ต้องการรู้ความหมายของ ปรมัตถ์

 
Chayanon
วันที่  25 ก.ค. 2563
หมายเลข  32589
อ่าน  649

ผมต้องการรู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า ปรมัตถ์

เหตุผลที่ต้องการรู้อย่างลึกซึ้งเพราะเมื่อประมาณ 20 กว่าปีมาแล้ว ผมนั่งหลับที่ทำงานแล้วมือถือปากกาอยู่ แล้วสักพักหัวหน้าเดินมาพอดีผมตกใจสะดุ้งตื่น พอก้มมองลงไปที่กระดาษผมเขียนคำว่า ปรมัตถ์ ลงไปแบบไม่รู้ตัวตอนที่นั่งหลับอยู่

คำนี้วนเวียนอยู่ในความคิดผมมาตลอด 20 กว่าปี เลยต้องการรู้ว่าเหตุใดผมถึงละเมอเขียนค่าว่า ปรมัตถ์ ออกมาไดัโดยที่ไม่รู้ตัว ปัจจุบันนี้ผมอายุ 41 ย่าง 42


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 25 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปรมัตถธรรม คืออะไร? คือ สิ่งที่มีจริงๆ ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีจริงนั้นๆ ให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เช่น เห็น มีจริงๆ ใครจะเปลี่ยนแปลงเห็นให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ โกรธ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมประการหนึ่ง มีลักษณะขุ่นเคืองไม่พอใจ ใครก็เปลี่ยนแปลงโกรธให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้ สี เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เป็นรูปธรรม ใครจะเปลี่ยนแปลง สี ให้เป็นอย่างอื่น ก็ไม่ได้ เป็นต้น

ปรมัตถธรรม มี ๔ คือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) และพระนิพพาน (สภาพธรรมที่ไม่เกิดไม่ดับ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ ดับกิเลส)

ดังนั้น เคยได้ยินคำใด ก็สามารถนึกถึง แสดงออกมาทางกาย วาจา มีการเขียน เป็นต้นก็ได้ แต่สำคัญที่เข้าใจคำนั้นแค่ไหน ครับ

คำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

ธรรมะ ปรมัตถธรรม อภิธรรม

ถ้ารู้จักธรรมแล้วจะมีคำขยายเพิ่มเติม ซึ่งธรรมก็ต้องเป็นปรมัตถธรรม ถ้าใช้คำว่า “ธรรม” ไม่ได้เรียกเป็นชื่อคนนั้นคนนี้เลยสักคนเดียว แต่ใช้คำว่าธรรม แสดงความเป็นใหญ่ของสภาพธรรมนั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงได้

เพราะฉะนั้นการที่ธรรมมีลักษณะอย่างนั้น ซึ่งไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ใช้คำว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นบัญญัติใช่ไหมคะ คำว่า ปรมัตถธรรม แต่มีสภาพธรรมจริงๆ ลักษณะสภาพธรรมนั้นแหละเป็นปรมัตถธรรม เพราะใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้อีก ชื่อหนึ่งอีกคำหนึ่งคร่าวๆ ไม่ละเอียดก็คือ อภิธรรม

เพราะฉะนั้นถ้าได้ยินคำว่า ธรรม ปรมัตถธรรม อภิธรรม ก็คือความหมายเดียวกัน ถ้ามีคนบอกว่ารู้จักธรรม แต่ไม่รู้จักปรมัตถธรรม ถูกต้องหรือเปล่าคะ ไม่ถูก เพราะถ้าเข้าใจธรรม รู้จักธรรม ก็ต้องรู้ว่าธรรมเป็นปรมัตถธรรม แล้วก็เป็นอภิธรรมด้วย.

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 25 ก.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ และเป็นเรื่องที่ละเอียดอย่างยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่เคยไม่รู้ แม้ว่าจะมีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน มีทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ปรากฏด้วย เช่น ทางตามีสภาพธรรมปรากฏให้เห็น เป็นสิ่งที่มีจริง เป็นรูปธรรม แต่ความไม่รู้ก็ยึดถือสภาพธรรมซึ่งเกิดดับสืบต่อกันอยู่ ในขณะนี้ให้ทราบว่า รูปธรรมที่ปรากฏทางตา เป็นสิ่งที่กำลังเกิดดับสืบต่อกันอยู่ และนามธรรมซึ่งเป็นธาตุรู้ คือ เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ก็เกิดขึ้นเพียงชั่วขณะเดียวแล้วก็ดับ และเกิดดับสืบต่อกันอยู่ แต่เพราะสภาพธรรมที่เกิดและดับอย่างรวดเร็ว และมีสภาพธรรมอื่นเกิดดับสืบต่ออยู่ ความไม่รู้ความเกิดขึ้นและดับไปของสภาพธรรมแต่ละขณะ ทำให้มีการยึดถือสัณฐาน หรืออาการของสิ่งที่ปรากฏว่าเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด

ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะนั้นไม่ได้ จึงเรียกว่า ปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตนเลย เป็นแต่เพียงสภาพธรรมแต่ละลักษณะเท่านั้น

ตามข้อความในอภิธัมมัตถวิภาวินีฏีกา ว่า “พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงประกาศปรมัตถธรรมไว้เพียง ๔ อย่าง คือ จิต ๑ เจตสิก ๑ รูป ๑ นิพพาน ๑ ด้วยประการฉะนี้”

หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะเป็นไปเพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของปรมัตถธรรม เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายความไม่รู้ ละคลายความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตนเป็นสัตว์เป็นบุคคลได้ในที่สุด ซึ่งจะขาดการฟังเรื่องของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ในขณะนี้ไม่ได้เลย ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 25 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ