[คำที่ ๔๘๑] พาลลกฺขณ
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “พาลลกฺขณ”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
พาลลกฺขณ อ่านตามภาษาบาลีว่า พา - ละ - ลัก - ขะ - นะ มาจากคำว่า พาล (ไม่รู้ความจริง, โง่เขลา, คนพาล) กับคำว่า ลกฺขณ (เครื่องหมายที่ให้รู้ได้) รวมกันเป็น พาลลกฺขณ แปลว่า เครื่องหมายที่ให้รู้ได้ว่าเป็นคนพาล, ลักษณะของคนพาล แสดงถึงความเกิดขึ้นเป็นไปของอกุศลธรรม เพราะมีอกุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้นเป็นไป มีความไม่ละอายต่อบาป และความไม่เกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น ซึ่งทำให้ทั้งความคิด คำพูด และการกระทำ เป็นไปในทางที่ไม่เหมาะไม่ควร ด้วยอำนาจของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป จึงเป็นเหตุให้หมายรู้ได้ว่า ความประพฤติอย่างนี้ เป็นความประพฤติของคนพาล ซึ่งเมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรม เท่านั้น
ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต จินตสูตร แสดงความเป็นจริงของความประพฤติที่เป็นเครื่องหมายให้รู้ได้ว่า เป็นคนพาล ดังนี้
“คนพาลในโลกนี้ ย่อมเป็นผู้คิดชั่วโดยปกติ พูดชั่วโดยปกติ และทำการชั่วโดยปกติ ก็ถ้าคนพาลจักไม่เป็นผู้คิดชั่วโดยปกติ พูดชั่วโดยปกติ และทำการชั่วโดยปกติแล้วไซร้ คนฉลาดทั้งหลายจะพึงรู้จักเขาได้อย่างไรว่า อสัตบุรุษผู้นี้เป็นคนพาล ก็เพราะเหตุที่คนพาลย่อมเป็นผู้คิดชั่วโดยปกติ พูดชั่วโดยปกติ และทำการชั่วโดยปกตินั่นแล คนฉลาดทั้งหลาย จึงรู้จักเขาได้ว่า อสัตบุรุษผู้นี้ เป็นคนพาล”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา แสดงถึงสิ่งที่มีจริง เพื่อให้พุทธบริษัทเกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงในธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงและมีจริงในชีวิตประจำวันด้วย โดยไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน เพราะมีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ แม้แต่ในเรื่องของ เครื่องหมายที่ให้รู้ได้ว่าเป็นคนพาล หรือ ลักษณะของคนพาล พระองค์ก็ทรงแสดงไว้ เป็นเครื่องเตือนที่ดีอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่ จะได้รู้จักตัวเองว่ายังไม่พ้นจากความเป็นพาล ยังมากไปด้วยความเป็นพาล เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้น เพราะมีสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดีเกิดขึ้นเป็นไป จึงเรียกว่าเป็นคนพาล ซึ่งไม่ได้อยู่ที่อื่นที่ไกลเลย เพราะเหตุว่าขณะที่อกุศลธรรมเกิดขึ้น ไม่สามารถที่จะเป็นบัณฑิตได้เลยในขณะนั้น เพราะอกุศลธรรมไม่สามารถทำให้เข้าใจความจริงได้เลย
บุคคลผู้เป็นปุถุชนซึ่งหนาแน่นไปด้วยกิเลส ก็ย่อมเป็นไปด้วยอำนาจของอกุศลธรรมเป็นส่วนใหญ่ อกุศลจิตจึงเกิดขึ้นมากในชีวิตประจำวัน คนพาลก็มีหลากหลายตามความเป็นไปของสภาพธรรมฝ่ายที่ไม่ดี เช่น คนพาลที่หยาบ ปรากฏชัดคือ คนที่ทำบาปกรรม ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนประทุษร้ายผู้อื่นให้เดือดร้อน มีการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พาลที่ละเอียดกว่านั้น แม้ไม่ได้ทำทุจริตกรรมประการต่างๆ แต่ก็ยังไม่พ้นจากความเป็นคนพาล เพราะยังมีอกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป แม้ไม่ได้ล่วงเป็นทุจริตกรรมก็ตาม ซึ่งจะต้องพิจารณาไปแต่ละขณะจริงๆ ขณะที่อกุศลจิตเกิดขึ้น มีความติดข้องต้องการยินดีพอใจในสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือมีความโกรธ ความไม่พอใจเกิดขึ้น เป็นต้น ก็ชื่อว่าเป็นคนพาล เป็นคนไม่ดีแล้วในขณะนั้น แต่เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ความเป็นคนพาล พฤติกรรมของคนพาล ลักษณะของคนพาล ก็คือ เมื่อคิด ก็คิดไม่ดี เมื่อพูด ก็พูดไม่ดี เมื่อทำ ก็ทำไม่ดี ด้วยอำนาจของอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นครอบงำจิตใจในขณะนั้น
อกุศลธรรมทั้งหลายเป็นเรื่องของคนพาล ไม่ใช่เป็นเรื่องของบัณฑิตเลยแม้แต่น้อย เมื่อเป็นเช่นนี้ คนพาลจะไกลตัวหรือว่าจะใกล้ตัว เพราะบางคนคิดถึงลักษณะของคนพาลว่าเป็นลักษณะของผู้อื่น อกุศลไม่ว่าจะเกิดกับใคร ก็เป็นอกุศลทั้งนั้นไม่มีเว้น แต่ว่าถ้ารู้ว่าขณะนั้นเป็นอกุศล ก็จะทำให้รังเกียจอกุศลเพิ่มขึ้น ไม่ปรารถนาที่จะให้ตนเองเป็นคนพาลหรือไม่ปรารถนาให้ตนเองมีอกุศลมากๆ อย่างนั้น ไม่ควรจะคบกับอกุศล ไม่ควรเห็นว่าอกุศลเป็นสิ่งที่ดี ถ้าเป็นผู้ที่เข้าใจตามความเป็นจริงของกุศลและอกุศล ว่า อกุศลเป็นโทษ ให้ผลเป็นทุกข์และเป็นสิ่งที่ควรละ ส่วน กุศล ความดีทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ ควรสะสม แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม ย่อมจะเป็นผู้มีความละอาย มีความเกรงกลัวต่ออกุศล ไม่ประมาทในอกุศลแม้จะเล็กน้อย เห็นคุณของกุศล ทำให้เป็นผู้ถอยกลับจากอกุศลและเพิ่มพูนกุศลในชีวิตประจำวันขัดเกลากิเลสของตนเองยิ่งขึ้น
ตามความเป็นจริงแล้ว อกุศลธรรมทั้งหลายไม่สามารถที่จะรู้ความจริงของสภาพธรรมได้เลย ไม่สามารถที่จะถึงความเป็นบัณฑิตได้ แต่ขณะใดที่ฟังพระธรรมแล้วเข้าใจ ชีวิตก็เริ่มแตกต่างจากเดิมที่เคยเป็น ชีวิตเริ่มเปลี่ยนจากการที่อยู่ไปวันๆ ด้วยโลภะ ความติดข้องยินดีพอใจบ้าง ด้วยโทสะ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจบ้าง ด้วยความยึดมั่นในความเป็นเราเป็นเขาบ้าง แต่ก็ได้มีขณะที่ประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏฏ์ที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังพระธรรมและรู้ว่าขณะนั้นเป็นธรรม ซึ่งนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการที่จะถึงความเป็นบัณฑิตได้ เพราะเหตุว่า รู้ความจริงว่า ธรรมเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ซึ่งความเข้าใจถูกเห็นถูกนี้ จะเป็นประโยชน์เกื้อกูลในชีวิตได้โดยตลอด
ต้องไม่ลืมว่า ธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงนั้น ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ก็เป็นบุญแล้วที่มีโอกาสได้ยินได้ฟังได้สะสมความเห็นถูกความเข้าใจถูกจนกว่าความเข้าใจถูกเห็นถูกจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ด้วยความเคารพในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุเคราะห์จากการที่ทรงอบรมพระบารมีนานกว่าบุคคลอื่นใด เพื่อให้คนอื่นสามารถรู้ตามที่พระองค์ได้ตรัสรู้ด้วย เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่ประเสริฐอย่างยิ่งที่ชาติหนึ่งเกิดมาเป็นบุคคลนี้แล้วมีโอกาสได้ฟังพระธรรมได้สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก และเป็นคนดียิ่งขึ้น ค่อยๆ ขัดเกลาความเป็นคนพาลหรือค่อยๆ ออกจากความเป็นคนพาลซึ่งมีอยู่ในใจไปทีละเล็กทีละน้อย
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ