ขอเรียนถามเรื่อง ทศพิธราชธรรม ครับ

 
nontacha
วันที่  8 ส.ค. 2563
หมายเลข  32636
อ่าน  679

ขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ทศพิธราชธรรม มาจากคำว่าอะไร มีกล่าวในพระไตรปิฎกหรือไม่ และทรงเคยแสดงกับใครบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 8 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม ๑๐ คือ จริยวัตร ๑๐ ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งทศพิธราชธรรม ประกอบด้วย คุณธรรม ๑๐ ประการดังนี้ครับ

1. ทาน (ทานํ) หมายถึง การให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย และให้อภัยทาน และธรรมทาน ครับ

2. ศีล (ศีลํ) คือ ความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา

3. บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม และยอมบริจาคทุกสิ่งแม้ชีวิต เพื่อรักษา ราขอาณาจักร หรือ ที่ที่ตนปกครอง เพื่อส่วนรวม

4. ความซื่อตรง (อาชชวํ) คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต

5. ความอ่อนโยน (มัททวํ) คือ การมีความอ่อนโยน มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า และอ่นอโยนด้วยกุศลจิตด้วยกาย วาจาและใจ มีต่อพระภิกษุ เป็นต้น

6. ความเพียร (ตปํ) คือ มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน

7. ความไม่โกรธ (อกฺโกธ) คือ ความไม่โกรธ แม้มีผู้อื่นมาด่าว่า ทำร้าย ทางกายและวาจาเพราะถ้าโกรธแล้ว ย่อมเกิดอคติ ทำผิด เป็นโทษกับบ้านเมืองได้

8. ความไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา) คือ การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น

9. ความอดทน (ขันติ) คือ การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจให้เรียบร้อย และอดทนต่อสิ่งที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา

10. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนํ) คือ ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลักไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ ไม่มีอคติ

จากที่กล่าวมา ในคุณธรรมของ ทศพิธราชธรรม ความละเอียด คือ ทั้งหมด ล้วนเป็นไปในกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายดีทั้งสิ้น ที่สำคัญการรักษาทศพิธราชธรรม ชื่อว่า รักษาตนเอง ด้วยคุณความดี และ เมื่อรักษาตนเองแล้ว ชื่อว่ารักษาผู้อื่นด้วย เพราะเมื่อตนเองทำความดี คนอื่น และ บ้านเมืองก็ย่อมสงบสุข เพราะความสงบสุขมีได้ เพราะ ความดีกุศลธรรม ไม่ใช่เพราะ อกุศลธรรม ทศพิธราชธรรม จึงเป็นคุณธรรมที่ผู้ปกครอง เมื่อประพฤติปฏิบัติ ย่อมนำมาซึ่งความสุข กับตนเอง และผู้อื่น ครับ

สมดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ครับว่า ผู้รักษาตนเอง ชื่อว่า ผู้รักษาผู้อื่นด้วย รักษาตนเองด้วยคุณความดี รักษาผู้อื่น ด้วย เพราะความดีไม่มีโทษ นำมาซึ่งความสุข ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
khampan.a
วันที่ 8 ส.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก เล่ม ๓ ภาค ๔ - หน้าที่ ๒๕๖

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในพระนครพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระเจ้าพรหมทัตนั้น พอเจริญวัยก็เล่าเรียนศิลปะทั้งปวงในเมืองตักกศิลา เมื่อพระราชบิดาสวรรคตแล้วก็ดำรงอยู่ในราชสมบัติ มิได้ทรงยังทศพิธราชธรรมให้กำเริบ ครองราชสมบัติโดยธรรมสม่ำเสมอ บำเพ็ญทาน รักษาศีล ๕ รักษาอุโบสถกรรม ….


ความดี เป็นสิ่งที่ดี ไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็ดีทั้งนั้น จะเปลี่ยนแปลงความดี ให้เป็นสิ่งที่ไม่ดี ย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะธรรมเป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น ผู้ที่มีความดีเกิดขึ้นหรือประกอบด้วยความดีประการต่างๆ ก็เรียกว่า เป็นคนดี ยกตัวอย่างพระราชาผู้ชอบใจธรรม ทรงธรรม ตั้งอยู่ในกุศลธรรม ประพฤติอยู่ในกุศลธรรม มีการให้ทานช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น เป็นต้น เว้นจากความชั่วและอคติทั้งปวง ย่อมเป็นผู้ประกอบด้วยความดี คือ กุศลธรรม เพราะมีกุศลธรรม จึงทำให้พระราชา เป็นพระราชาที่ดี กล่าวคือ ดีด้วยกุศลธรรม ไม่ใช่ด้วยอย่างอื่น แต่ การเป็นคนดี ไม่ได้จำกัดเฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง เป็นคนดีได้ทุกเพศ ทุกวัย เป็นคนดีได้ทุกตำแหน่ง ทุกฐานะ แม้ไม่มีตำแหน่ง ก็เป็นคนดีได้ ในทางตรงกันข้ามอกุศล เป็นสิ่งที่ไม่ดี จะน้อยจะมาก ก็ไม่ดี และเกิดกับใครก็ไม่ดีทั้งนั้น

กุศล ควรอบรมเจริญในชีวิตประจำวัน แต่อกุศล เป็นสิ่งที่ควรละ ในขณะที่กุศลเกิดขึ้น ก็กำจัดอกุศลแล้วในขณะนั้น เพราะกุศลกับอกุศลจะเกิดพร้อมกันไม่ได้ กุศลเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องขัดเกลาละคลายอกุศล ครับ.

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ