สมาธิที่ชาวพุทธยังไม่รู้
สมาธิ มี ๒ อย่างที่จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือ มิจฉาสมาธิ กับสัมมาสมาธิ ถ้าเราแยกยังไม่ออก เราเข้าใจว่าเป็นสัมมาสมาธิ แต่ความจริงเป็นมิจฉาสมาธิได้ ตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่า สัมมาสมาธิคืออย่างไร มิจฉาสมาธิคืออย่างไร ถ้าสามารถบอกได้ว่า มิจฉาสมาธิคืออย่างไร นั่นคือเรามีสัมมาสมาธิ ถ้าตอนนี้เรายังบอกไม่ได้ระหว่างมิจฉาสมาธิกับ สัมมาสมาธิ ก็หมายความว่ายังเป็นมิจฉาสมาธิอยู่ จนกว่าเมื่อไรบอกได้ว่า มิจฉาสมาธิคืออย่างไร เมื่อนั้นคือรู้จักสัมมาสมาธิ
ลักษณะของสมาธิไม่ใช่ลักษณะของความสงบ เอกัคคตาเจตสิก (สมาธิ) เกิดกับจิตที่เป็นอกุศลได้ ตั้งมั่นคงด้วยอกุศลก็ได้ ไม่ใช่ความสงบ เพราะฉะนั้น อย่าปนสภาพของความสงบกับลักษณะของสมาธิซึ่งมีทั้งมิจฉาสมาธิ เป็นอกุศลสมาธิได้ ความสงบคือสภาพธรรมทีดีงามที่ปราศจากโลภะ โทสะ โมหะ ขณะที่ต้องการทำสมาธิ ต้องการจดจ้อง ขณะนั้นมีโลภะ ต้องการ ไม่สงบ สงบคือต้องสงบจากกิเลส
เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าตั้งมั่นแล้ว จดจ้องแล้ว อยู่ที่ลมหายใจแล้ว นั่นกล่าวถึงเพียงลักษณะของสมาธิ ไม่ได้กล่าวถึงลักษณะของความสงบเลย และเอาสมาธินั้นมาเป็นเครื่องวัด ซึ่งสมาธินั้นเกิดกับอกุศลจิตได้ เป็นโลภมูลจิตได้ (ความติดข้อง) แต่ถ้าปัญญาเกิดขึ้นพร้อมทั้งความสงบและสมาธิ ขณะนั้นจึงเป็นความสงบ
การฟังเข้าใจสำคัญที่สุดคือเข้าใจ ขณะนี้ไม่ต้องห่วงเรื่องสมาธิ ถ้าศึกษาแล้วจะทราบว่า สมาธิ หรือเอกัคคตาเจตสิกเกิดกับจิตทุกขณะ ใครจะไม่ให้เอกัคคตาเจตสิกเกิดไม่ได้เลย เป็นสภาพธรรมะที่ต้องเกิดกับจิต มีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า พระปัญจวัคคีย์ขณะนั้นไม่ได้ไปเจริญฌาน หรืออะไรเลย แต่ฟังพระธรรม แล้วเมื่อจบเทศนาก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน
ในครั้งโน้นก็มีผู้ที่ได้บำเพ็ญสมถภาวนา แล้วก็เป็นผู้ที่ถึงฌานมาก แต่พวกที่ได้ฌานนั่นเองไม่ใช่ว่าจะได้วิปัสสนา เพราะเหตุว่าถ้าไม่ได้มีการฟังพระธรรม แล้วก็อบรมเจริญสติปัฏฐาน เรื่องของฌานก็เรื่องของฌานไป
โดยมากถ้าไม่ศึกษาจริงๆ เราจะถูกหลอก คือเข้าใจว่า สมาธิเป็นสติ ถ้าสามารถที่จะตอบได้เมื่อไรว่า สติไม่ใช่สมาธิ เมื่อนั้นเริ่มเข้าใจ อย่างที่เราใช้คำว่าใช้สติ เอาสติ หรือจะทำสติ หรือเจริญสติก็ตามแต่ ถ้ายังไม่รู้ลักษณะของสติ ทั้งหมดเป็นโมฆะ เราไปเอาสภาพธรรมะอย่างหนึ่ง คือ สมาธิมาเปลี่ยนชื่อใหม่ ว่านี่เรากำลังจะทำสติ เอาสมาธินั่นแหละมาทำสติ แต่เรายังไม่รู้ความต่างกันจริงๆ ของสติกับสมาธิ ซึ่งไม่เหมือนกันเลย และไม่ใช่ธรรมะอย่างเดียวกันด้วย
เชิญคลิกอ่านข้อความพระไตรปิฎกเรื่อง ฌานมีสองอย่าง ทั้งที่เป็นกุศลฌานและอกุศลฌาน