ทำไมแต่ละคนจึงคิดต่างกัน

 
unnop.h
วันที่  13 ต.ค. 2563
หมายเลข  33095
อ่าน  606

* พื้นฐานความเข้าใจคือ

- ขันธ์ คือสภาพธรรมที่อาศัยปัจจัยปรุงแต่ง เกิดแล้วดับ จึงไม่ใช่ตัวตนใดๆ จำแนกเป็น 5 ขันธ์ (คือ 5 ส่วน) ได้แก่ รูปขันธ์ (สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย) เวทนาขันธ์ (สภาพที่เป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ) สัญญาขันธ์ (สภาพที่จำในสิ่งที่ปรากฏ) สังขารขันธ์ (สภาพที่ปรุงแต่งจิต) และวิญญาณขันธ์ คือ จิต ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งสิ่งที่ปรากฏ

- สังขารขันธ์ คือเจตสิก (เว้นเวทนา และสัญญา) ซึ่งเป็นสภาพรู้ที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต เจตสิกแต่ละอย่าง ก็มีกิจหน้าที่แต่ละอย่าง เช่น วิตก (วิ-ตะ-กะ) เป็นสภาพที่จรด หรือตรึกในสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ มนสิการ เป็นสภาพที่ใส่ใจในสิ่งที่กำลังปรากฏให้รู้ เป็นต้น

* คิดผิด ก็คือ จิตขณะนั้น ประกอบไปด้วยสภาพของความเห็นผิด (ทิฏฐิเจตสิก) ปรุงแต่งให้ความตรึก ความใส่ใจ และสังขารขันธ์อื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน เป็นไปด้วยความไม่ถูกต้อง ไปด้วยกันทั้งหมด

* คิดถูก ก็คือ จิตในขณะนั้น ประกอบไปด้วยสภาพของความเห็นถูก (ปัญญาเจตสิก) ซึ่งปรุงแต่งให้ความตรึก ความใส่ใจ และสังขารขันธ์อื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน เป็นไปด้วยความถูกต้อง ไปด้วยกันทั้งหมด

* และการที่จะคิดละเอียดรอบคอบหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่สังขารขันธ์ที่เกิดปรุงแต่งกันในขณะนั้นว่า เป็นสภาพที่ดีงาม (เช่น ศรัทธา สติ ปัญญา) หรือเป็นสภาพที่เป็นอกุศล (เช่น โลภะ โทสะ โมหะ)

* ดังนั้น ความคิดของแต่ละบุคคล จึงแตกต่างกันไป ตามการปรุงแต่งของสังขารขันธ์


โดย อ.อรรณพ หอมจันทร์

อ่านหัวข้ออื่นๆ คลิกที่นี่ ... คติธรรม


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
talaykwang
วันที่ 13 ต.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 8 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ