[คำที่ ๔๗๘] ราคคฺคิ

 
Sudhipong.U
วันที่  15 ต.ค. 2563
หมายเลข  33098
อ่าน  1,617

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ราคคฺคิ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ราคคฺคิ อ่านตามภาษาบาลีว่า รา - คัก - คิ มาจากคำว่า ราค (ความใคร่, ความติดข้อง, ความยินดีพอใจ) กับคำว่า อคฺคิ (ไฟ, สภาพที่แผดเผา) จึงรวมกันเป็น ราคคฺคิ เขียนเป็นไทยได้ว่า ราคัคคิ หมายถึง ไฟ ซึ่งเป็นสภาพที่แผดเผา คือ ความใคร่ ความติดข้อง ความยินดีพอใจ ซึ่งเป็นคำที่ส่องให้เข้าใจถึงธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ซึ่งก็คือ ความใคร่ ความติดข้องยินดีพอใจ ติดข้องในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะติดข้องในอะไรก็ตาม ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ได้แก่ โลภเจตสิก นั่นเอง ตราบใดที่ยังไม่ได้ดับจนหมดสิ้น เมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ไฟคือราคะ ก็ย่อมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ไม่ใช่เรา แต่เป็นธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แผดเผาทันทีที่เกิดขึ้น ไฟคือราคะ เมื่อเกิดขึ้น ก็ติดข้องในสิ่งนั้น ไม่สละซึ่งสิ่งนั้น ไม่ปล่อยให้เป็นกุศล ความดีเกิดไม่ได้เลยในขณะที่ไฟคือราคะเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

ข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท แสดงความจริงไว้ว่า

“ไฟ เสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี”

และในอรรถกถา ได้อธิบายไว้ว่า บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ราคสโม ความว่า ชื่อว่า ไฟเสมอด้วยราคะ ย่อมไม่มี ด้วยสามารถแห่งอันไม่แสดง อะไรๆ เช่น ควัน เป็นต้น ตั้งขึ้น เผาในภายในนั่นเอง.


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูก เตือนให้ได้เข้าใจสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวันทุกประการ เพราะชีวิตประจำวันเป็นธรรม ทุกขณะของชีวิตไม่พ้นไปจากธรรม แม้มีธรรมเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ทุกขณะแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นธรรม จนกว่าจะได้ฟังพระธรรม พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงเป็นเครื่องเตือนที่ดีสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองของจิตอยู่อย่างแท้จริง เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองเต็มไปด้วยกิเลสมากมายเพียงใด เพื่อประโยชน์ในการขัดเกลา ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมจะไม่สามารถเข้าใจอะไรได้เลย จะเห็นได้ว่าทุกคนที่เกิดมา ก็เต็มไปด้วยกิเลสด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะราคะ ความใคร่ ความติดข้องยินดีพอใจ ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็คือ โลภเจตสิก ซึ่งมีมากเหลือเกิน ติดข้องในสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปก็ดี เสียงก็ดี กลิ่นก็ดี รสก็ดี สิ่งที่กระทบสัมผัสกายก็ดี ที่ประสบทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย มีความใคร่ มีความอยาก มีความต้องการไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ถูกเกี่ยวโยง ยึด ผูกพันอย่างแน่นหนากับรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นชีวิตประจำวันจริงๆ ทำให้เห็นว่าเป็นผู้ถูกราคะหรือโลภะรึงรัด ผูกพันไว้ เกี่ยวประสานไว้ไม่ให้พ้นไปได้เลย ไม่ยอมปล่อยให้เป็นกุศล และไม่ยอมปล่อยให้พ้นไปจากสังสารวัฏฏ์ด้วย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงว่า ราคะ เป็น ไฟ เพราะเป็นสภาพที่แผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และให้ผลเป็นทุกข์อีกด้วย ซึ่งโดยปกติแล้ว ไฟภายนอกเมื่อเผาไหม้สิ่งใด ย่อมปรากฏควัน เปลว หรือเถ้า แต่ไฟคือราคะนี้ เมื่อไหม้อยู่ย่อมไหม้ภายในใจของสัตว์ ย่อมแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อนเท่านั้น ไม่ปรากฏแม้ควัน เปลว และเถ้าเลย และไหม้โดยไม่เลือกเวลาด้วย เพราะเหตุว่าเกิดขึ้นเมื่อใดก็แผดเผาจิตใจให้เร่าร้อนเมื่อนั้น นี้คือ ความเป็นจริงของธรรม

บุคคลเมื่อถูกไฟคือราคะครอบงำแล้ว จะให้ทำอะไรๆ ก็ทำ ซึ่งเป็นอกุศลของตนเอง ราคะที่มีอยู่ในใจ เป็นเหมือนกับผู้คอยสั่งให้ทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ ครอบงำให้แสวงหา ให้ทำสิ่งต่างๆ ผู้นั้นก็เป็นไปตามอำนาจของราคะ หรือโลภะโดยตลอด บุคคลผู้มีราคะมากๆ ย่อมไม่รู้จักคำว่าพอ ไม่มีวันเต็มเลยสำหรับราคะ ย่อมต้องการอยู่ตลอด ส่วนบุคคลผู้ได้ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ถึงแม้ว่าตนเองจะยังมีราคะอยู่ก็ตาม เพราะเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย บังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อฟังพระธรรมบ่อยๆ เนืองๆ ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจถึงความเป็นจริงของราคะว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา และเห็นโทษของราคะตามกำลังปัญญาของตนเอง สามารถค่อยๆ อบรมเจริญปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริงได้ เป็นการอบรมเจริญปัญญาท่ามกลางอกุศล และปัญญานี้เองเป็นธรรมที่จะสามารถดับราคะได้อย่างเด็ดขาด เหมือนอย่างพระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีตที่ได้รับประโยชน์จากพระธรรม ก่อนหน้าที่ท่านจะได้บรรลุธรรมรู้แจ้งอริยสัจจธรรมนั้น อกุศลทั้งหลาย มีราคะ เป็นต้น ก็ยังมี แต่เมื่อปัญญาเจริญขึ้น คมกล้าขึ้น ก็สามารถดับอกุศลได้ตามลำดับขั้น

บุคคลผู้ที่ฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปตามลำดับ ก็จะเห็นความลึกซึ้ง ความเหนียวแน่นของราคะ ความใคร่ ความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งมีทุกๆ วัน ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ความพอใจในทรัพย์สมบัติ ในบุคคล ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รัก ก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย ในชาติหนึ่งๆ ถ้าสามารถที่จะระลึกถอยไปได้ ก็จะเห็นได้ว่าความพอใจในสัตว์บุคคล ในญาติพี่น้อง ในมิตรสหาย ในวัตถุสิ่งของซึ่งเป็นที่รัก ในอดีตชาติที่ผ่านๆ มาแล้ว ย่อมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ความติดข้องยินดีพอใจในวันนี้จะมาจากไหน ถ้าไม่เคยได้สะสมความติดข้องยินดีพอใจมาเลย นี้คือความเหนียวแน่นของอกุศลที่ได้สะสมมาอย่างยาวนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อได้เหตุปัจจัยก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรม ตลอด ๔๕ พรรษา เพื่อให้ผู้ฟัง ผู้ศึกษาได้พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงในชีวิตประจำวัน เกิดขึ้นตามเหตุตามปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน สิ่งที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีอะไรเหลือ การที่ปัญญาจะเจริญขึ้นได้นั้น ก็ต้องอาศัยการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม พิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย อดทนที่จะฟัง ที่จะศึกษาต่อไปด้วยความไม่ท้อถอย ถ้าในชีวิตประจำวันไม่สะสมกุศลประการต่างๆ ไม่มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมเลย ก็จะเป็นโอกาสให้อกุศลธรรมเกิดพอกพูนทับถมมากยิ่งขึ้น จนยากที่จะขัดเกลาให้เบาบางลงได้ และที่สำคัญ จุดประสงค์ของการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม ก็เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสทั้งหลาย มีความไม่รู้ ความเห็นผิด ความติดข้อง เป็นต้น หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญา จึงเป็นไปเพื่อละกิเลสทั้งหลายอย่างแท้จริง และเป็นหนทางที่จะต้องอาศัยกาลเวลาที่ยาวนานในการค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งจะขาดการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 15 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มกร
วันที่ 5 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ