ธรรมดา
หทเย นิเธตพฺพยุตฺตกํ
(ข้อความที่ควรเก็บไว้ในหทัย)
[๒๕๔]
ธรรมดา
อาจารย์จักรกฤษณ์ เจนเจษฎา : กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ว่า คำว่าธรรมดาที่เราใช้กันทั่วไปนี้เราจะพิจารณาให้สอดคล้องกับทั้งภาษาบาลีและความเข้าใจในธรรมได้ถูกต้องอย่างไร
ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ : พอพูดถึงธรรมดา พูดถึงธรรมหรือเปล่า ไม่รู้เลย ใช่ไหม? แต่ความจริง เมื่อมีคำว่าธรรม ก็หมายความว่า พูดถึงสิ่งที่มีจริงๆ และความเป็นจริงของสิ่งนั้น แต่เราก็เผินมาก ธรรมดา เป็นธรรมดา ก็เป็นธรรมดาจริงๆ เพราะว่าต้องเป็นธรรมดา ธรรมจะเป็นอื่นไม่ได้ ต้องเป็นธัมมตา (ธมฺมตา) ความเป็นไปของธรรมที่จะต้องเป็นอย่างนั้น แต่คนไทยก็ไม่นิยมใช้ ต. ก็เปลี่ยนเป็น ด. ก็เป็นธรรมดา แต่ว่าเวลานี้ เห็น เกิดมาแล้วก็ต้องเห็น เป็นธรรมดาหรือเปล่า? มีใครบ้างเกิดมาแล้วไม่เห็น แต่รู้ไหมว่า นั่น เป็นธรรม ทั้งๆ ที่ใช้คำว่าธรรมดา แต่ก็ไม่รู้จักธรรมเลย เพราะฉะนั้น การศึกษาธรรม ก็จะทำให้เราเข้าใจคำที่เราพูดและรู้จักความจริงของคำนั้นด้วย ไม่ใช่พูดคำที่ไม่รู้จัก แต่ว่าพูดคำที่รู้จักขึ้น ว่า แท้ที่จริงแล้ว ก็ต้องหมายความถึงสิ่งที่มีจริง แม้แต่ธรรมดา ก็ต้องเป็นธรรมด้วย
เกิดมาแล้ว ต้องตาย เป็นธรรมดาไหม? ก็เป็นธรรมดา คือ ความเป็นไปของธรรมซึ่งเกิดแล้วก็ดับแล้วก็เกิดดับสืบต่อตามเหตุตามปัจจัย จนกว่าถึงกาลที่จะสิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้ ก็จะเป็นบุคคลนี้ต่อไปอีกไม่ได้ ก็ตาย เป็นธรรมดา คือ ทุกอย่างก็เป็นธรรมทั้งหมด ถ้าใช้คำว่าธรรมดา ก็ต้องเข้าใจด้วย เพราะฉะนั้น จากการฟังการศึกษาธรรมและการเข้าใจธรรมก็จะไม่พูดคำว่าธรรมดาผิวเผิน แต่ก็มีความเข้าใจในความเป็นธรรมที่ต้องเป็นอย่างนั้นด้วย
กราบเท้าบูชาคุณ ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... เก็บไว้ในหทัย