ความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรม

 
เบิ้ม
วันที่  28 ส.ค. 2548
หมายเลข  331
อ่าน  1,734

ทราบถึงความต่างกันของรูปธรรมและนามธรรมได้เพียงเรื่องราวว่าต่างกัน แต่มีแนวทางใดที่สติจึงจะเกิดระลึกรู้ได้ เมื่อก่อนตื่นนอนขึ้นมาจะสวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ แต่ก็ปฏิบัติด้วยความไม่เข้าใจหรอกว่าทำไปเพื่ออะไร (ไม่มีปัญญา) และเมื่อได้ฟังธรรมจากมูลนิธิฯ จึงเลิกทุกอย่าง และตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวเองอย่างไรจึงจะเกิดสติมีปัญญา


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ส.ค. 2548

พระผู้มีพระภาคประทานพระธรรมวินัยที่ทรงแสดงแล้วไว้เป็นศาสดาแทนพระองค์เมื่อทรงดับขันธปรินิพพานไป พุทธบริษัทย่อมถวายความนอบน้อมสักการะพระธรรมอันประเสริฐสุดของพระผู้มีพระภาคตามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย แม้ผู้ใดเห็นพระวรกายของพระองค์ ได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระโอษฐ์หรือแม้ได้จับชายสังฆาฏิติดตามพระองค์ไป แต่ไม่รู้ธรรมไม่เห็นธรรม ผู้นั้นก็หาได้เห็นพระองค์ไม่ ผู้ใดเห็นธรรมผู้นั้นได้ชื่อว่าย่อมเห็นตถาคตพระพุทธศาสนา คือ พระธรรมคำสอนของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า มี ๓ ขั้น

๑. ขั้นปริยัติ ศึกษาพระธรรมวินัย

๒. ขั้นปฏิบัติ เจริญธรรมเพื่อบรรลุธรรมที่ดับกิเลสดับทุกข์

๓. ขั้นปฏิเวธ รู้แจ้งธรรมที่ดับกิเลส ดับทุกข์

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ส.ค. 2548

ชาวพุทธควรพิจารณาและศึกษาพระธรรม

พุทธศาสนานิกควรพิจารณาและศึกษาให้รู้ว่า ธรรมและความจริงที่พระองค์ตรัสรู้นั้นคืออะไร ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้ต่างกับความจริงที่เราคิดนึกหรือเข้าใจอย่างไรบ้าง ความจริงที่พระองค์ทรงตรัสรู้และทรงเทศนาสั่งสอนพุทธบริษัทให้เข้าใจและปฏิบัติตามจนเห็นความจริงนั้นๆ ก็คือ สิ่งทั้งหลายที่ปรากฏนั้นเป็นธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภท ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล

ธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นนั้น เพราะปัจจัยปรุงแต่งจึงเกิดขึ้นได้ เช่น ความโลภ ความโกรธ ความเสียใจ ความทุกข์ ความสุข ความริษยา ความตระหนี่ ความเมตตา ความกรุณา การเห็น การได้ยิน เป็นต้น

ล้วนแต่เป็นสภาพธรรมแต่ละชนิด สภาพธรรมแต่ละชนิดแต่ละประเภทนั้น ต่างกันเพราะเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ กัน

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ส.ค. 2548

จะเจริญสติในชีวิตประจำวันอย่างไร

การเจริญสติปัฏฐานเป็นเรื่องที่เราจะรู้ชีวิตประจำวันจริงๆ จะรู้ว่าทั้งการงานและตัวเรานั้นสภาพความเป็นจริงเป็นอย่างไร แต่ก็ดูเหมือนว่าคนเรานั้นอยากจะรู้แต่อย่างอื่นนอกจากตัวเอง ไม่กล้ารู้จักตัวเอง หรือพระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้เห็นว่า การรู้จักตัวเองนั้นดีกว่าการรู้จักสิ่งอื่นๆ

ในวิสุทธิมรรค อิทธิวิธนิเทส มีข้อความว่า พระผู้มีพระภาคทรงทำมิให้พระนางอโนชาเทวีและหญิงบริวารพันหนึ่ง ผู้มาตามพระมหากัปปินะ เห็นพระราชามหากัปปินะพร้อมทั้งบริษัทแม้นั่งอยู่ในที่ใกล้ เมื่อพระนางทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ พระองค์ทรงเห็นพระราชาบ้างหรือ”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ก็ท่านแสวงหาพระราชาประเสริฐหรือ หรือว่าแสวงหาตนประเสริฐ”

พระนางจึงทูลว่า “แสวงหาตนประเสริฐพระเจ้าข้า” ดังนี้จึงทรงแสดงธรรมเหมือนอย่างนั้นแด่พระนางอโนชาเทวีผู้ประทับนั่งแล้วนั้น ให้พระนางนั้นรวมทั้งหญิงบริวารพันหนึ่งดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล ให้พวกอำมาตย์ดำรงอยู่ในอนาคามิผล ให้พระราชาดำรงอยู่ในอรหัตตผล ฉะนี้

การเจริญวิปัสสนาไม่ใช่สิ่งที่นอกไปจากชีวิตประจำวัน เจริญวิปัสสนาในชีวิตประจำวันมีสติระลึกรู้ลักษณะของนามและรูปที่ปรากฏในชีวิตประจวัน นั่นคือ การเจริญมรรคมีองค์ ๘ ถ้าใครบอกว่าไม่มีเวลาเจริญวิปัสสนา ก็เพราะไม่เข้าใจว่ามรรคมีองค์ ๘ นั้นคืออะไร

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
บ้านธัมมะ
วันที่ 28 ส.ค. 2548

ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวเองอย่างไรจึงจะเกิดสติมีปัญญา

การพยายามที่จะให้เกิดสตินั้น เป็นเพราะความเห็นผิดว่ามีตัวตน ถ้าคิดจะบังคับให้สติเกิดและพยายามจะจับอารมณ์ปัจจุบัน เป็นความจริงที่ว่าควรเจริญสัมมาสติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะบังคับให้สติเกิดได้ แต่หมายความว่า จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องในลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมและในข้อปฏิบัติ ไม่ควรลืมว่าความเห็นถูกเป็นองค์แรกของมรรคมีองค์ ๘ เมื่อจิตที่รู้ลักษณะของนามธรรมและรูปธรรมมีสัมมาทิฏฐิเกิดร่วมด้วย ก็ต้องมีสัมมาวายะเกิดร่วมด้วย สัมมาวายามะในมรรคมีองค์ ๘ เป็นความเพียรในทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา

ท่านผู้ชมควรฟังและศึกษาพระธรรมต่อไป ในขณะเดียวกันก็ปฏิบัติหน้าที่การงานตามปกติ ความเข้าใจจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น เป็นปัญญาที่เกิดจากการฟัง ซึ่งต้องเป็นไปตามลำดับขั้น ถ้าไม่มีปัญญาขั้นฟังให้เข้าใจ ปัญญาขั้นอื่นจะเกิดไม่ได้

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 9 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ