[คำที่ ๔๗๕] จณฺฑ

 
Sudhipong.U
วันที่  24 ก.ย. 2563
หมายเลข  33022
อ่าน  650

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “จณฺฑ

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

จณฺฑ อ่านตามภาษาบาลีว่า จัน - ดะ เขียนเป็นไทยว่า จัณฑะ แปลว่า คนดุ เมื่อกล่าวถึงความเป็นสัตว์บุคคลแล้ว ก็เพราะมีสภาพธรรมเกิดขึ้นเป็นไปนั่นเอง แม้แต่ที่เรียกว่าเป็นคนดุ ก็เพราะเหตุว่า ยังดับกิเลสไม่ได้ ยังมีราคะ ความติดข้องยินดีพอใจ ยังมีโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ยังมีโมหะ ความหลง ความไม่รู้ เมื่อได้เหตุปัจจัย กิเลส ก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ โดยเฉพาะความโกรธ แสดงความโกรธให้ปรากฏ ซึ่งเป็นลักษณะของคนดุ อันมีมูลรากมาจากความไม่รู้ความจริง นั่นเอง

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค จัณฑสูตร มีข้อความที่แสดงถึงเหตุที่ทำให้เป็นคนดุ ดังนี้

“ดูกร นายคามณี คนบางคนในโลกนี้ ยังละราคะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละราคะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละราคะไม่ได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ คนบางคนในโลกนี้ ยังละโทสะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละโทสะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละโทสะไม่ได้ เมื่อถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ คนบางคนในโลกนี้ ยังละโมหะไม่ได้ เพราะเป็นผู้ยังละโมหะไม่ได้ คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละโมหะไม่ได้ ถูกคนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ ดูกร นายคามณี นี้เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ทำให้คนบางคนในโลกนี้ ถึงความนับว่าเป็นคนดุ เป็นคนดุ ดังนี้"


สิ่งที่มีจริงๆ เป็นธรรม ไม่ว่าจะกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงประเภทใด ล้วนแล้วย่อมไม่พ้นไปจากธรรม ทุกขณะของชีวิตคือความเกิดขึ้นเป็นไปของธรรมเท่านั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีเรา แม้แต่ความโกรธก็เป็นธรรม เพราะมีจริงๆ เกิดขึ้นจริงๆ ใครๆ ก็ปฏิเสธไม่ได้ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ลักษณะของความโกรธ คือ ขุ่นเคือง ดุร้าย กระสับกระส่าย ไม่สงบ เกิดขึ้นเมื่อใด ไม่สบายใจเมื่อนั้น เนื่องจากเวทนา (ความรู้สึก) ที่เกิดร่วมกับความโกรธ มีเพียงหนึ่งเดียว คือ โทมนัส-เวทนา เท่านั้น ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า ความโกรธ เป็นธรรม ไม่ใช่เรา

ปกติในชีวิตประจำวัน แต่ละบุคคล ล้วนมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) มากด้วยกันทั้งนั้น ทั้งราคะหรือโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจ โทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ โมหะ ความหลง ความไม่รู้ เป็นต้น แต่ถ้าถึงกับมีการล่วงออกมาเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นนั้น ขณะนั้นแสดงให้เห็นถึงกำลังของกิเลสว่ามีมากอย่างยิ่ง ขณะที่ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ก็ชื่อว่าประทุษร้ายเบียดเบียนตนเองด้วย เพราะอกุศลเกิดขึ้น เป็นโทษกับตนเองและยังเป็นเหตุให้ตนเองได้รับผลที่ไม่ดีในภายหน้าอีกด้วย มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น โดยไม่มีใครทำให้เลย

ความโกรธ ความไม่พอใจ ความขุ่นเคืองใจ เป็นสภาพธรรมที่มีจริง ว่าโดยสภาพธรรมแล้วคือ โทสเจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต คือ โทสะ) เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย เพราะตราบใดที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจจธรรมถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ย่อมมีความโกรธเป็นธรรมดา มากบ้าง น้อยบ้าง ตามการสะสมของแต่ละบุคคล เมื่อเกิดความโกรธ แสดงความโกรธให้ปรากฏ นั่นแหละ ความเป็นคนดุ ย่อมปรากฏชัดเจน ซึ่งจากปกติที่ยังไม่โกรธ ก็ดูดี ดูเรียบร้อย แต่พอโกรธขึ้นมา ก็มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือ ทางวาจา ก็ตาม นี่คือ ธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น

ความโกรธ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย และมีหลายระดับด้วย ความโกรธอย่างอ่อนๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ความหงุดหงิด ความขุ่นเคืองใจ ความรำคาญใจ แต่ถ้าหากความโกรธ มีกำลังรุนแรงมาก ก็อาจถึงขั้นประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือฆ่าผู้อื่นก็ได้นี้คือ ความเป็นจริงของอกุศลธรรม ซึ่งมีแต่โทษเท่านั้น ไม่เป็นประโยชน์แก่ใครๆ ทั้งสิ้น

ข้อที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง คือสาเหตุที่แท้จริงของความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ไม่ใช่เหตุการณ์ ไม่ใช่บุคคลอื่น แต่เป็นเพราะการสะสมความโกรธของตนเอง ซึ่งสะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ อันมีมูลรากมาจากความไม่รู้

ความโกรธ ไม่ใช่ตัวตน แต่เป็นสภาพธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย เมื่อกระทบกับสิ่งที่ไม่น่าพอใจแล้วหงุดหงิด ไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจ ขณะนั้นทราบได้ว่าจะต้องเป็นอุปนิสัยที่ตนเองได้สะสมมา จึงทำให้มีความไม่พอใจ โกรธ ขุ่นเคืองใจอยู่บ่อยๆ มากกว่าผู้ที่มีความอดทน และในเมื่อเป็นอกุศลของตนเอง ตนเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้ได้รับโทษจากอกุศลของตนเอง คนอื่นจะทำโทษให้แก่เราไม่ได้เลย นอกจากอกุศลของตนเองเท่านั้น

การที่จะค่อยๆ ละคลายความโกรธ ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นคนดุได้ ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ เป็นปัญญาของตนเอง กุศลธรรมทั้งหลาย ก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นคล้อยไปตามปัญญา ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะค่อยๆ ละคลายอกุศล และเมื่ออบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงขึ้น ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ก็จะค่อยๆ ลดน้อยลง แต่ว่ายังไม่ได้ดับอย่างเด็ดขาด จนกว่าจะถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ซึ่งจะเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า กิเลสที่มีมาก นั้น ต้องอาศัยปัญญาเท่านั้น จึงจะดับได้

ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้ศึกษาพระธรรม ก็จะเป็นเหตุให้สะสมกิเลสประการต่างๆ เป็นอุปนิสัยที่ไม่ดีหนาแน่นขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาละคลายได้ ดังนั้น การที่จะมีพระธรรมเป็นที่พึ่ง ได้นั้น จึงต้องฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง พระธรรมแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูล ไม่มีคำเท็จ ไม่มีคำหลอกลวง ไม่มีคำหวังร้ายจากทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ซึ่งควรค่าแก่การฟังการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลส ค่อยๆ เกื้อกูลจากความเป็นคนดุ ให้เป็นคนสงบเสงี่ยมขึ้นตามกำลังของปัญญา เป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
pulit
วันที่ 25 ก.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 27 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ