เข้าใจความรัก

 
sutta
วันที่  29 ต.ค. 2563
หมายเลข  33197
อ่าน  760

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ... ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการอย่างนี้ คือเพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำได้ เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำฉะนั้น

เรื่อง ปัญหาที่ภิกษุทูลถาม พระไตรปิฎก คาถาธรรมบท เล่ม ๔๒

เรื่องย่อมีดังนี้ มีพราหมณ์ผู้ชราได้เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จมา ได้เรียกว่าบุตรของเรามาแล้ว เกิดความรักดั่งบุตรเกิดขึ้น จับข้อพระบาท ได้ทูลกับพระพุทธเจ้าว่า เหตุใดเมื่อเป็นบุตรแล้วไม่พึงเลี้ยงมารดา บิดาเล่า แล้วได้พาพระพุทธเจ้าไปที่เรือนของตน นางพราหมณีผู้เป็นภรรยาได้เห็นพระพุทธเจ้าแล้ว ก็พูดโดยทำนองว่า พ่อไปไหนเสีย ธรรมดาเมื่อบิดา มารดาแก่เฒ่าแล้ว ก็ควรเลี้ยงไม่ใช่หรือ แล้วได้พาบุตรของตนมาแล้วให้ไหว้ กล่าวว่า พวกเจ้าจงไหว้พระพี่ชายของเจ้า

พราหมณ์สองสามีภรรยา มีใจยินดี นิมนต์เลี้ยงอาหารกับพระภิกษุและพระพุทธเจ้า พราหมณ์สามีภรรยา ฟังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบ่อยๆ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี

พวกภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า พราหมณ์สามี ภรรยา ไม่ทราบหรือว่า พระเจ้าสุทโธทนะ พระนางมหามายา เป็นพระราชบิดา เป็นพระราชมารดา กลับเรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นบุตรของเรา ฝ่ายพระพุทธเจ้าก็ทรงรับรองคำของพราหมณ์ด้วยเพราะเหตุอะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่า พราหมณ์สามีภรรยาในอดีตชาติ ได้เป็น บิดา มารดาของเรามาติดๆ กัน ๕๐๐ ชาติ พระพุทธเจ้าได้ตรัสพระคาถาว่า

ใจย่อมจดจ่อ แม้จิตก็เลื่อมใสในบุคคลใด เขาย่อมสนิทสนมในบุคคลแม้นั้น ซึ่งตนไม่เคยเห็นโดยแท้

ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะอาศัยเหตุ ๒ ประการอย่างนี้ คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑ เปรียบเหมือนดอกบัวเกิดในน้ำได้ เพราะอาศัยเปือกตมและน้ำฉะนั้น

อธิบายดังนี้ ใจของบุคคลที่สะสมมีความรักกันมาในอดีต แม้เพียงเห็น ใจก็จดจ่ออยู่กับบุคคลนั้น มีจิตอ่อนโยน รู้สึกสนิทสนมกับบุคคลนั้น แม้ไม่เคยเห็นกันมาก่อนเลย

ธรรมดาความรักนี้ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการ คือได้เป็นมารดาบิดา ธิดา บุตร พี่น้องชายพี่น้องหญิง สามีภรรยา หรือสหายมิตรกันในภพก่อน เคยอยู่ร่วมเคียงกันมา ความรักนั้นย่อมไม่ละ คงติดตามไปแม้ในภพอื่น เพราะการอยู่ร่วมกันในกาลก่อนอย่างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง ความรักนั้นย่อมเกิดเพราะการเกื้อกูลกัน ช่วยเหลือกันในปัจจุบันอันได้ทำในชาตินี้ ความรักนั้นย่อมเกิดขึ้นด้วยเหตุสองประการฉะนี้ เปรียบเหมือนอุบล (ดอกบัว) ในน้ำฉะนั้น เหมือนอุบลและบุปผชาติที่เกิดในน้ำ ก็ได้อาศัยเหตุสองอย่าง คือน้ำและเปือกตมฉันใด ความรักก็ย่อมเกิดด้วยเหตุสองประการนี้ฉะนั้น

พระธรรมเรื่องนี้จึงเป็นเครื่องเตือนใจได้เป็นอย่างดีว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา คือ ไม่ใช่เรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชา เป็นไปตามเหตุปัจจัย แม้แต่ความรักที่มนุษย์ปุถุชนผู้ไม่รู้ คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่แท้ที่จริง คือ สภาพธรรมที่เป็นโลภะ ความติดข้อง เป็นกิเลส อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ การติดข้องในสิ่งต่างๆ ก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย จะรัก ติดข้องใคร บุคคลใด ก็เพราะอำนาจการสะสมมาในอดีต รวมทั้งการมีกิเลสคือโลภะที่สะสมมาด้วย สืบต่อกันมาที่เป็นการเกิดขึ้นของจิต เจตสิก แต่สมมติบัญญัติว่าเป็นคนนั้น คนนี้ รักกัน เป็น บิดา มารดา สามี ภรรยากัน แท้ที่จริงก็มีแต่ธรรม ไม่ใช่เรา

โลภะเกิดขึ้นรักชอบใครก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย อนัตตา ไม่มีใครบังคับอะไรได้ และ ความรักที่เกิดขึ้นแล้ว ก็สะสมสืบต่อในจิต ไม่ทำให้พ้นจากการเกิดในสังสารวัฏฏ์ ตราบใดที่ไม่มีการอบรมปัญญาศึกษาพระธรรม เพราะความรักคือโลภะนั้นเป็นเหตุแห่งทุกข์ เหตุของการเกิด เพราะฉะนั้น ความรัก โลภะ ห้ามไม่ได้ เพราะมีเหตุก็เกิด แต่ผู้ที่อบรมปัญญาศึกษาพระธรรม ก็รู้ความจริงของความรัก โลภะ ว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา เมื่อเข้าใจความจริงเช่นนี้ ก็เป็นหนทางที่ประเสริฐตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ หนทางแห่งปัญญา ก็สามารถละกิเลส ละความรักได้ในที่สุด


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
Sea
วันที่ 13 ต.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ