สติมีการระลึกเป็นลักษณะ [ธรรมสังคณี]
[เล่มที่ 75] พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณี เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 330
ธรรมที่ชื่อว่า สติ เพราะเป็นเหตุระลึก หรือว่า ย่อมระลึกเอง หรือว่าเป็นเพียงการระลึกเท่านั้น ก็สตินั้น ชื่อว่า อินทรีย์ ด้วยอรรถเป็นอธิบดีโดยครอบงำความเป็นผู้หลงลืมด้วย สติ อีกอย่างหนึ่ง ชื่อว่า อินทรีย์ เพราะครองความเป็นใหญ่ในลักษณะแห่งการอุปการะ สตินั่นแหละเป็นอินทรีย์ชื่อว่า สตินทรีย์ ก็สตินี้นั้นมีการระลึก (การไม่ฟั่นเฟือน) เป็นลักษณะ ก็สตินี้นั้นมีการระลึก (การไม่ฟั่นเฟือน) เป็นลักษณะและมีการเข้าไปประคองไว้เป็นลักษณะ สติย่อมให้กำหนด ย่อมให้ระลึกกุศลกรรมโดยชอบ เหมือนขุนคลังของพระราชารักษารัตนะ ๑๐ อย่าง ย่อมยังพระราชาให้กำหนด ให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติในเวลาเย็นเวลาเช้า ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระจึงถวายพระพรพระราชาว่า มหาบพิตร ขุนคลังของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมให้พระเจ้าจักรพรรดิให้ระลึกถึงอิสริยสมบัติทั้งเวลาเย็นและเวลาเช้าว่า ข้าแต่เทวะ ช้างมีประมาณเท่านี้ ม้ามีประมาณเท่านี้รถมีประมาณเท่านี้ พลเดินเท้ามีประมาณเท่านี้ เงินมีประมาณเท่านี้ ทองมีประมาณเท่านี้ สมบัติทั้งปวงมีประมาณเท่านี้ ขอเทวะจงระลึกถึงอิสริยสมบัตินั้น ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ย่อมให้ระลึกถึงกุศลธรรมทั้งหลาย คือ สติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ สัมมัปปธาน ๔ เหล่านี้ อิทธิบาท ๔ เหล่านี้ อินทรีย์ ๔ เหล่านี้ พละ ๕ เหล่านี้ โพชฌงค์ ๗ เหล่านี้นี้อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ นี้สมถะ นี้วิปัสสนา เหล่านี้เป็นอริยสัจนี้เป็นวิชชา นี้เป็นวิมุตติ เหล่านั้นเป็นโลกุตรธรรม มหาบพิตร สติมีการระลึกเป็นลักษณะอย่างนี้แล
ก็สติใคร่ครวญคติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมทั้งหลายมีกายทุจริตเป็นต้นเหล่านี้ ว่าไม่มีประโยชน์ย่อมบันเทาธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ รู้ว่าธรรมมีกายสุจริตเป็นต้น เหล่านี้้ เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์ เหมือนปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ รู้สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ และสิ่งที่เป็นประโยชน์ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมนำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ออกไป ย่อมน้อมเข้ามาซึ่งสิ่งเป็นประโยชน์ ฉะนั้น
ด้วยเหตุนั้น พระนาคเสนเถระถึงถวายพระพรพระราชาว่ามหาบพิตร ปริณายกแก้วของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมรู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์แก่พระเจ้าจักรพรรดิว่า สิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์แก่พระราชาสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งเหล่านั้นเป็นอุปการะ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นอุปการะดังนี้ จากนั้นก็จะบันเทา (กำจัด) สิ่งไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคอง สิ่งที่เป็นประโยชน์ ฉันใด ขอถวายพระพรมหาบพิตร สติฉันนั้นเหมือนกันแลเมื่อเกิดขึ้น ย่อมใคร่ครวญสติทั้งหลายแห่งธรรมที่เป็นประโยชน์ และไม่เป็นประโยชน์ว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นประโยชน์ ธรรมเหล่านี้ไม่เป็นประโยชน์ธรรมเหล่านี้มีอุปการะ ธรรมเหล่านี้ไม่มีอุปการะ ดังนี้ จากนั้นย่อมบันเทา (กำจัด) ธรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ ย่อมประคับประคองธรรมที่เป็นประโยชน์มหาบพิตร สติมีการประคับประคองเป็นลักษณะอย่างนี้แล