จิตสำนึก ในทางพุทธศาสนาหมายถึงสภาพธรรมใด

 
pdharma
วันที่  19 ต.ค. 2563
หมายเลข  33122
อ่าน  2,661

ที่พูดกันทั่วไปว่า จิตสำนึก เช่น คนนี้มีจิตสำนึก คนนั้นไม่มีจิตสำนึก ซึ่งในทางโลกเข้าใจว่า หมายถึง รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักใช้เหตุผล รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรดีไม่ดี บางแหล่งแปล จิตสำนึก ว่าคือ วิถีจิต และ จิตใต้สำนึก คือ ภวังคจิต จริงแล้วที่ถูกต้อง จิตสำนึก ในทางพุทธศาสนา หมายถึง สภาพธรรมใด

ขอขอบพระคุณ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
paderm
วันที่ 20 ต.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

โดยทั่วไป ความเข้าใจของทางโลก อธิบายในเรื่องจิตสำนึก และจิตใต้สำนึกดังนี้จิตสำนึกก็คือ จิตที่แสดงออกมาให้เห็นที่เป็นพฤติกรรม ก็คือ การแสดงออกมาทางกายและวาจาให้บุคคลอื่นได้รับรู้ เป็นต้น นี่คือ ความเข้าใจในเรื่อง จิตสำนึก ส่วนจิตใต้สำนึก ก็คือ สิ่งที่ถูกสะสม ไว้มากมายในอดีต ที่ไม่ได้แสดงออกมาทางกายและวาจาให้บุคคลรู้ ซึ่งจิตใต้สำนึกเกิดได้จาก อาศัยจิตสำนึก คือ การรับรู้ทางโลก จนทำให้สะสมประสบการณ์ สิ่งต่างๆ ไว้ เมื่อมีเหตุการณ์บางอย่าง จิตใต้สำนึกก็พร้อมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นการตัดสินใจ หรือ การสะสมสิ่งที่ไม่ดีมา ทำให้แสดงออกมาซึ่งอาการป่วย อันเกิดจากจิตใต้สำนึก เป็นต้น นี่คือความเข้าใจทางโลกในเรื่อง จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกครับ

สำหรับในพระพุทธศาสนา จิตใต้สำนึกไม่มีในพระพุทธศาสนาครับ แต่พระองค์แสดงเรื่องของจิต ตามความเป็นจริงว่า จิตคือสภาพธรรมที่รู้ และจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมสิ่งที่ดีหรือไม่ดีด้วยครับ การแสดงออกมาทางกายและวาจาในขณะนี้ ให้ทุกคนได้รู้ก็เพราะอาศัยจิต หากไม่มีจิตแล้วก็ไม่มีการแสดงออกมาทางกายและวาจาปรากฎให้บุคคลอื่นรู้ได้เลยครับ ดังนั้น การที่ชาวโลก กล่าวในเรื่องของจิตสำนึก ที่ปรากฏพฤติกรรมภายนอกให้บุคคลอื่นรู้ ในทางพระพุทธศาสนาก็คือ จิตที่ทำหน้าที่เป็นกุศลจิตบ้าง อกุศลจิตบ้างจนมีกำลังที่แสดงออกมาทางกายและวาจานั่นเองครับ

ตามทีกล่าวแล้ว จิตไม่ใช่เพียงสภาพธรรมที่รู้เท่านั้น จิตทำหน้าที่สะสม สิ่งที่ไม่ดีและดีด้วย คือ ขณะใดที่กุศลจิตเกิดเช่น การให้ทาน จิตนั้นก็สะสมสืบต่อให้เป็นอุปนิสัยที่จะเป็นผู้ทีให้ทานได้มากขึ้น การสะสมฝ่ายดีจึงไม่หายไปไหนแมื่อกุศลจิตเกิด เช่นเดียวกับ การเกิดอกุศล เมื่อ อกุศลจิตเกิดขึ้น เช่น โกรธเกิดขึ้น ขณะนั้นสะสมอกุศลแล้ว สะสมอกุศลคือ ปฏิฆานุสัย คือ ความโกรธ สะสมกิเลสที่นอนเนื่องไป และสะสมอุปนิสัย ทำให้เป็นผู้มักโกรธ ดังนั้นจิตใต้สำนึก ที่ชาวโลกอธิบายว่าเป็น ประสบการณ์ที่สะสมเอาไว้อยู่ในส่วนลึกของใจ ไม่ต้องอาศัยเหตุผล การคิดวิเคราะห์ก็เกิดขึ้นมา

ในทางพระพุทธศาสนา ก็คือ การสะสมสิ่งที่ดีหรือไม่ดีมาของจิตนั่นเอง ทำให้เป็นผู้มีอุปนิสัย การแสดงออกมาต่างๆ กัน ตามการสะสมนั่นเองครับ รวมทั้ง การสะสมอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่อง อันไม่สามารถปรากฎให้รู้ได้ครับ ดังนั้น เรื่องของจิตใต้สำนึก ก็ไม่พ้นจาก จิตที่เกิดดับทำหน้าที่สืบต่อ ที่เป็นการสะสมสิ่งที่ดีบ้างและไม่ดีบ้าง ทำให้มีการสะสม อนุสัยกิเลส และอุปนิสัยที่ดีหรือไม่ดี เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม กิเลส หรืออุปนิสัยที่ดี ก็พร้อมที่จะเกิดขึ้นมีกำลังออกมาทางกายและวาจาให้บุคคลอื่นได้รู้ จนบางครั้ง ให้เห็นถึงความไม่ดี ที่บุคคลอื่นทำออกมาโดยไม่ได้คิด ชาวโลกก็กล่าวว่าเพราะเป็นจิตใต้สำนึกของเขาที่แสดงออกมาในพฤติกรรมไม่ดี แต่ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องของการสะสมสิ่งที่ไม่ดี หรือ กิเลสที่เป็นอนุสัยนอนเนื่องมา เมื่อมีเหตุปัจจัยพร้อม กิเลสก็พร้อมเกิดขึ้น แสดงออกมาทางกายและวาจา ให้ชาวโลกรู้ได้นั่นเองครับ

ดังนั้นจิตใต้สำนึก จึงเป็นเรื่องของการสะสมมาของกุศล หรือ อกุศล และทำให้เป็นกิเลสที่นอนเนื่องที่เป็นอนุสัย และทำให้เป็นการสะสมอุปนิสัยต่างๆ กัน เพราะการเกิดขึ้นของ กุศล และอกุศล ทำให้จิตที่เป็นสภาพธรรมที่สะสม สะสมสิ่งที่ไม่ดี และดีไว้นั่นเองครับ

อีกนัยหนึ่ง สำหรับจิตใต้สำนึก จิตสำนึกของชาวโลก คือ สิ่งที่แสดงพฤติกรรมออกมาให้รู้ หรือ การรับรู้ สิ่งที่ปรากฎในโลกนี้ ดังนั้น ในพระพุทธศาสนา การรู้โลกที่กำลังปรากฏ ก็คือ ขณะที่เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้กระทบสัมผัส ซึ่งก็เป็นการทำหน้าที่ของจิต จิตเห็น จิตได้ยิน เป็นต้น อันอาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ดังนั้น ที่โลกปรากฎให้มีการรับรู้ในขณะนี้ ก็เพราะมีจิต และจิตนั้นทำหน้าทีเห็น ได้ยิน อันอาศัยทวารทั้ง ๖ นั่นเอง โลกจึงปรากฎได้ ซึ่งชาวโลกก็เข้าใจว่า เป็นจิตสำนึก ซึ่งพระพุทธเจ้าสามารถอธิบายสิ่งเหล่านี้ได้ ตามเหตุปัจจัยถูกต้อง แท้จริง ส่วนจิตใต้สำนึกที่ชาวโลก เข้าใจว่า คือ การที่ไม่รับรู้อะไรที่ปรากฎในขณะนี้ เป็นสิ่งที่ซ่อนไว้ ซึ่งในพระพุทธศาสนา ก็มีจิตที่ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้เลย จิตนั้น ขณะนั้น ไม่อาศัย ตา หู จมูก ลิ้น กายเลย จิตที่ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้ ไม่อาศัยทวารทั้ง ๖ คือ ภวังคจิต ขณะที่เป็นภวังคจิต ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้ เช่น ขณะที่หลับสนิท ก็ไม่รู้อะไรเลย คือ ไม่รู้อารมณ์ในโลกนี้เลย ไม่มีอะไรปรากฎ ไม่ว่าทรัพย์สิน สิ่งต่างๆ ในโลกนี้ครับ

ชาวโลกที่เป็นปุถุชน ย่อมไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริงและก็อาศัยความคิด ด้วยความไม่รู้ เดา คิดว่า ที่มีการแสดงออกอย่างนี้ เพราะเป็นแบบนี้ มีจิตสำนึก มีจิตใต้สำนึกแต่ไม่รู้ความจริงทีเป็นธรรม ไม่รู้ธรรมชาติของจิตอย่างแท้จริงว่า จิตทำหน้าที่อะไร คือ รู้และสะสม เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องของชาวโลกที่เป็นความไม่รู้ เหมือนจะมีประโยชน์เพราะช่วยให้คิดให้เบี่ยงเบนประเด็นที่จะไม่คิดในอีกแบบหนึ่ง แต่ก็เท่ากับว่า ปลูกฝังและก็ที่สำคัญที่สุด ในเมื่อจิตเป็นสภาพธรรมที่สะสมด้วย การสอนสิ่งที่ผิด ก็ทำให้บุคคลที่ได้รับฟัง เชื่อ ก็สะสมสิ่งที่ผิด สะสมความไม่รู้มากขึ้น แม้ปัญหาชีวิตจะเบาบางได้ แต่นั่นไม่ใช่วิธีที่แก้ที่ตัวปัญหาเลย กับจะเพิ่มปัญหาโดยไม่รู้ตัว เพราะนำตัวปัญหาคือ ความไม่รู้ ความเห็นผิดเข้าไปอีกนั่นเองครับ

ประโยชน์จริงๆ ก็คือ ความเข้าใจถูกแต่ชาวโลกอยากจะหายทุกข์ทันที โดยไม่รู้จักทุกข์และเหตุแห่งทุกข์ที่แท้จริง จึงแก้ปัญหาโดยความเข้าใจที่ผิด ก็สะสมความไม่รู้ต่อไปและไม่สามารถจะพ้นจากปัญหาได้เลยครับ เพราะเพิ่มกิเลสและต้องเกิดร่ำไปครับ การศึกษาพระธรรม อบรมปัญญาที่ถูกต้อง เป็นการแก้ปัญหาชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ใช่จะไม่ให้ทุกข์เลยในชิวิต แต่ค่อยๆ เข้าใจถูกปัญญาเจริญขึ้นก็ละเหตุแห่งทุกข์คือกิเลสทีละน้อย นี่คือ การแก้ปัญหาชีวิตที่ถูกต้อง

การจะแก้จิตใต้สำนึกที่ชาวโลกเข้าใจ ซึ่งในทางพระพุทธศานาก็คือ การสะสมสิ่งที่ดีและไม่ดี อันทำให้เป็นอนุสัยกิเลสที่นอนเนื่องไม่ปรากฎให้รู้ได้ การแก้ก็ด้วยการฟังพระธรรม อบรมปัญญา เพราะปัญญาเท่านั้นที่จะแก้ ละ อนุสัยกิเลสได้ ไม่ใช่การอธิบายแนวความคิดอันเกิดจากความคิดและความไม่รู้ครับ

ขออนุโมทนา

เชิญคลิกอ่านที่นี่ครับ

จิตใต้สำนึก จริงๆ คืออะไรคะ??

จิตใต้สำนึก มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหรือไม่?

ขออนุโมทนา

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 20 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
khampan.a
วันที่ 20 ต.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ชีวิตประจำวัน จริงๆ แล้ว ก็มีวิถีจิตสลับกับภวังคจิต เท่านั้น เพราะเหตุว่าปฏิสนธิจิตเกิดแล้วดับแล้วเป็นจิตขณะแรกในชาตินี้ ส่วนจุติจิต ยังไม่เกิดขึ้น

ธรรม เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ความจริงนี้ ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ความจริงเป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น แต่ละบุคคลก็มีความประพฤติเป็นไปตามการสะสม ตามเหตุตามปัจจัย ดี บ้าง ไม่ดีบ้าง เป็นธรรมนั่นเองที่เกิดขึ้น แต่ละคนจึงหลากหลายแตกต่างกันตามการสะสม ตราบใดที่ยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ อกุศล ก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นไป เกิดขึ้นมากกว่าที่คิดไว้มาก อกุศล เป็น อกุศล ซึ่งก็คืออกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ขณะที่อกุศลเกิด จะทำสิ่งที่ดีไม่ได้เลย แต่ขณะใดก็ตามที่กุศล ความดีเกิดขึ้น ซึ่งก็คือกุศลจิตและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย ก็ทำแต่สิ่งที่ดีงาม ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดี ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้ว เป็นเหตุให้ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญาเจริญขึ้น เมื่อปัญญาเจริญขึ้น ก็จะเป็นเครื่องเกื้อกูลให้มีความประพฤติที่ดีงามทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ตามระดับขั้นของปัญญา สะสมเป็นอุปนิสัยที่ดีต่อไป ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
wannee.s
วันที่ 20 ต.ค. 2563

ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าบุคคลมีใจผ่องใสแล้ว พูดอยู่ดี ทำอยู่ก็ดี ความสุขย่อมไปตามเขา เพราะเหตุนั้น เหมือนเงาไปตามตัว ฉะนั้น

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
chatchai.k
วันที่ 21 ต.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ