การแสดงธรรม

 
sakol
วันที่  2 ก.ย. 2563
หมายเลข  32949
อ่าน  3,260

ผมขออนุญาตเรียนถามนะครับ

ผมได้คัดลอกจาก ผมไม่ทราบว่าจริงแล้วเมื่อพระรับบิณฑบาตรแล้วให้พรผิดพระวินัยหรือไม่ เพราะจากที่ผมคัดลอกมาได้อธิบายอย่างนี้ ถ้าผมทำอะไรไม่ควรก็ขออภัยด้วยครับ ต้องการความกระจ่างในพระวินัยจริงๆ ด้วยความเคารพครับ

การแสดงธรรม คืออะไร?

คราวนี้เราก็มาดูกันว่า แล้วการให้พรของพระภิกษุถือว่าเป็นการแสดงธรรมหรือไม่? เราก็ต้องมาดูความหมายของคำว่า “แสดงธรรม” กันก่อน การแสดงธรรมนั้นหมายถึงการพูดหรือกล่าวธรรมกถาที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ หรือเป็นคติธรรมหรือถ้อยคำที่สอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในทางเจริญ เป็นต้น แต่การกล่าวให้พรของพระภิกษุ เช่น “ขอให้ญาติโยมจงมีความสุขความเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เทอญ” ดังนี้ ไม่จัดว่าเป็นการแสดงธรรมแต่อย่างใด เพราะไม่เข้าข่ายเป็นธรรมกถาเลย เป็นเพียงการอวยชัยให้พรแบบธรรมดาเท่านั้น แม้ว่าจะกล่าวเป็นภาษาบาลีก็ตาม แต่ถ้าแปลออกมาแล้วไม่ใช่ธรรมกถา ก็ไม่ถือว่าเป็นการแสดงธรรมเช่นกัน

ส่วนคำให้พรที่พระส่วนใหญ่นิยมกันในปัจจุบันนี้ คือ คาถาอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี ตอน อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง ... ฯลฯ ... ซึ่งแปลออกมาได้ใจความว่า “ธรรมสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติไหว้กราบ ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ” ตรงนี้เองที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ข้อความนี้จัดเป็นธรรมกถาหรือไม่? พระผู้ใหญ่บางรูปก็ว่าเป็นธรรมกถา บางรูปก็ว่าไม่เป็นธรรมกถา แต่เป็นเพียงการให้พรธรรมดาเท่านั้น เพราะบาลีบทนี้นำมาจากบทอนุโมทนาวิธี เวลาพระอนุโมทนาบุญของชาวบ้านที่มาถวายอาหารทั่วไป ซึ่งการถกเถียงยังไม่เป็นที่สิ้นสุดหรือชี้ขาดไปได้ แต่โดยความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าว่าบาลีบทนี้ “อาจจะ” ถือว่าเป็นธรรมกถาได้ เพราะถือเป็นคำสอนธรรม แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ขอชี้ขาดลงไปเช่นเดียวกัน


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 3 ก.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๙๔๐

ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่จักไม่แสดงธรรม แก่คนไม่เจ็บไข้ ผู้นั่งอยู่ ภิกษุผู้ยืนอยู่ ไม่พึงแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ภิกษุใดอาศัย ความไม่เอื้อเฟื้อ ยืนแสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่ ต้องอาบัติทุกกฏ *


* หมายเหตุ

- คำว่า อาบัติ หมายถึง การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เป็นโทษสำหรับผู้ล่วงละเมิด

-คำว่า ทุกกฏ หมายถึง การกระทำที่ชั่ว การกระทำที่ผิด การกระทำที่พลาด การกระทำที่แย้งกับกุศล การกระทำที่แย้งกับคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การกระทำที่ไม่สามารถก้าวไปสู่การรู้แจ้งความจริงได้)


พระภิกษุ เวลาท่านออกบิณฑบาต ท่านก็มีกิจที่สมควร คือ มีข้อวัตร ต่างๆ เช่น นุ่งห่มเรียบร้อย มีความสำรวม ไม่เวิกผ้า ไม่ส่งเสียงดัง เป็นผู้สายตาทอดลง เวลามีผู้ถวายอาหารลงในบาตร ก็ต้องมองเฉพาะในบาตร ไม่มองหน้าผู้ถวาย เมื่อรับเสร็จแล้ว ก็เดินไปด้วยความเรียบร้อย ไม่รีบร้อน เป็นต้น

นี่เป็นเหตุผลอันสำคัญที่คฤหัสถ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาพระวินัย คือ เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่นำมาซึ่งโทษแก่ใครๆ เลย มีแต่จะเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลทั้งแก่ตนเอง และ แก่ผู้อื่น ด้วย สำหรับประเด็นเรื่องการให้พรของพระภิกษุในขณะที่ออกรับบิณฑบาตในตอนเช้า ก็เช่นเดียวกัน เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่? แม้จะเป็นคำไทย เป็นการอวยพร ก็ดูไม่เหมาะ เพราะกล่าวเพื่ออะไร? เพื่อประจบประแจง เพื่อให้คฤหัสถ์ชอบ ย่อมไม่เหมาะโดยประการทั้งปวง

อีกทั้งในข้อวัตรในการบิณฑบาต ไม่มีว่าจะต้องกล่าวคำอวยพรให้กับคฤหัสถ์ และ เมื่อได้ศึกษาพระวินัยอย่างถูกต้องแล้ว จะเข้าใจว่าการที่พระภิกษุท่านกล่าวคำที่เป็นภาษาบาลีว่า อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ เป็นต้น นั่นคือ บทแห่งธรรม เป็นธรรมกถา เป็นถ้อยคำที่กล่าวถึงความเป็นจริง แปลความได้ว่า “ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณ สุข พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติกราบไหว้ มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิตย์” ซึ่งแสดงถึงผลที่ดีที่เกิดขึ้นจากเหตุที่ดี คือ กุศลธรรม ถ้าผู้ใดกล่าว ก็เป็นการแสดงธรรม

ถ้าพระภิกษุแสดงธรรมแก่ผู้มีอิริยาบถที่สบายกว่า กล่าวคือ พระภิกษุ ยืน คฤหัสถ์ นั่ง เป็นการไม่เคารพธรรม เป็นอาบัติทุกกฎ มีโทษสำหรับพระภิกษุ และในขณะที่บิณฑบาต ถ้าพระภิกษุส่งเสียงดังในระแวกบ้าน (เช่น กล่าวให้พร เสียงดัง เพราะบางรูป กล่าวดังลั่น ได้ยินไกลเลย) ก็เป็นอาบัติทุกกฎ อีก เพิ่มโทษเข้าไปอีก เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว คฤหัสถ์ผู้มีปัญญา ก็จะไม่กระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้พระท่านต้องอาบัติ ก็สามารถเกื้อกูลพระภิกษุได้ เป็นการป้องกันไม่ให้ท่านต้องอาบัติในข้อนี้ได้ด้วยการกราบเรียนท่านว่าไม่ขอรับพร ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
talaykwang
วันที่ 3 ก.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เฉลิมพร
วันที่ 17 ก.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ