็มีประโยชน์ เป็นประโยชน์แล้วที่ได้ยินได้ฟังในแต่ละครั้งและมีความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งถ้าไม่เคยสะสมเหตุที่ดีมาเลย ก็คงจะไม่ฟังอย่างแน่นอน แต่ที่ฟังก็เพราะเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าของคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ

จะจากโลกนี้ไปเมื่อไหร่ไม่มีใครทราบได้ สิ่งที่สะสมอยู่ในจิต คือ ความเข้าใจ ก็จะติดตามไปด้วย ซึ่งจะต้องอาศัยการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จะขาดการฟังพระธรรมไม่ได้เลยทีเดียว นี้คือ การแสวงหาธรรม อันเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐที่สุดที่เป็นรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงจนถึงการดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 1 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ