[คำที่ ๔๕๖] หิริธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  21 พ.ค. 2563
หมายเลข  32576
อ่าน  508

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “หิริธมฺม”

คำว่า หิริธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า หิ - ริ – ดำ - มะ] มาจากคำว่า หิริ (ความละอายต่อบาปหรือละอายต่ออกุศลทั้งหลายทั้งปวง) กับ คำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง) รวมกันเป็น หิริธมฺม เขียนเป็นไทยได้ว่า หิริธรรม แปลว่า สิ่งที่มีจริง คือ หิริ ซึ่งเป็นความละอายต่อบาปหรือละอายต่ออกุศลทั้งหลายทั้งปวง เป็นสภาพธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่รังเกียจหรือละอายต่อสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี มีการถอยกลับจากสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี และ ไม่กระทำสิ่งที่ไม่ดี เมื่อธรรม คือ หิริเกิดขึ้นกับจิตขณะใด จิตขณะนั้นก็เป็นจิตที่ดีงาม ไม่เป็นอกุศลเลย

ข้อความในปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธรรมสูตร แสดงความเป็นจริงของธรรม คือ หิริ ไว้ดังนี้

“ข้อที่อันบุคคลละอายด้วยสิ่งที่ควรละอาย คือ ละอายต่อความเกิดแห่งอกุศลธรรมอันลามก ท่านเรียกว่า หิริ”

ข้อความในอัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ แสดงความเป็นจริงของธรรม คือ หิริ ไว้ดังนี้

“การที่บุคคลก้าวลงสู่ธรรม คือ ความละอายภายในแล้ว ไม่ทำบาป เหมือนคนฉลาดไม่จับก้อนเหล็กเย็น ที่เปื้อนคูถ เพราะความรังเกียจ” 


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้พุทธบริษัทมีความเข้าใจถูกเห็นถูก เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตในชีวิตประจำวัน เพื่อมีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ จนกระทั่งสูงสุด คือ สามารถดับกิเลสทั้งหลายได้อย่างหมดสิ้น ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ได้ ต้องมีปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ก็จะเห็นความน่าอัศจรรย์ของปัญญาได้ว่า สามารถดับกิเลสได้จนหมดสิ้น พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตก่อนที่ท่านจะได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นนั้น กิเลสที่ท่านได้สะสมมา ก็ยังมีอยู่ ยังเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่เมื่อใดที่ปัญญาเจริญขึ้นคมกล้าขึ้น จนกระทั่งถึงขั้นที่จะดับกิเลสได้ ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ กิเลสที่ดับได้แล้วก็จะไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์ และผู้ที่จะไม่มีกิเลสใดๆ เลยนั้น คือ พระอรหันต์ ดังนั้น ตราบใดก็ตามที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ตามลำดับ ความประพฤติที่ไม่ดีประการต่างๆ ก็ย่อมจะมีได้มากบ้างน้อยบ้าง เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าผู้นั้นจะได้รับการขัดเกลาด้วยพระธรรมหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของแต่ละบุคคลจริงๆ

ประโยชน์จากการได้ฟังพระธรรม คือ เข้าใจถูกเห็นถูก ว่า มีแต่ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน เมื่อประมวลแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมที่เป็นนามธรรม (จิต : สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ และ เจตสิก:สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) กับ รูปธรรม เท่านั้น ไม่พ้นไปจากนี้เลย แต่ก็ไม่รู้ความจริงว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

สิ่งที่น่าพิจารณา คือ ความเป็นจริงของธรรม เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จะเห็นได้ว่า ขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น จะไม่ปราศจากธรรมฝ่ายดีประการต่างๆ รวมถึง หิริ ด้วย ซึ่งเป็นธรรมที่ละอายต่อบาปหรือละอายต่ออกุศลทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งพอจะเข้าใจได้ว่า ในชีวิตประจำวัน การช่วยเหลือเกื้อกูลให้สิ่งที่เป็นประโยน์แก่ผู้อื่น มีเมตตา ความเป็นมิตรเป็นเพื่อนกับผู้อื่น การไม่โกรธผู้อื่น การให้อภัยในความประพฤติไม่ดีของผู้อื่น การวิรัติงดเว้นจากทุจริตกรรมประการต่างๆ ตลอดจนถึงการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกยิ่งขึ้น นั้น ล้วนเพราะธรรม คือ หิริ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ทั้งนั้น ซึ่งจะตรงกันข้ามกับขณะที่เป็นอกุศลอย่างสิ้นเชิง เพราะขณะใดก็ตามที่จิตเป็นอกุศล ขณะนั้นปราศจากหิริ ไม่มีหิริ

สภาพธรรมที่ตรงกันข้ามกับความละอายต่ออกุศลทั้งหลายทั้งปวง คือ ความไม่ละอาย (อหิริกะ) เป็นธรรมดาจริงๆ สำหรับบุคคลที่ยังมีกิเลสอยู่ ก็ยังมีความไม่ละอายอยู่ในขณะที่อกุศลเกิดขึ้นเป็นไป แต่ที่น่าพิจารณา คือ คฤหัสถ์กับบรรพชิตต่างกัน ความไม่ละอายของคฤหัสถ์ ก็คือ ชีวิตประจำวันปกติอย่างคฤหัสถ์ แต่ว่าบรรพชิตซึ่งเป็นผู้ที่มีเจตนาที่จะประพฤติขัดเกลากิเลสในเพศของบรรพชิตด้วยธุระสองอย่าง คือ คันถธุระ หมายถึง การศึกษาให้เข้าใจพระธรรม และวิปัสสนาธุระ หมายถึง การอบรมเจริญปัญญาจนสามารถที่จะรู้แจ้งสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง เพราะฉะนั้น ความไม่ละอายของผู้ที่กระทำผิดพระวินัยด้วยความจงใจนี่ก็แสดงให้เห็นถึงระดับของความไม่ละอายที่กล้าที่จะกระทำผิดไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระวินัย อันนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้ที่ไม่มีความละอาย สำหรับคฤหัสถ์ที่มีเพศต่างจากบรรพชิตก็แสดงอยู่แล้วว่าคฤหัสถ์เป็นเพศต่ำ เพราะมีความไม่ละอายบ่อยๆ เดี๋ยวอกุศลก็เกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ในชีวิตของคฤหัสถ์ ซึ่งคฤหัสถ์เป็นคฤหัสถ์ไม่ใช่บรรพชิต แต่ถึงอย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็จะประมาทอกุศลไม่ได้เลย

ทีเดียว แต่ผู้ที่มีเจตนาที่จะสละหมดทุกสิ่งทุกอย่างในเพศคฤหัสถ์ทั้งทรัพย์สินเงินทองความสะดวกสบายความติดข้องความเพลิดเพลินในอาหารในวัตถุต่างๆ บวชเป็นภิกษุซึ่งเป็นเพศบรรพชิตพร้อมที่จะประพฤติปฏิบัติเพื่อขัดเกลากิเลสอย่างยิ่งตั้งแต่เช้าจนกระทั่งถึงหลับ ถ้าเกิดมีการจงใจประพฤติไม่เป็นไปตามพระวินัยตามที่ได้ตั้งใจไว้ก็เป็นผู้ไม่ละอายที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบด้วยความละอาย คือ หิริ แล้ว ก็จะไม่กระทำสิ่งที่ผิดใดๆ เลย

ดังนั้น เมื่อกล่าวถึงในขณะที่หิริเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่นั้น ก็ย่อมคุ้มครองให้จิตไม่เป็นอกุศล และในขณะที่กุศลจิตเกิดขึ้นเป็นไปนั้น ไม่เป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อความเดือดร้อน ทั้งแก่ตนเองและแก่ผู้อื่น มีแต่ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นด้วย สภาพธรรมที่จะเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลให้ธรรมฝ่ายดีค่อยๆ เจริญขึ้นนั้น คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องค่อยๆ สะสมปัญญาไปทีละเล็กละน้อย ละอายต่อการที่จะไม่รู้ต่อไป อดทนที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม ถ้ามีปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูกเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ความไม่รู้ ความติดข้องตลอดจนถึงอกุศลทั้งหลายลดน้อยลง การเห็นโทษของอกุศลก็เพิ่มขึ้น ปัญญา จึงเป็นสภาพธรรมที่นำไปสู่คุณความดีทุกประการ เป็นที่พึ่งในชีวิตได้อย่างแท้จริงไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 เม.ย. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ