[คำที่ ๔๖๔] อนฺธกรณ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “อนฺธกรณ”
คำว่า อนฺธกรณ เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า อัน - ทะ - กะ - ระ - นะ] มาจากคำว่า อนฺธ (มืดบอด) กับคำว่า กรณ (กระทำ) รวมกันเป็น อนฺธกรณ เขียนเป็นไทยได้ว่า อันธกรณะ แปลว่า กระทำให้มืดบอด กล่าวหมายถึง อกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง มีโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ เป็นต้น เมื่ออกุศลธรรมเกิดขึ้น ไม่สามารถเข้าใจความจริงของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย จึงมืดบอดเพราะไม่เข้าใจความจริงในขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ยกตัวอย่างขณะที่ ราคะ หรือ โลภะ เกิดขึ้น เป็นอกุศลแล้วในขณะนั้น คุณความดีและปัญญาเกิดขึ้นไม่ได้เลย จึงทำให้มืดบอด เพราะไม่สามารถเข้าใจความจริงได้เลยในขณะที่เป็นอกุศล ตามข้อความในมโนรถปูรณี อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ฉันนสูตร ดังนี้
“ราคะ ชื่อว่า อนฺธกรโณ (อันธกรณะ) เพราะทำผู้ที่มีราคะเกิดขึ้นให้มืดบอด โดยห้ามการรู้การเห็นตามความเป็นจริง”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา นั้น เป็นไปเพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟัง ได้ศึกษา และมีความเข้าใจไปตามลำดับอย่างแท้จริง แม้แต่ในเรื่องของธรรมฝ่ายที่ไม่ดี ซึ่งเป็นอกุศลธรรม นั้น พระองค์ก็ทรงแสดงไว้เป็นอันมากทีเดียว หลากหลายโดยนัยประการต่างๆ เพื่อให้พุทธบริษัทได้เห็นโทษเห็นภัยของอกุศลในชีวิตประจำวัน ถ้าพระองค์ไม่ทรงแสดงไว้ ก็ไม่สามารถที่จะเห็นอกุศลของตนเองและไม่สามารถที่จะขัดเกลาได้เลย การที่ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกจะค่อยๆ เจริญขึ้นในชีวิตประจำวันนั้น ก็ต้องมาจากการอาศัยคำจริงแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แต่ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงแสดงความจริงไว้อย่างนี้ แต่ผู้ที่มีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตก็ไม่สามารถที่จะละอกุศลนั้นได้ ถ้าปัญญาไม่เจริญขึ้นจนสามารถที่จะรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงแล้วดับอกุศลได้เป็นขั้นๆ ตามลำดับ
อกุศล เป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี ไม่นำประโยชน์อะไรๆ มาให้ใครเลย มีแต่จะนำทุกข์มาให้เท่านั้น ขณะที่จิตเป็นอกุศลย่อมเร่าร้อน เพราะอกุศลเจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมด้วย และถ้ามีกำลังถึงขั้นทำร้ายประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็ยิ่งเร่าร้อนมาก เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดีที่จะทำให้เกิดผลที่ไม่ดี ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจในภายหน้า กล่าวได้ว่าเร่าร้อนทั้งในขณะที่ทำ และเร่าร้อนทั้งในขณะที่ได้รับผลของอกุศลกรรมนั้นๆ ด้วย และในขณะที่อกุศลเกิดขึ้น ก็มืดบอด ไม่สามารถรู้สภาพธรรมตามความเป็นจริงได้เลย นี้คือความเป็นจริงของสภาพธรรม ในทางตรงกันข้าม ขณะที่จิตเป็นกุศลนั้น ย่อมผ่องใส ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอกุศลเจตสิกเกิดร่วมได้เลย เป็นจิตคนละประเภทกัน มีแต่สภาพธรรมฝ่ายดี คือ ศรัทธา (สภาพธรรมที่ผ่องใส) สติ (สภาพธรรมที่ระลึกเป็นไปในกุศล) หิริ (ความละอายต่ออกุศล) โอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่ออกุศล) อโลภะ (ความไม่ติดข้อง) อโทสะ (ความไม่โกรธ) เป็นต้น เกิดร่วมด้วย
เนื่องจากแต่ละคนได้สะสมอกุศลมามากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์นับชาติไม่ถ้วน เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย อกุศลก็เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง เช่น เวลาที่ราคะหรือโลภะเกิด ก็มีความติดข้องต้องการ อยากได้ ดิ้นรน แสวงหาในสิ่งที่ตนเองต้องการ ไม่โดยทางสุจริตก็โดยทางทุจริต เมื่อไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็เกิดโทสะ เกิดความไม่พอใจ แต่เมื่อได้มาตามที่ต้องการแล้ว ก็ต้องรักษาไว้อย่างดี และติดข้องต่อไปอีก หรือแม้แต่ เวลาโกรธ ก็มีความไม่สบายใจ ไม่พอใจ ถ้าโกรธมาก สะสมมีกำลังมากขึ้น ก็อาจจะไปทำร้ายเบียดเบียนคนอื่นได้ ทั้งนี้เพราะเคยสะสมโทสะมาแล้ว เป็นเรื่องของอกุศล ทั้งหมด นี้คือ ธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เมื่อเป็นธรรม ก็ต้องเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน แต่ละคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกื้อกูลให้เข้าใจความจริงถึงที่สุด ว่า ไม่มีเรา เพราะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไป
เวลาโลภะเกิดครั้งหนึ่ง ก็ดับไป เวลาโทสะเกิดครั้งหนึ่ง ก็ดับไป แต่ไม่สูญหายไปไหน จะสะสมอยู่ในจิตต่อๆ ไป ทำให้แต่ละบุคคลมีอัธยาศัยแตกต่างกันออกไป บางคนเป็นคนโลภมาก ติดข้องมาก เห็นอะไร ก็อยากได้ไปหมด ได้เท่าไหร่ก็ไม่พอ บางคน เป็นคนที่มีโทสะมาก เห็นอะไร ได้ยินอะไร ก็ไม่ชอบใจ ไม่ถูกใจไปทุกเรื่อง ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย กล่าวคือ เป็นอกุศลที่เกิดขึ้นเป็นไป และทุกครั้งที่เป็นอกุศล ก็ไม่ปราศจากโมหะหรืออวิชชา ความไม่รู้เลย ก็สะสมแต่สิ่งที่ไม่ดีในขณะที่เป็นอกุศลซึ่งเป็นโทษเท่านั้น ในชาตินี้เป็นอย่างนี้ ถ้ายังไม่เห็นโทษ ไม่มีการขัดเกลา ชาติหน้าต่อไป ก็สะสมเป็นบุคคลอย่างนี้ ทำให้เป็นผู้เต็มไปด้วยอกุศลมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะแก้ไขได้ และถ้าถึงขั้นกระทำอกุศลกรรมมีการฆ่าสัตว์ เบียดเบียนบุคคลอื่น กระทำทุจริตกรรมประการต่างๆ ก็เป็นเหตุให้ไปเกิดในอบายภูมิ คือ ภูมิที่ไม่มีความเจริญในทางธรรม อันได้แก่ นรก เปรต อสุรกาย และ สัตว์ดิรัจฉาน ได้ โดยไม่มีใครทำให้เลย
เป็นที่น่าพิจารณาว่า สิ่งที่ติดข้อง ตลอดจนถึงสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจที่ประสบอยู่ในภพนี้ชาตินี้ ไม่ติดตามไปในภพชาติต่อๆ ไปได้เลย แต่โลภะ โทสะ และ อกุศลทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นเป็นไป ก็สะสมสืบต่อไปในจิต ไม่สูญหายไปไหน เป็นโทษโดยส่วนเดียว ไม่มีประโยชน์เลยแม้แต่น้อย
อกุศลทั้งหมด เป็นสภาพธรรมที่ควรกลัวเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรเข้าใกล้ อกุศล เป็นอกุศล ไม่ใช่สภาพธรรมฝ่ายดีเลย แต่เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยโดยส่วนเดียว เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทในอกุศลแม้เพียงเล็กน้อย แต่ควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรม การศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน บ่อยๆ เนืองๆ เห็นคุณค่าของการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูก เพื่อขัดเกลาอกุศลของตนเอง ขัดเกลาความเป็นผู้มืดบอดไปทีละเล็กทีละน้อย เมื่อมีความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ ย่อมจะทำให้เป็นผู้เข้าใจสภาพธรรมตามความเป็นจริง เห็นโทษเห็นภัยของอกุศล และเห็นคุณค่าของกุศลธรรม ดำรงชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาท ไม่ประมาททั้งในกุศลและในอกุศลแม้จะเล็กน้อย
สะสมกุศลธรรมเป็นที่พึ่งต่อไปและกุศลธรรมที่ประเสริฐยิ่ง นั้น ก็คือ ปัญญา ความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งเป็นสภาพธรรมอุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีประการต่างๆ เจริญขึ้น เพราะเหตุว่า ปัญญา นำไปในกิจทั้งปวงที่เป็นคุณความดีเท่านั้น ปัญญา จะไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องโดยประการทั้งปวง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ