ภิกษุกับการชุมนุมทางการเมือง
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ ๓๓๖
หญ้าคา อันบุคคลจับไม่ดี ย่อมบาดมือนั่นเอง ฉันใด ความเป็นสมณะ อันบุคคลปฏิบัติไม่ดี ย่อมฉุดเข้าไปในนรก ฉันนั้น
[เล่มที่ 45] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๑ ภาค ๔ - หน้าที่ ๓๒๗
คนเป็นอันมากอันผ้ากาสาวะพันคอ มีธรรมอันลามก ไม่สำรวม คนลามกเหล่านั้น ย่อมเข้าถึงนรก เพราะกรรมอันลามกทั้งหลาย ก้อนเหล็กร้อนเปรียบด้วยเปลวไฟ อันผู้ทุศีลบริโภคแล้ว ยังประเสริฐกว่า ผู้ทุศีลไม่สำรวมพึงบริโภคก้อนข้าวของชาวแว่นแคว้น จะประเสริฐอะไร
ภิกษุ เป็นเพศบรรพชิต เป็นผู้ที่มีความจริงใจในการที่จะสละทรัพย์สมบัติ สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์ทุกอย่าง เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเองเป็นสำคัญ มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไม่ล่วงละเมิดสิ่งที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต ไม่ใช่ว่าบวชเข้ามาแล้วจะทำอะไรก็ได้ ถ้ามีความคิดว่าจะทำเหมือนอย่างคฤหัสถ์อย่างไรก็ได้ นั้น อย่างนี้ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะนั่นเป็นการย่ำยีพระธรรมวินัย ทำลายทั้งตนเองและทำให้พระพุทธศาสนามัวหมอง เพราะทันทีที่บวช ท่านก็เป็นภิกษุ หมดสิทธิ์ของการเป็นคฤหัสถ์ไปทันที
กรณีที่ภิกษุออกมาชุมนุมทางการเมือง ทำตัวเหมือนเหมือนอย่างคฤหัสถ์นั้น เสี่ยงต่อการล่วงละเมิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้มากมายหลายประการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติของภิกษุ เรียกว่า อาบัติ ไม่ว่าจะเป็นอาบัติหนักหรืออาบัติเบา ถ้าไม่เห็นโทษโดยความเป็นโทษ ไม่แก้ไขให้ถูกต้องตามพระวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการบรรลุมรรคผล และกั้นการเกิดในสุคติภูมิด้วย นั่นก็หมายความว่าถ้ามรณภาพ (ตาย) ในขณะที่ยังปฏิญาณว่าเป็นภิกษุอยู่ ชาติหน้าต่อจากชาตินี้เลย ต้องไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้เลย
สำหรับออกมาชุมนุมทางการเมืองของภิกษุ เสี่ยงต่อการล่วงละเมิดพระวินัยบัญญัติ ข้อใดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น
-ภิกษุด่าว่าคฤหัสถ์ เป็นอาบัติทุกกฎ (ทุกกฏ หมายถึง การกระทำที่ผิด การกระทำที่ไม่ดี เนื่องจากไม่ได้ประพฤติตามพระดำรัสที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เป็นการกระทำที่แย้งต่อกุศลธรรม เป็นการกระทำที่พลาด เพราะไม่สามารถนำไปสู่ข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงการรู้แจ้งความจริงได้)
-ภิกษุ กล่าวคำที่ไม่จริง เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (ยังกุศลธรรมให้ตกไป)
-ภิกษุ กล่าวล้อเลียนกระทบกระเทียบคฤหัสถ์ เป็นอาบัติทุพภาษิต (เกี่ยวกับคำพูด)
-ภิกษุ เข้าไปในละแวกบ้าน ส่งเสียงดัง เป็นอาบัติทุกกฏ
-ภิกษุนุ่งห่มไม่เรียบร้อย เป็นอาบัติทุกกฏ
-เมื่อภิกษุ ทำผิดพระวินัย มีความประพฤติไม่เหมาะควร ภิกษุด้วยกันว่ากล่าวตักเตือนโดยพระธรรมวินัย แล้วไม่เชื่อฟัง กล่าวคัดค้าน ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์ หรือ ในกรณีที่คฤหัสถ์ ยกข้อความที่เป็นพระธรรมหรือพระวินัยขึ้นแสดง เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แต่ภิกษุนั้น คัดค้าน ไม่เห็นด้วย ก็เป็นอาบัติทุกกฏ
กล่าวได้เลยว่ามีแต่โทษทั้งนั้น เป็นโทษกับตนเอง และพฤติกรรมดังกล่าวไม่นำมาซึ่งความเลื่อมใสเลยแม้แต่น้อย
ตามความเป็นจริงแล้ว กิจหน้าที่สำคัญของภิกษุ คือ ศึกษาพระธรรมวินัย ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ทำกิจที่ควรทำตามควรแก่เพศของตน ถ้าย่อหย่อนไม่สำรวมตามพระธรรมวินัย ไม่ขัดเกลากิเลส ลืมจุดประสงค์ที่แท้จริงว่าบวชเพื่ออะไร ย่อมมีแต่จะเพิ่มโทษคืออกุศลธรรมให้กับตนเองโดยส่วนเดียว กำลังทำทางให้ตนเองไปเกิดในอบายภูมิเท่านั้น ซึ่งจะไปโทษใครก็ไม่ได้ ถ้าได้มีความเข้าใจพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องจากการศึกษาด้วยความเคารพ ละเอียด รอบคอบแล้ว ก็สามารถเกื้อกูลผู้อื่นทั้งที่เป็นบรรพชิตด้วยกันและคฤหัสถ์ให้มีความเข้าใจพระธรรมวินัยอย่างถูกต้องได้ด้วย ความเข้าใจพระธรรมวินัยนี้เองที่จะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ที่จะอุปการะเกื้อกูลให้แต่ละคนเป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงาม ซึ่งถ้าแต่ละคนเป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงามแล้ว ปัญหาต่างๆ ความเดือดร้อนความวุ่นวายความไม่สงบ ก็จะไม่เกิดขึ้นเลย ซึ่งเป็นการเกื้อกูลกันที่ประเสริฐที่สุด ด้วยการให้สิ่งที่มีค่าที่สุด คือ ความเข้าใจที่ถูกต้องในพระธรรมวินัย ครับ
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น