มหาจัตตารีสกสูตร ว่าด้วยมรรคที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๔๑
๗. มหาจัตตารีสกสูตร
ว่าด้วยมรรคที่เป็นโลกิยะและโลกุตระ
[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระพุทธดำรัสแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ แก่เธอทั้งหลาย. พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ภิกษุเหล่านั้นทูลรับ พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า
องค์ประกอบอริยสมาธิ ๗
[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายก็สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะสัมมาสติ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง
[๒๕๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฏฐิว่า มิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าสัมมาทิฏฐิ ความรู้ของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาทิฏฐิ ๑๐
[๒๕๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฏฐิเป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล ๑ ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล ๑ สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล ๑ ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี ๑ โลกนี้ไม่มี ๑ โลกหน้าไม่มี ๑ มารดาไม่มี (คุณ) ๑ บิดาไม่มี (คุณ) ๑ สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินไปชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี ๑ นี้ มิจฉาทิฏฐิ
สัมมาทิฏฐิ ๒
[๒๕๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาทิฏฐิไว้ ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก้ขันธ์อย่าง ๑ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระเป็นองค์มรรคอย่าง ๑
สัมมาทิฏฐิที่เป็นสาสวะ ๑๐
[๒๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ ความเห็นดังนี้ว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ๑ ยัญที่บูชาแล้วมีผล ๑ การสังเวยที่บวงสรวงแล้วมีผล ๑ ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วมีอยู่ ๑ โลกนี้มี ๑ โลกหน้ามี ๑ มารดามี ๑ บิดามี ๑ สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี ๑ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินไปชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้ โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในโลกมีอยู่ ๑ นี้ สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
สัมมาทิฏฐิที่เป็นอนาสวะ
[๒๕๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปัญญา ๑ ปัญญินทรีย์ ๑ ปัญญาพละ ๑ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ๑ ความเห็นชอบ ๑ องค์แห่งมรรค ๑ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล คือ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ เพื่อบรรลุสัมมาทิฏฐิความพยายามของเธอนั้น เป็น สัมมาวายามะ
สัมมาสติ
เธอมีสติละมิจฉาทิฏฐิได้ มีสติบรรลุสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของเธอนั้นเป็น สัมมาสติ
ธรรมะที่ห้อมล้อมสัมมาทิฏฐิ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้น
สัมมาทิฏฐิเป็นประธานอย่างไร
[๒๕๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าเป็น สัมมาสังกัปปะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาสังกัปปะ
[๒๖๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดำริในกาม ๑ ดำริในพยาบาท ๑ ดำริในความเบียดเบียน ๑ นี้คือ มิจฉาสังกัปปะ
สัมมาสังกัปปะ ๒
[๒๖๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าว สัมมาสังกัปปะไว้ ๒ อย่าง คือ สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑ สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรคอย่าง ๑
สัมมาสังกัปปะที่เป็นสาสวะ
[๒๖๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความดำริในเนกขัมมะ ๑ ดำริในความไม่พยาบาท ๑ ดำริในความไม่เบียดเบียน ๑ นี้ คือ สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
สัมมาสังกัปปะที่เป็นอนาสวะ
[๒๖๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่เป็นอริยะที่เป็นอนาสวะเป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ๑ ความวิตก ๑ ความดำริ ๑ ความแน่ว ๑ ความแน่ ๑ ความปักใจ ๑ วจีสังขาร ๑ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาสังกัปปะที่เป็นอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค
สัมมาวายามะ
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ.
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้ มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ
ธรรมที่ห้อมล้อมสัมมาสังกัปปะ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาลังกัปปะ ของภิกษุนั้น.
[๒๖๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่า เป็นมิจฉาวาจา รู้จักสัมมาวาจาว่า เป็นสัมมาวาจา ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาวาจา
[๒๖๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ มิจฉาวาจาเป็นไฉน คือ พูดเท็จ ๑ พูดส่อเสียด ๑ พูดคำหยาบ ๑ เจรจาเพ้อเจ้อ ๑ นี้ คือ มิจฉาวาจา
สัมมาวาจา ๒
[๒๖๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาวาจา ไว้ ๒ อย่าง คือ สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑ สัมมาวาจาที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑
สัมมาวาจาที่เป็นสาสวะ
[๒๖๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ ๑ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑ งดเว้นจากการพูดคำหยาบ ๑ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ ๑ นี้คือ สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
สัมมาวาจาที่เป็นอนาสวะ
[๒๖๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่เป็นอริยะ เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความงด ๑ ความเว้น ๑ ความเว้นขาด ๑ เจตนางดเว้น ๑ จากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของภิกษุ ผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แลคือ สัมมาวาจาที่เป็นอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค
ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้ มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ
ธรรมะที่ห้อมล้อมสัมมาวาจา
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น
[๒๖๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า เป็น มิจฉากัมมันตะ รู้จักสัมมากัมมันตะ ว่า เป็น สัมมากัมมันตะ ความรู้ของเธอนั้น เป็น สัมมาทิฏฐิ
มิจฉากัมมันตะ
[๒๗๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ มิจฉากัมมันตะ เป็นไฉน คือ ปาณาติบาต ๑ อทินนาทาน ๑ กาเมสุมิจฉาจาร ๑ นี้คือ มิจฉากัมมันตะ
สัมมากัมมันตะ ๒
[๒๗๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะไว้ ๒ อย่าง คือ สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์อย่าง ๑ สัมมากัมมันตะที่เป็นอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑
สัมมากัมมันตะที่เป็นสาสวะ
[๒๗๒] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต ๑ งดเว้นจากอทินนาทาน ๑ งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร ๑ นี้คือ สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
สัมมากัมมันตะที่เป็นอนาสวะ
[๒๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่เป็นอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความงด ๑ ความเว้น ๑ เจตนางดเว้น ๑ จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพรอ้มด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แลคือ สัมมากัมมันตะที่เป็นอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระเป็นองค์มรรค
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ
ภิกษุนั้นมีสติ ละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ
ธรรมะที่ห้อมล้อมสัมมากัมมันตะ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น
[๒๗๔] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ ภิกษุรู้จัก มิจฉาอาซีวะว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ รู้จักสัมมาอาชีวะว่าเป็นสัมมาอาชีวะ ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ
มิจฉาอาชีวะ
[๒๗๕] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การโกง ๑ การล่อลวง ๑ การตลบตะแลง ๑ การทำอุบายโกง ๑ การเอาลาภต่อลาภ ๑ นี้คือ มิจฉาอาชีวะ
สัมมาอาชีวะ ๒
[๒๗๖] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมาอาชีวะไว้เป็น ๒ อย่าง คือ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑ สัมมาอาชีวะที่เป็นอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑
สัมมาอาชีวะที่เป็นสาสวะ
[๒๗๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ย่อมละมิจฉาอาชีวะ เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์
สัมมาอาชีวะที่เป็นอนาสวะ
[๒๗๘] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่เป็นอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความงด ๑ ความเว้น ๑ เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ๑ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แลคือ สัมมาอาชีวะที่เป็นนอริยะเป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค
ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ
ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ
ธรรมะที่ห้อมล้อมสัมมาอาชีวะ
ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น
เมื่อมีสัมมาทิฏฐิก็มีสัมมาสังกัปปะพอเหมาะ ฯลฯ
[๒๗๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ
ผู้มีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาวายามะ สัมมาสติ ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะ ก็มีพอเหมาะ
ผู้มีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ ก็มีพอเหมาะ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐
[๒๘๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธาน ก็สัมมาทิฏฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ เมื่อมีสัมมาทิฏฐิก็สลัดมิจฉาทิฏฐิได้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฏฐิได้ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฏฐิสลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนก ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เพราะสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย
ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้....
ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้....
ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้....
ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้....
ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้....
ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้....
ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้....
ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้.....
ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้ ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว และกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐ ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ อันเราให้เป็นไปแล้ว สมณะหรือ พราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้
[๒๘๑] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะ หรือ พราหมณ์ ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยาย มหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว
ถ้าใครติเตียน สัมมาทิฏฐิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีทิฏฐิผิด
ถ้าใครติเตียน สัมมาสังกัปปะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสังกัปปะผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาจาผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีการงานผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีอาชีวะผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีความพยายามผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสติผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสมาธิผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีญาณผิด
ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติเขาก็ต้องบูชา สรรเสริญ ท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวิมุตติผิด
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยาย มหาจัตตารีสกะนี้ การกล่าวก่อน และการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ อันชอบด้วยเหตุของสมณะ หรือพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะ ชาวอุกกลชนบท ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ ก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ นั่นเพราะเหตุไร เพราะกลัวถูกนินทา ถูกว่าร้ายและถูกก่อความ.
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล
จบ มหาจัตตารีสกสูตรที่ ๗