[คำที่ ๔๖๘] วิสฺสธมฺม

 
Sudhipong.U
วันที่  17 ส.ค. 2563
หมายเลข  32662
อ่าน  940

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วิสฺสธมฺม

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

คำว่า วิสฺสธมฺม เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง อ่านตามภาษาบาลีว่า วิด - สะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า วิสฺส หมายถึง พิษ,สิ่งที่เป็นอันตราย, สิ่งที่เป็นโทษ กับคำว่า ธมฺม สิ่งที่มีจริง รวมกันเป็น วิสฺสธมฺม แปลว่า สิ่งที่มีจริงซึ่งมีพิษ (คือ กิเลส) มุ่งหมายถึงพิษ กล่าวคือ กิเลสที่มีอยู่ในใจของผู้ที่ยังไม่สามารถดับกิเลสได้ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิต เป็นสภาพธรรมที่เป็นอกุศล ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลย มีแต่นำมาซึ่งทุกข์โทษภัยเท่านั้น และถ้าเป็นกิเลสที่มีกำลังถึงขั้นเป็นการกระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เช่น ฆ่าสัตว์ ประทุษร้าย เบียดเบียนผู้อื่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้นแล้ว ก็เป็นเหตุให้เกิดผลที่เป็นทุกข์ มีผลที่เป็นทุกข์ตามมาและการที่จะค่อยๆ กำจัดพิษคือกิเลสได้ ก็ต้องอาศัย คือ พึ่งพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เหมือนอย่างพระอริยสาวกทั้งหลายในอดีตที่ท่านสามารถดับหรือกำจัดพิษคือกิเลสได้ ก็เพราะได้อาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง และพิษที่น่ากลัวและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง คือ ความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามข้อความในวิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน อุบาลีเถราปทาน ดังนี้

“ยาพิษอันกล้าแข็งที่บุคคลดื่มแล้ว ย่อมยังชีวิตให้พินาศ ได้ครั้งเดียว แต่คนที่ผิดในพระศาสนาแล้ว ย่อมถูกเผาในโกฏิกัปป์ (คือ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน) ”.

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เปิดเผยความจริง เพื่อให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงซึ่งเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ ตรงตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร ไม่ใช่สภาพรู้) ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับพืชเชื้อของกิเลส อันเป็นกิเลสที่ละเอียดที่จะต้องถูกดับด้วยอริยมรรค (โสดาปัตติมรรค ถึงอรหัตตมรรค) ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้กิเลสขั้นที่กลุ้มรุมจิตเกิดขึ้น และถ้ามีกำลังกล้าสะสมมากขึ้น ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการประทุษร้ายต่อผู้อื่น เป็นต้น และเป็นที่น่าพิจารณาอีกว่า แต่ละบุคคลสะสมกิเลสมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลส ซึ่งได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่าขณะจิตที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง เป็นต้น ตลอดเวลาที่จิตไม่เป็นไปในการให้ทาน สละสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ได้เป็นไปในศีล คือ เว้นในสิ่งที่เป็นโทษและประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่อกุศลจะเกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง อาจจะติดข้องมากๆ ก็ได้ อาจจะโกรธมากๆ ก็ได้ เพราะยังไม่ได้ดับกิเลสนั่นเอง พร้อมทั้งแสดงให้เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมได้ว่าธรรมเกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจริงๆ ไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ชีวิตประจำวันของปุถุชนผู้ที่หนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าอกุศลจิต ย่อมเกิดขึ้นมากกว่ากุศลจิต ถ้ามีใครบอกว่าวันหนึ่งๆ กุศลจิตของเขาเกิดมากกว่าอกุศลจิต นั่นไม่ตรงตามความเป็นจริง เพราะจิตที่เป็นอกุศล มีหลายระดับ ตั้งแต่ชนิดที่บางเบาไหลไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย และทางใจ จนกระทั่งมีกำลังกล้าถึงกับล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน และเพราะยังมีกิเลสที่ละเอียดที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ซึ่งยังดับไม่ได้ จึงเป็นปัจจัยให้กิเลสในระดับต่างๆ เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อกิเลสเกิดขึ้นประกอบกับจิตขณะใด ก็ทำให้เป็นอกุศลจิต เพราะเหตุว่า กิเลส ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตนั้นจะเกิดร่วมกับจิตชาติกุศล ชาติวิบาก และชาติกิริยา ไม่ได้เลย ต้องเกิดร่วมกับจิตชาติอกุศลเท่านั้น นี้คือความเป็นจริงของธรรม ที่ใครๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ตามความเป็นจริงแล้ว กิเลสเป็นสภาพธรรมที่มีจริง เป็นอกุศลธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล ขึ้นชื่อว่าอกุศลธรรมแล้ว เป็นสิ่งที่น่ารังเกียจทั้งหมด ไม่ว่าจะเกิดกับใครก็ตาม และเป็นสภาพธรรมที่นำมาซึ่งทุกข์ นำมาซึ่งโทษโดยส่วนเดียวเท่านั้น

เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาจริงๆ ว่า ขณะที่จิตเป็นอกุศล ด้วยอำนาจของโลภะ (ความติดข้อง) บ้าง โทสะ (ความโกรธขุ่นเคืองใจ) บ้าง โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) บ้าง สิ่งที่เป็นพิษได้เกิดขึ้นทำร้ายจิตใจของผู้นั้นแล้ว ทำร้ายยิ่งกว่าพิษภายนอกเสียอีก เพราะพิษคือกิเลสเป็นโทษโดยตลอด นำมาซึ่งโทษโดยส่วนเดียว ไม่นำมาซึ่งประโยชน์ใดๆ เลยแม้แต่น้อย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ส.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ