[คำที่ ๔๘๐] อวิหึสา

 
Sudhipong.U
วันที่  6 พ.ย. 2563
หมายเลข  33259
อ่าน  658

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ : “อวิหึสา”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

อวิหึสา อ่านตามภาษาบาลีว่า อะ - วิ - หิง – สา มาจากคำว่า น (ไม่) [แปลง น เป็น อ] กับคำว่า วิหึสา (ความเบียดเบียน) รวมกันเป็น อวิหึสา เขียนเป็นไทยได้ว่า อวิหิงสา แปลว่า ความไม่เบียดเบียน แสดงถึงความเป็นจริงของธรรมฝ่ายดีที่เกิดขึ้น ไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นได้รับความทุกข์ ความเดือดร้อน ด้วยกาย ด้วยวาจา

ความสงบสุขที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่ด้วยความประทุษร้ายเบียดเบียนกัน แต่ต้องด้วยความไม่ประทุษร้ายเบียดเบียนกันเท่านั้น ตามข้อความในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ดังนี้

“สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์อื่นด้วยท่อนไม้ บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข สัตว์ผู้เกิดแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ใคร่สุข บุคคลใดแสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยท่อนไม้ บุคคลนั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข”


พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ตลอด ๔๕ พรรษา โดยนัยประการต่างๆ โดยละเอียด โดยประการทั้งปวง อนุเคราะห์เกื้อกูลเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ซึ่งความจริง เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ใครๆ ก็คัดค้านไม่ได้ ตราบใดที่ยังมีกิเลส (เครื่องเศร้าหมองของจิต) อยู่ ยังไม่สามารถดับเหตุให้มีการเกิด คือ โลภะ (ความติดข้อง) อวิชชา (ความไม่รู้) ก็ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์ต่อไป เกิดในภพภูมิต่างๆ แม้การเกิดเป็นมนุษย์ ก็เป็นการเกิดในภพภูมิหนึ่งซึ่งเป็นสุคติภูมิ

มนุษย์แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่ง ว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่พ้นไปจากความเกิดขึ้นเป็นไปของสภาพธรรม กล่าวคือ จิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) และเพราะยังมีกิเลสที่สะสมมาอย่างมากในสังสารวัฏฏ์ สะสมสืบต่ออยู่ในจิตทุกขณะ เมื่อได้เหตุปัจจัยกิเลสก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ติดข้องบ้าง ไม่พอใจบ้าง เป็นต้น และถ้าสะสมมากขึ้นมีกำลังมากขึ้น ก็สามารถล่วงเป็นทุจริตกรรมประการต่างๆ มีการประทุษร้ายเบียดเบียนผู้อื่น ลักทรัพย์ของผู้อื่น เป็นต้น สร้างความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นได้

การเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะด้วยกาย โดยประการต่างๆ หรือแม้แต่การเบียดเบียนด้วยคำพูด คำด่าคำหยาบคาย คำว่าร้าย คำส่อเสียด คำพูดเสียดสี กระทบกระเทียบ เป็นต้น นั้น เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลส เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล แม้แต่เพียงคิดที่จะเบียดเบียนคนอื่น คิดไม่ดีกับคนอื่น ก็ไม่ดีแล้ว ขณะนั้นอกุศลธรรมเกิดขึ้นทำร้ายตนเองแล้ว ยิ่งถ้าสะสมมีกำลังมากขึ้นจนกระทั่งล่วงเป็นทุจริตกรรม มีการเบียดเบียนประทุษร้ายคนอื่น ทางกาย ทางวาจา ด้วยแล้ว นั่น เป็นอกุศลกรรม เป็นการสะสมเหตุที่ไม่ดี เมื่ออกุศลกรรมถึงคราวให้ผล ก็ให้ผลที่ไม่ดีกับตนเองเท่านั้น มีการเกิดในอบายภูมิ เป็นต้น โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย

การเบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำโดยประการทั้งปวง เพราะเจตนาเบียดเบียนผู้อื่นนั่นแหละที่จะเบียดเบียนตนเอง เพราะเป็นอกุศลของตนเอง ก็ย่อมให้โทษแก่ตนเอง ดังนั้น พึงเป็นผู้ใคร่ครวญพิจารณาด้วยปัญญาเห็นว่า สิ่งที่ไม่ดี ไม่ว่าจะเป็นทางกาย หรือ ทางวาจา ตนเองไม่ชอบ ฉันใด คนอื่นก็ย่อมจะเป็นเช่นนั้น คือไม่ชอบเช่นเดียวกัน แล้วละสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นเสีย ไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายและด้วยวาจา เพราะเหตุว่า มีสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ควรพูดอีกมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ไม่เป็นโทษกับใครๆ จึงควรทำแต่สิ่งที่ดี และพูดคำที่เป็นประโยชน์เท่านั้น ซึ่งไม่มีตัวตนที่ทำ แต่เป็นธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เพราะเหตุว่า ถ้าเป็นผู้รักตนเองจริงๆ แล้ว ก็จะต้องเป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงาม พร้อมทั้งฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตรงตามความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลโดยตลอด

ควรอย่างยิ่งที่แต่ละคนจะได้พิจารณาว่า ตราบใดที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งไม่สามารถที่จะรู้ได้ว่าจะละจากโลกนี้ไปเมื่อใด ควรที่จะเห็นคุณค่าของการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งได้อย่างยากแสนยาก ด้วยการสะสมแต่สิ่งที่ดีงามในชีวิตประจำวัน มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อน หวังดีต่อผู้อื่น ไม่เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่น เป็นต้น รวมถึงการอบรมเจริญปัญญา จากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว เพราะเมื่อปัญญาเจริญขึ้น คุณความดีประการต่างๆ ก็จะเจริญขึ้นตามกำลังของปัญญา ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจกัน ความเบียดเบียนประทุษร้ายกัน รวมถึงอกุศลธรรมประการอื่นๆ ก็จะลดน้อยลงด้วย จนกว่าจะสามารถดับกิเลสทั้งหลายตามลำดับขั้นได้ในที่สุด ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มี นอกจากปัญญา ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูก เท่านั้น และปัญญาจะเจริญขึ้นได้ ก็ต้องมาจากการฟังพระธรรมศึกษาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความจริงใจและเห็นประโยชน์จริงๆ ว่า ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูก เพื่อละความไม่รู้ ซึ่งความไม่รู้นี้เอง เป็นต้นเหตุของความไม่สงบทั้งหลายทั้งปวง

เป็นธรรมดาจริงๆ ที่โลกวุ่นวายไม่สงบ ทุกกาลสมัย แต่ว่าความไม่สงบมีอยู่ตลอดเวลา แล้วแต่ว่าจะมากน้อยประการใด เป็นโทษระดับไหน ความไม่สงบวุ่นวายทั้งหมดล้วนมาจากความไม่รู้ความจริง อันนำมาซึ่งกิเลสอันเป็นต้นเหตุของความไม่สงบวุ่นวายเดือดร้อนโดยประการทั้งปวง ดังนั้น โลกจะร่มเย็น สงบสุข ปราศจากการ

เบียดเบียนกัน มีแต่ความหวังดี ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อกันและกัน ก็ด้วยความเข้าใจพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ดีแล้ว ที่แต่ละคนเห็นประโยชน์ เห็นคุณค่า มีความจริงใจ ตั้งใจที่จะศึกษาเพื่อเกิดปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นของตนเอง และปัญญานี้เองจะเกื้อกูลให้คุณความดีเจริญขึ้น เป็นเหตุสำคัญที่จะนำมาซึ่งความสงบสุขอย่างแท้จริง เป็นประโยชน์ทั้งกับตนและผู้อื่นสังคมประเทศชาติ


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
มกร
วันที่ 6 พ.ย. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 10 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ