[คำที่ ๔๕๙] ปฏิสนฺธิจิตฺต
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปฏิสนฺธิจิตฺต”
คำว่า ปฏิสนฺธิจิตฺต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ติ - สัน – ทิ - จิด - ตะ] มาจากคำว่า ปฏิสนฺธิ (สืบต่อเฉพาะจากจุติจิต) กับคำว่า จิตฺต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) รวมกันเป็น ปฏิสนฺธิจิตฺต แปลว่า จิตที่เกิดสืบต่อเฉพาะจากจุติจิตของชาติที่แล้ว แปลทับศัพท์เป็น ปฏิสนธิจิต เป็นจิตขณะแรกในชาตินี้ที่เกิดขึ้นเป็นไปต่อจากจุติจิตของชาติก่อน เพราะจิตเกิดดับสืบต่อกันอย่างไม่ขาดสาย เมื่อจุติจิตในชาติก่อนเกิดแล้วดับไป (ตาย) ก็ย่อมเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปคือปฏิสนธิจิตในภพใหม่ เกิดสืบต่อทันทีโดยไม่มีจิตอื่นคั่นเลย เป็นปกติสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ที่ตายแล้วก็ต้องเกิดอีก เป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ปฏิสนธิจิตเป็นผลของกรรม ถ้าเป็นผลของกุศลกรรม ก็ทำให้ปฏิสนธิ (เกิด) ในสุคติภูมิ แต่ถ้าเป็นผลของอกุศลกรรม ก็ทำให้เกิดในอบายภูมิ, อกุศลกรรม เป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิ ไม่ได้ และ กุศลกรรม ก็เป็นเหตุให้เกิดในอบายภูมิ ไม่ได้ ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น เหตุย่อมสมควรแก่ผล ตามข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ทสมสูตร ว่า
“ด้วยว่า ชื่อว่า ปฏิสนธิในสวรรค์ ด้วยอกุศล ไม่มี, และ ปฏิสนธิในอบาย ด้วยกุศล ก็ไม่มี
ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา ธัมมิกเถรคาถา แสดงความต่างกันระหว่างกุศลธรรม กับ อกุศลธรรม ว่า มีผลต่างกัน ดังนี้
สภาพทั้งสอง คือ ธรรม (กุศลธรรม) และ อธรรม (อกุศลธรรม) ย่อมมีวิบากไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรม ย่อมนำไปสู่สุคติ
ปฏิสนธิจิต เป็นจิตขณะแรกในชาตินี้ที่เกิดขึ้นเป็นไป สืบต่อจากจุติของชาติที่แล้ว สิ่งที่เก็บสะสมอยู่ในจิตไม่สูญหายไปไหนเลย ทั้งกรรมที่เคยกระทำแล้ว การสะสมทั้งดีและไม่ดี ไม่สูญหายไปไหน สะสมสืบต่ออยู่ในจิต ปฏิสนธิจิต จึงประมวลมาทั้งหมด ทั้งกรรม และการได้รับผลของกรรม ซึ่งก็พอจะเข้าใจได้จากชีวิตประจำวันว่า ที่มีการกระทำกรรมที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง สะสมสิ่งที่ดีและไม่ดี ตลอดจนถึงได้รับผลของกรรมโดยลักษณะต่างๆ มาจากไหน? ถ้าไม่มีจิตขณะแรกในภพนี้ชาตินี้ สิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นเป็นไปไม่ได้ ตราบใดก็ตามที่ยังมีการเกิด ยังไม่พ้นจากกิเลส ก็ยังต้องมีการกระทำกรรมที่ดีบ้าง ไม่ดีบ้างและมีการได้รับผลของกรรมที่ได้กระทำแล้วตามควรแก่กรรมประเภทนั้นๆ เรื่องของการเกิด เป็นเรื่องของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่อย่างแท้จริง เพราะยังดับอวิชชา ความไม่รู้ และ โลภะความติดข้องต้องการ ไม่ได้ เมื่อจุติจิตเกิดแล้วดับไป ปฏิสนธิจิตก็เกิดสืบต่อทันที
การเกิดในอบายภูมิ ๔ (ภูมิที่ปราศจากความเจริญ ได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน) นั้น ล้วนเป็นผลของอกุศลกรรม เป็นผลของธรรมฝ่ายดำ ทั้งนั้น เพราะเหตุย่อมสมควรแก่ผล ธรรมฝ่ายดี จะให้ผลเป็นสิ่งที่ไม่ดีนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ธรรมฝ่ายดำ หรือ อกุศลกรรม จะให้ผลเป็นสิ่งที่ดี ที่น่าปรารถนานั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเหตุว่า กุศลกรรม ให้ผลเป็นสุข อกุศลกรรม ให้ผลเป็นทุกข์ กรรมใดที่ได้กระทำแล้ว ก็ย่อมเป็นเหตุให้เกิดผล คือ วิบาก แก่ผู้กระทำกรรมนั้นตามควรแก่โอกาสของกรรมนั้นๆ ผู้กระทำกรรมจึงเป็นผู้รับผลของกรรม โดยมีกรรมเป็นกำเนิด คือ เป็นเหตุให้เกิดในสุคติภูมิ หรือ อบายภูมิ ตามสมควรแก่กรรม เมื่อเกิดมาแล้วก็มีกรรมเป็นพวกพ้อง มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เพราะเหตุว่า เมื่อถึงโอกาสของอกุศลกรรมให้ผล ขณะนั้นก็มีอกุศลกรรมเป็นพวกพ้อง ทำให้ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาประการต่างๆ ประสบกับความวิบัติต่างๆ โดยไม่มีใครทำให้เลย ในทางตรงกันข้าม เมื่อถึงโอกาสของกุศลกรรมให้ผล ก็ทำให้ได้รับสิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ไม่เดือดร้อน ในชีวิตประจำวัน
เป็นที่น่าพิจารณาว่า จะคิดหรือไม่คิดก็ตามว่า ทำไมเราถึงเกิดมา เราเกิดมาทำไม แต่ก็ได้เกิดมาแล้ว และไม่ใช่เฉพาะในชาตินี้เท่านั้น ในชาติ ที่แล้วๆ มา ก็เคยเกิดมาแล้วนับชาติไม่ถ้วน และยังจะต้องเกิดต่อไปอีก ตราบใดที่ยังมีกิเลสอยู่ ยังไม่ได้ดับเหตุที่จะทำให้มีการเกิด คือ กิเลส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ อวิชชา และ โลภะหรือตัณหาซึ่งเป็นเหตุที่ทำให้สังสารวัฏฏ์ยืดยาวต่อไปอีก
สำหรับการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า เป็นสิ่งที่ได้แสนยาก เพราะจะต้องได้ด้วยผลของกุศล (ความดี) ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นผลของกุศลประเภทใด ขึ้นอยู่กับว่ากุศลประเภทใดจะให้ผล ซึ่งไม่พ้นไปจากความดีในชีวิตประจำวัน ทั้งทาน ศีล และการอบรมเจริญปัญญา ถ้าเทียบกันระหว่างสุคติภูมิกับอบายภูมิแล้ว การไปเกิดในอบายภูมิ ไปได้ง่ายกว่าสุคติภูมิจริงๆ ซึ่งพระองค์ทรงแสดงเปรียบเทียบไว้ด้วยข้ออุปมาฝุ่นที่ปลายพระนขา (เล็บ) ที่พระองค์ทรงช้อนขึ้นมา กับ ฝุ่นที่ผืนแผ่นดินทั้งหมด ว่าผู้ที่เกิดเป็นมนุษย์ มีเป็นส่วนน้อย เหมือนกับฝุ่นที่อยู่ปลายพระนขาของพระองค์ ส่วนผู้ที่ไปเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิ มีมาก เหมือนกับฝุ่นที่ผืนแผ่นดินทั้งหมด ซึ่งควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง จะประมาทในชีวิตประจำวันไม่ได้เลย
เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะเป็นผู้ไม่รู้ต่อไป ไม่คุ้มค่าเลยกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ซึ่งได้ยากแสนยากแต่ไม่ได้สะสมปัญญา ก็จะทำให้ตายไปพร้อมกับความไม่รู้ เก็บสะสมสิ่งที่ไม่ดีติดตามไป และจะไม่รู้อีกต่อไปนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ ยากที่จะพ้นไปได้
การมีโอกาสได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ สะสมความเข้าใจที่ถูกต้องไปทีละเล็กทีละน้อย และไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกประการ ย่อมเป็นชีวิตที่คุ้มค่า คุ้มค่าแล้วกับการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่พร้อมที่จะรองรับพระธรรมและทำแต่สิ่งที่ดีงาม เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็ควรที่จะได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา เริ่มต้นได้ตั้งแต่ในขณะนี้ เพราะเวลาของแต่ละบุคคล เหลือน้อยเต็มทีแล้วไม่รู้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด จึงควรพิจารณาอยู่เสมอว่า ทั้งหมดของชีวิตที่เกิดมา คุณค่า อยู่ที่ความเข้าใจพระธรรม ขณะใดก็ตามที่ความเข้าใจถูกความเห็นถูกเกิดขึ้น ขณะนั้น มีค่าที่สุดในชีวิต ก็จะทำให้ไม่ละทิ้งโอกาสที่สำคัญที่สุดในชีวิต คือ ได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกจากคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ซึ่งจะเป็นที่พึ่งได้โดยตลอด นำพาชีวิตไปสู่คุณความดีทั้งปวง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ