โทษกินจุ บริโภคมาก
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ... ในกาลใด บุคคลเป็นผู้กินมาก มักง่วง และมักนอนหลับกระสับกระส่าย ประหนึ่งสุกรใหญ่ที่ถูกปรนปรือด้วยอาหารฉะนั้น. ในกาลนั้น เขาเป็นคนมึนซึม ย่อมเข้าไปถึงห้องร่ำไป
คนผู้มีสติทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้วนั้นย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย แก่ช้า อายุยืน
เรื่องพระเจ้าปเสนทิโกศล พระไตรปิฎก คาถาธรรมบท นาควรรค
เรื่องย่อมีดังนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลเสวยพระกระยาหารเช้ามาก ได้รับความลำบาก พลิกไปพลิกมา ถูกความง่วงครอบงำ ได้เสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า มหาบพิตร พระองค์ทรงไม่ได้พักผ่อนเลยเสด็จมา พระราชา กราบทูลว่าข้าพระองค์บริโภคมาก ได้รับทุกข์ประการต่างๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่างนั้นมหาบพิตร ผู้ที่บริโภคมากเกินไป ย่อมได้รับทุกข์ และตรัสพระคาถาว่า
ในกาลใด บุคคลเป็นผู้กินมาก มักง่วง และมักนอนหลับกระสับกระส่าย ประหนึ่งสุกรใหญ่ที่ถูกปรนปรือด้วยอาหารฉะนั้น. ในกาลนั้น เขาเป็นคนมึนซึม ย่อมเข้าไปถึงห้องร่ำไป
อธิบายดังนี้ ผู้ที่กินมาก ความง่วงย่อมเกิดกับเขา และได้รับความกระสับกระส่ายเพราะการทานมาก เหมือนสุกร ที่ถูกเลี้ยงไว้ ปรนปรือด้วยอาหาร สุกรนั้นอ้วน กระสับกระส่ายไปมาเพราะความอ้วน ความอยากในอาหาร ความทุกข์ที่กินมาก เป็นต้น ง่วงซึมเพราะอาหาร เข้าห้องพักผ่อนอยู่ร่ำไป ยากต่อการพิจารณาความจริงของธรรม เพราะความเป็นผู้มักหลับ
และพระองค์ยังตรัสพระคาถาต่อไปว่า
คนผู้มีสติทุกเมื่อ รู้จักประมาณในโภชนะที่ได้แล้วนั้นย่อมมีโรคภัยไข้เจ็บน้อย แก่ช้า อายุยืน
พระพุทธเจ้าให้ อุตตรมาณพ เรียนพระคาถาเหล่านี้ และให้กล่าวคำนี้ตอนพระราชาเสวย เพราะอาศัยคำเหล่านี้ ต่อมาพระราชาร่างกายเบา ปราศจากโรค เพราะการเสวยพระกระยาหารแต่น้อย
พระธรรมเรื่องนี้ แสดงความจริงว่าพระพุทธเจ้าตรัสสอนแม้การใช้ชีวิตประจำวันที่ถูกต้องแม้การบริโภคอาหาร เพียงเพื่อให้ร่างกายเป็นไปอย่างผาสุข ทานอาหารที่พอเพียง แต่น้อย เหมาะสม ย่อมเป็นผู้มีโรคน้อย ร่างกายเบา เมื่อเป็นผู้ประพฤติประโยชน์ในโลกนี้อย่างถูกต้อง ก็ไม่ปราศจากการอบรมปัญญาในชีวิตประจำวัน ที่จะเป็นผู้รู้ความจริงของสภาพธรรมในขณะนั้น ไม่ว่าในตอนบริโภค ยืน เดิน นั่งนอน ก็มีธรรมให้รู้ได้ตามความเป็นจริงว่าไม่ใช่เรา เพราะฉะนั้น การมีชีวิตอยู่ แม้จะโรคน้อย รักษาสุขภาพ มีอายุยืนร้อยปี แต่ไม่มีการเข้าใจพระธรรมที่ถูกต้อง ก็มีชีวิตที่ยืนโดยเปล่าประโยชน์ ชีวิตของผู้เข้าใจพระธรรมขณะเดียวประเสริฐกว่าผู้มีอายุร้อยปี แต่ไม่เข้าใจพระธรรม