สัตว์ตื้น แต่คนลึก ..?
สัตว์ตื้น แต่คนลึก หมายถึงอะไร
มีที่ไหนบ้าง.. พุทธพจน์/อรรถกถา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เรื่อง สัตว์ตื้น มนุษย์รกชัฏ
[เล่มที่ 40] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ -หน้าที่ 234
ข้อความบางตอนจาก
เรื่อง พระนางสามาวดี
ชื่อว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนั้น เป็นสัตว์มีชาติซื่อตรง ไม่คดโกง; ส่วนมนุษย์ใจคิดไปอย่าง ปากพูดไปอย่าง (ไม่ตรงกัน) เพราะเหตุนั้นแล นายเปสสะผู้เป็นบุตรของนายควาญช้าง จึงกล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือมนุษย์นี้รกชัฏ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจก คือสัตว์ของเลี้ยงนี้ตื้น.
ซึ่งในข้อความในพระไตรปิฎกจะแสดงให้เห็นว่า สัตว์เดรัจฉานนั้น ตื้น หมายความว่า คิดอย่างไรก็แสดงอย่างนั้น ไม่มีความคิดปรุงแต่งมากมายเหมือนมนุษย์ ส่วนมนุษย์นั้นรกชัฏเพราะกาย วาจาไม่ตรงกับใจ เป็นต้นเพราะมากไปด้วยความคิดปรุงแต่ง เพราะเป็นผู้รู้เข้าใจในเหตุการณ์ต่างๆ มากกว่าสัตว์เดรัจฉาน ครับ
ขออนุโมทนา
ในพระไตรปิฏกมีแสดงไว้ เสียงของสุนัข เสียงของนก รู้ได้ง่าย แต่เสียงของมนุษย์รู้ได้ยากกว่านั้น อนึ่ง ผู้ใดเมื่อก่อนเป็นผู้ใจดี คนทั้งหลายนับถือว่าเป็นญาติเป็นมิตรหรือเป็นสหาย ภายหลังผู้นั้นกลับกลายเป็นศัตรูไปก็ได้ ใจของมนุษย์รู้ได้ยากอย่างนี้
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
มนุษย์ (คน) ลึก ถ้าเทียบกับสัตว์ดิรัจฉาน เพราะเหตุว่ามนุษย์เป็นผู้ที่หนาแน่นด้วยกิเลส มากไปด้วยกิเลสประการต่างๆ สัตว์ตื้นกว่ามนุษย์ เพราะสัตว์ดิรัจฉานไม่มีการปิดบัง ไม่มีการซ่อนเร้นเท่ามนุษย์ สัตว์ดิรัจฉานจะแสดงกิริยาอาการคดโกงอย่างไร ก็ปรากฏให้เห็นอย่างนั้นเลย แต่สำหรับมนุษย์แล้ว เพราะกิเลสที่มีมากมายสะสมซ่อนเร้นแอบแฝงอยู่ ยากที่จะรู้ได้ ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...