อยากทราบรายละเอียดเรื่องเจตสิก

 
Chaowat
วันที่  6 ส.ค. 2563
หมายเลข  32632
อ่าน  1,396

ได้ฟังธรรมะรายการหนึ่งบอกว่าเจตสิกมี​ 9​ ดวง​ พอมาศึกษาในบ้านธัมมะนี้มี​ 52​ ดวง​ สรุปคืออย่างไรกันแน่ครับ​ มีปรากฏในข้อความจากพระไตรปิฎกด้วยหรือไม่​ครับ​ ขอบคุณครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตสิก หมายถึง สภาพธรรมที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และสำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ ก็อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต เจตสิกมีมากมายถึง ๕๒ ประเภท มีผัสสะ เวทนา สัญญา เป็นต้น เป็นจริงแต่ละหนึ่ง มีลักษณะเฉพาะของตนๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของตนๆ แล้วก็ดับไป เจตสิกย่อมเกิดขึ้นกับจิตตามสมควรแก่จิตประเภทนั้นๆ

สิ่งที่มีจริงคือเจตสิก จึงหมายถึง สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต คือ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน เกิดที่เดียวกัน และรู้อารมณ์เดียวกันกับจิต จึงเป็นสัมปยุตตธรรมซึ่งกันและกัน เพราะเป็นนามธรรมที่สามารถกลมกลืนกันได้อย่างสนิท เจตสิกมี ๕๒ ดวง (ประเภท) จำแนกเป็นพวกใหญ่ๆ ได้ ๓ พวก คือ...

๑. อัญญสมานาเจตสิกมี ๑๓ ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิตอื่น คือเกิดกับจิตชาติใดก็เป็นชาตินั้น อัญญสมานาเจตสิกจึงเกิดได้กับจิตทั้ง ๔ ชาติ

๒. อกุศลเจตสิก ๑๔ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ก็ยังแยกประเภท เช่น โลภเจตสิกเกิดได้กับโลภมูลจิต โทสเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต โมหเจตสิกเกิดได้กับอกุศลจิตทุกดวง เป็นต้น

๓. โสภณเจตสิก ๒๕ ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิตแต่ละดวงมีเจตสิกเท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง แล้วแต่การประกอบ


จิต กับ เจตสิก ต้องเกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน รู้อารมณ์เดียวกัน และ เกิดที่ที่เดียวกัน

ดังนั้น จิต เกิด โดยไม่มีเจตสิกไม่ได้ ต้องอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ดั่งเช่น จิตเห็น ขณะที่เห็นเกิดขึ้น ก็ต้องมีผัสสเจตสิกเกิดร่วมด้วย ถ้าไม่มีการกระทบที่เป็นผัสสเจตสิก ก็ไม่มีการเกิดขึ้นของจิตเห็นเลย หรือ ความติดข้อง ที่เป็นโลภมูลจิต ถ้าไม่มีโมหเจตสิก ความไม่รู้ ก็คงไม่ติดข้อง เพราะฉะนั้น ก็ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอ มี โมหเจตสิก ที่ไม่รู้เป็นต้น เกิดร่วมด้วยในขณะนั้น ครับ

อุปมาเหมือน การจะเดินไปได้ก็ต้องอาศัยคนสองคน คือ คนตาบอดกับคนขาเปลี้ย คนตาบอดก็อุ้มคนขาเปลี้ยแต่ตาดี คนขาเปลี้ยบอกทาง คนตาบอดที่อุ้มก็ทำหน้าที่เดินไป ก็อาศัยซึ่งกันและกัน จึงจะเดินไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง จิต เจตสิก ก็ต้องอาศัยกันและกันจึงเกิดขึ้นได้ ครับ

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เจตสิก
เป็นสภาพธรรมที่ประกอบกับจิต เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ ดังข้อความใน อัฏฐสาลินี อรรถกถา พระอภิธรรมปิฎก ธรรมสังคณีปกรณ์ ตอนหนึ่งว่า สภาพธรรมที่ประกอบกับจิต โดยไม่พรากจากกัน ชื่อว่า เจตสิก


ธรรมที่เป็นเจตสิก เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว มีดังนี้ .-

ธรรมเป็นเจตสิก เป็นไฉน?

เวทนาขันธ์ (ความรู้สึก) สัญญาขันธ์ (ความจำ) สังขารขันธ์ (สภาพธรรมที่ปรุงแต่งจิต มีผัสสะ สภาพธรรมที่กระทบอารมณ์ เจตนา ความจงใจ เป็นต้น) สภาพธรรมเหล่านี้ ชื่อว่า ธรรมเป็นเจตสิก.

(พระอภิธรรมปิฎก ธัมมสังคณีปกรณ์)


ถึงแม้ว่าเจตสิกจะมีทั้งหมด ๕๒ ประเภท แต่ก็ไม่ได้เกิดพร้อมกันทีเดียวหมดทั้ง ๕๒ ประเภท ก็ต้องเกิดตามควรแก่จิตประเภทนั้นๆ เจตสิกที่เป็นอกุศล จะเกิดร่วมกับจิตฝ่ายดีไม่ได้เลย เจตสิกฝ่ายดีก็จะเกิดกับอกุศลไม่ได้ และบางเจตสิก มีความเสมอกันกับจิตประเภทนั้นๆ เช่น เจตนาเจตสิก เกิดกับจิตฝ่ายดีก็ได้ ฝ่ายไม่ดี ก็ได้ ฝ่ายที่เป็นวิบาก ก็ได้ ที่เป็นกิริยา ก็ได้ ซึ่งจะต้องค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อยจริงๆ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้อง ว่า เป็นธรรม ไม่ใช่เรา ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 9 ส.ค. 2563

เจตสิกทั้งหมดมี 52 ประเภท ทำกิจหน้าที่ต่างกัน เช่น โลภะ โทสะ โมหะ เป็นเจตสิก เป็นต้นค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
เฉลิมพร
วันที่ 12 ส.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ก.ไก่
วันที่ 11 ส.ค. 2567

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ