ไม่รู้ก็เป็นกิเลส

 
khampan.a
วันที่  1 ก.ย. 2563
หมายเลข  32874
อ่าน  393

หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๑๕๕]

ไม่รู้ก็เป็นกิเลส


ที่ได้ยินคำว่ากิเลส ก็หมายความถึง สภาพที่มีจริง แต่เป็นสภาพที่เศร้าหมองไม่ผ่องใสเกิดเมื่อไหร่จิตขณะนั้นลำบาก แต่ไม่รู้ตัวเลยว่ามีความติดข้องหรือมีโทสะหรือมีความขุ่นใจหรือมีความไม่พอใจทั้งหมดที่เป็นสิ่งที่ไม่ดีนำมาซึ่งโทษต่างๆ แต่ก็ไม่รู้เลย มองไม่เห็นด้วย

ได้ยินแว่วๆ คำว่า กิเลส แล้วอยู่ไหน นี่คือความลึกซึ้ง ไม่ใช่ว่าได้ยินคำนี้แต่ไม่รู้ว่าอยู่ไหน เดี๋ยวนี้หรือเมื่อกี้นี้มีโลภะมีความติดข้องในผลของการฟังหรือเปล่า? หรือว่า เพราะไม่รู้ จึงฟัง จะได้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่กำลังมีจริงๆ ในขณะนั้น เพราะฉะนั้น ผลของการฟังคือเข้าใจขึ้น แล้วก็เข้าใจขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่ฟัง เพราะฉะนั้นจากการที่ไม่รู้ว่ากิเลสคืออะไร กิเลสอยู่ที่ไหน แล้วก็จะดับกิเลสได้อย่างไร ก็จะมีความเข้าใจในสิ่งที่ได้ยินได้ฟังชัดเจนขึ้น เพราะฉะนั้น การฟังธรรม ไม่ใช่ว่าเราอยากจะไปถึงไหนหมดกิเลสเร็วๆ หรือว่ารู้เรื่องของสภาพที่มีจริงมากๆ แต่เพียงฟังให้เข้าใจว่าขณะนี้กำลังฟังอะไรเรื่องอะไร ฟังให้เข้าใจสิ่งที่กำลังมีจริงในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้เป็นกิเลสหรือเปล่า? บางคนไม่คิดถึงเลย คิดถึงแต่โลภะ โทสะ มานะ (ความสำคัญตน) ริษยา อะไรๆ ที่เกิดจากการกระทำที่มองเห็นได้ แต่ไม่รู้เลยว่าไม่รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏนี่ก็เป็นกิเลส เพราะฉะนั้น จะไปเอากิเลสมาละกิเลสเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่าความไม่รู้จะนำมาซึ่งความรู้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ความไม่รู้ตรงกันข้ามหรือต่างกับสภาพธรรมที่เป็นความรู้ถูกความเข้าใจถูก ด้วยเหตุนี้ เพราะมีความไม่รู้ จะใช้ชื่อว่าเพราะมีกิเลสตัวร้ายที่สุดซึ่งเป็นมูลให้เกิดอกุศลทั้งหมดเลยเพราะความไม่รู้ เมื่อรู้อย่างนี้ว่าไม่รู้ จึงฟังเพื่อที่จะรู้ เพราะว่า รู้ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่รู้ก็เป็นสิ่งที่มีจริง เพราะฉะนั้น ฟังธรรมเพื่อให้เข้าใจความจริงว่าเป็นเพียงสิ่งที่มีจริงๆ ชั่วคราวบังคับบัญชาไม่ได้แล้วก็ไม่ใช่ของใครด้วย แล้วก็ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะหวังจะให้เกิดหรือว่าจะมีใครไปทำให้เกิดขึ้น ก็ไม่ได้ นี่คือ ความจริงล้วนๆ ของสิ่งที่มีจริงที่จะค่อยๆ เข้าใจขึ้นได้จากการฟังและไตร่ตรองว่าเมื่อไหร่ที่สภาพธรรมปรากฏแล้วไม่รู้ เมื่อนั้นจะเริ่มรู้ได้ด้วยการฟังเท่านั้น


กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 12 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ