สมาธิสำคัญกับเราอย่างไรครับ
สมาธิสำคัญกับเราอย่างไรครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
สมาธิ เป็นความตั้งมั่น เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ทุกขณะที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีสมาธิเกิดร่วมด้วย สมาธิ คือ เอกัคคตาเจตสิก เกิดกับจิตทุกดวง มีความเสมอกันกับจิตที่เกิดร่วมด้วย เป็นไปได้ทั้งกุศล อกุศล วิบาก และกิริยา ตามประเภทของจิตนั้นๆ มิจฉาสมาธิ เป็นสภาพธรรมที่ตั้งมั่นผิด เกิดร่วมกับอกุศลจิต ขณะที่อกุศลจิตเกิดจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องดีงามไม่ได้ ก็ต้องเป็นสภาพธรรมที่ไม่ดี สัมมาสมาธิ เป็นชื่อของเอกัคคตาเจตสิก ซึ่งเกิดกับจิตที่เป็นโสภณจิต คือจิตที่ดีงาม สัมมาสมาธิไม่ได้อยู่ที่คำที่ใช้ เพราะว่าเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกดวง ถ้าเกิดกับอกุศลจิต ก็เป็นมิจฉาสมาธิ ถ้าเกิดกับกุศลจิต ก็เป็นสัมมาสมาธิ อยู่ที่ว่าจิตขณะนั้นเป็นอย่างไร ถ้าจิตเป็นกุศล แม้ไม่ใช้คำอะไรเลย ก็เป็นสัมมาสมาธิ
ความจริงเป็นอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว สัมมาสมาธิจะใช้ในกุศลที่เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา เช่น สัมมาสมาธิที่เกิดกับการอบรมสติปัฏฐานหรืออริยมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ก็จะเป็น ขณิกสมาธิ เพียงชั่วขณะที่เป็นไปทางกุศลและอบรมปัญญา สัมมาสมาธิที่เกิดในขณะเป็นอริยมรรค มีองค์ ๘ เป็นสัมมาสมาธิโดยตรงอยู่แล้ว และการอบรมเจริญสมถภาวนาก็เป็นสัมมาสมาธิ
ที่น่าพิจารณาคือ ถ้ามีความติดข้องในมิจฉาสมาธิ ติดข้องในความรู้สึกที่เป็นสุข มีการไปนั่งไปทำอย่างนั้น ไม่ใช่หนทางที่เป็นไปเพื่อความเจริญแห่งกุศลธรรม และปัญญาเลย ถ้าไม่ถอยกลับมาตั้งต้นที่การฟังพระธรรมให้เข้าใจ ตั้งแต่ในขณะนี้แล้ว ก็ยากที่จะพ้นไปจากมิจฉาสมาธิดังกล่าวนั้น เพราะการปฏิบัติผิด มีแต่จะทำให้ความเห็นผิด ความไม่รู้ เพิ่มมากขึ้น ครับ ในสมัยพุทธกาลพระอริยสาวกบางท่าน ก่อนที่จะได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงนั้น ก็เคยปฏิบัติผิดมาก่อน แต่เพราะเหตุที่ดีที่ท่านได้สะสมมา จึงเป็นเหตุให้ท่านได้เข้าเฝ้าและฟังพระธรรมจากพระองค์ ผลจากการฟังพระธรรมซึ่งเป็นความจริง นั้น ทำให้ท่านได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมดับกิเลสได้ในที่สุด ครับ
ปฏิบัติ ไม่ใช่นั่งหลับตาทำสมาธิ
ท่าน อ.สุจินต์..แม้แต่คำว่า “ปฏิบัติธรรม” ก็ต้องเข้าใจให้ถูกต้องด้วย ถ้ามีคนนั่งหลับตาแล้วบอกว่า ปฏิบัติธรรม แล้วเราจะบอกว่า ปฏิบัติธรรม ใครๆ ก็บอกว่า ปฏิบัติธรรม ก็เป็นสิ่งที่เหลวไหล เพราะเหตุว่ายังไม่เข้าใจเลยว่า ปฏิบัติธรรมจริงๆ นั้นคืออะไร ต่อเมื่อใดเข้าใจแล้วจึงรู้ว่า ปฏิบัติหรือไม่ใช่ปฏิบัติ แล้วปฏิบัตินั้นเป็นธรรมะหรือไม่เป็นธรรมะ ขึ้นอยู่กับความเข้าใจ
ขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ปฏิบัติธรรมะหรือเปล่าคะ ท่านพระอัสสชิกำลังเดินบิณฑบาต แล้วท่านพระสารีบุตรเห็นว่าพระภิกษุรูปนี้มีกิริยาที่เป็นสมณะจริงๆ ธรรมะของท่านต้องเป็นธรรมะที่น่าเลื่อมใส เพราะเหตุว่าท่านจึงได้ติดตามท่านพระอัสสชิไป และขอให้ท่านพระอัสสชิแสดงธรรม ในขณะที่ท่านพระสารีบุตรฟังธรรมจากท่านพระอัสสชิ ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่าคะ เพราะเมื่อจบคำสั้นๆ ท่านพระสารีบุตรรู้แจ้งอริยสัจธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะฉะนั้น ในขณะที่กำลังฟังนั้น ท่านพระสารีบุตรปฏิบัติธรรมหรือเปล่า
เพราะฉะนั้น ปฏิบัติ ไม่ใช่เรานั่งหลับตา ไม่ใช่เราเดินทำอาการที่ผิดปกติ แต่ขณะใดที่ปัญญาเกิดพร้อมสติที่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมะด้วยความเข้าใจจนประจักษ์แจ้งในการเกิดดับ
เพราะฉะนั้น ขณะนี้หรือขณะไหน ทุกขณะ สติปัญญาเกิดขณะใด สติปัญญาปฏิบัติกิจของสติปัญญา คือระลึกแล้วค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ เข้าใจ สะสมไป จนกว่าจะถึงเวลารู้แจ้งอริยสัจธรรม ซึ่งจะเป็นขณะไหนก็ได้ ขณะที่วัวขวิดก็ได้ ขณะไหนก็ได้ทั้งนั้น เพราะในขณะนี้สภาพธรรมะก็เป็นของจริงซึ่งกำลังเกิดดับ เป็นอริยสัจธรรม คือบุคคลในประจักษ์แจ้งความจริงของสภาพธรรมะนี้ บุคคลนั้นก็เป็นพระอริยบุคคล เป็นผู้เจริญจริงๆ เพราะเหตุว่าเจริญจากอวิชชาสู่วิชชา สามารถรู้สภาพธรรมะได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจผิดว่า ปฏิบัติธรรมะจะเป็นอย่างอื่น
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ไม่ควรตื่นเต้นกับคำว่า สมาธิ แต่ควรที่จะได้พิจารณาว่าจุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อเข้าใจพระธรรมตามความเป็นจริง ดังนั้น เมื่อได้ยินได้ฟังคำอะไร ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งนั้น คือ อะไร และประการที่สำคัญ พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ทุกคำ ทุกพยัญชนะ เพื่อให้เข้าใจความจริง แม้แต่ คำว่า สมาธิ ก็เช่นเดียวกัน
สมาธิ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว เป็นเจตสิกประการหนึ่งที่ตั้งมั่นในอารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด อารมณ์ คือ สิ่งที่จิตรู้ เมื่อจิตเกิดขึ้นต้องรู้อารมณ์ และ ก็จะต้องมีสมาธิซึ่งเป็นเอกัคคตาเจตสิกเกิดร่วมกับจิตทุกครั้งทุกขณะ ไม่เว้นเลย ตั้งมั่นในอารมณ์ที่จิตกำลังรู้ ดังนั้น ไม่ว่าจะนั่ง จะยืน จะนอน จะเดิน จึงไม่ปราศจากสมาธิเลย เพราะเกิดกับจิตทุกขณะ และที่ควรพิจารณาคือ สมาธิหรือเอกัคคตาเจตสิก เกิดกับอกุศล ก็เป็นอกุศลสมาธิ ไม่ควรเจริญ ไม่ควรประกอบ เพราะไม่เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม มีปัญญาเป็นต้น มีแต่จะเพิ่มพูนความไม่รู้และอกุศลธรรมอื่นๆ ต่อไป อกุศลสมาธิ จะดีไม่ได้เลย เพราะเป็นอกุศล
สมาธิที่ควรอบรมคือสัมมาสมาธิซึ่งเป็นไปพร้อมกับการอบรมเจริญปัญญา (ภาวนา) ในชีวิตประจำวัน ภาวนาไม่ใช่การท่องบ่น แต่เป็นการอบรมเจริญปัญญา จากที่ยังไม่มีก็มีขึ้น เมื่อมีแล้วก็อบรมเจริญให้มีมากยิ่งขึ้นต่อไป ซึ่งจะต้องตั้งต้นที่การฟังพระธรรม ฟังในสิ่งที่มีจริงบ่อยๆ เนืองๆ นี้จึงจะเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะถูกต้อง ไม่เป็นไปในฝ่ายผิด
อีกคำหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำ เพราะเหตุว่า ปฏิบัติธรรม ไม่ใช่การไปทำอะไรที่ผิดปกติขึ้นมาด้วยความเป็นตัวตนหรือความติดข้องต้องการ แต่ธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม นั่นก็คือ สติ และ สัมปชัญญะ (ปัญญา) เกิดขึ้นระลึกรู้ตรงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ซึ่งจะต้องอาศัยการฟัง การศึกษาพระธรรมสะสมความเข้าใจในเรื่องของสภาพธรรมไปตามลำดับ เพราะเหตุว่าถ้าไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว การปฏิบัติถูกต้อง ย่อมมีไม่ได้อย่างแน่นอน ที่สำคัญจะขาดการฟังพระธรรม ไม่ได้เลยทีเดียว ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...