พระภิกษุสามารถเกี่ยวข้าวในนาของโยมมารดาได้ไหมครับ

 
Adam
วันที่  27 พ.ย. 2563
หมายเลข  33352
อ่าน  744

ขอขอบพระคุณในคำตอบล่วงหน้าครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 27 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

สิ่งสำคัญคือมีความเข้าใจถูกต้องว่า ภิกษุคือใคร ภิกษุคือผู้ที่สละอาคารบ้านเรือน สละวงศาคณาญาติ สละทรัพย์สมบัติ สละความเป็นคฤหัสถ์ทุกประการ มุ่งสู่เพศบรรพชิตซึ่งเป็นเพศที่สูงยิ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญาขัดเกลากิเลสของตนเอง ดังนั้น เมื่อสละชีวิตของความเป็นคฤหัสถ์แล้ว จะมามีพฤติกรรมเหมือนอย่างคฤหัสถ์อีกได้อย่างไร ถ้าจะไปเกี่ยวข้าว ก็ต้องเป็นชาวนา เป็นคฤหัสถ์ ไม่ใช่ภิกษุ จึงแสดงให้เห็นตามความเป็นจริงว่า พฤติกรรมใดๆ ที่เป็นไปเพื่อพอกพูนกิเลส ไม่ได้ขัดเกลากิเลสของตนเอง ภิกษุจะทำอย่างนั้นไม่ได้เลย จะคิดเอาเองว่าทำอย่างนั้นได้ ทำอย่างนี้ได้ ไม่ได้เลย เพราะทั้งหมดต้องเป็นไปตามพระธรรมวินัยเท่านั้น

ข้าว เป็นพืชที่เกิดจากเมล็ด เมื่อภิกษุเกี่ยวข้าว ต้องอาบัติ (ล่วงพระวินัย) ปาจิตตีย์ (ยังกุศลธรรมให้ตกไป) ในสิกขาบทที่ ๑ แห่งภูตคามวรรค ข้อพรากพืช ที่เรียกว่า ภูตคาม ดังนี้

[เล่มที่ 4] พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ทุติยภาค เล่ม ๒ - หน้าที่ ๒๖๗

เป็นปาจิตตีย์ ในเพราะพรากภูตคาม.

ขอเชิญศึกษาพระวินัยเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ครับ

ภิกษุพรากภูตคาม เป็นอาบัติปาจิตตีย์


การกระทำบางอย่างของพระภิกษุ ในสายตาของชาวโลกดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งที่ดีควรกระทำ แต่ตามความเป็นจริงแล้ว บางอย่างบางเรื่อง รวมถึงการที่ภิกษุไปเกี่ยวข้าว ด้วยนั้น ผิดพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ และจะผิดไปเรื่อยๆ ถ้าไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะฉะนั้น การศึกษาพระวินัยให้เข้าใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญขาดไม่ได้เลยทีเดียว

อีกประการหนึ่งที่ควรจะได้พิจารณา คือ เป็นคฤหัสถ์ที่ดี เป็นบุตรธิดาที่ดี สามารถตอบแทนพระคุณของมารดาบิดาได้ตลอดเวลา ไม่จำกัด ทำให้ท่านมีความสุข สามารถช่วยเหลือหรือแบ่งเบาภาระของท่านได้ทุกอย่างและสามารถกระทำการช่วยเหลือท่านได้อย่างเต็มที่ด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะผิดพระวินัยข้อไหนหรือไม่ เพราะไม่ได้เป็นภิกษุ นั่นเอง ครับ

...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
Adam
วันที่ 27 พ.ย. 2563

สาธุครับ​ ขอบพระคุณ​ครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
chatchai.k
วันที่ 28 พ.ย. 2563

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 323

อาบัติเล็กน้อยไม่แสดงเสียก่อนให้โทษ

ทราบว่า ในศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลก่อนพระยานาคนั้นเป็นภิกษุหนุ่ม ขึ้นเรือไปในแม่น้ำคงคา ยึดใบตะไคร้น้ำกอหนึ่ง เมื่อเรือแม้แล่นไปโดยเร็ว ก็ไม่ปล่อย. ใบตะไคร้น้ำขาดไปแล้ว ภิกษุหนุ่มนั้นไม่แสดงอาบัติ ด้วยคิดเสียว่า "นี้เป็นโทษเพียงเล็กน้อย" แม้ทำสมณธรรมในป่าสิ้น ๒ หมื่นปี ในกาลมรณภาพ เป็นประดุจใบตะไคร้น้ำผูกคอ แม้อยากจะแสดงอาบัติ เมื่อไม่เห็นภิกษุอื่น ก็เกิดความเดือดร้อนขึ้นว่า "เรามีศีลไม่บริสุทธิ์" จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดเป็นพระยานาค ร่างกายประมาทเท่าเรือโกลน เขาได้มีชื่อว่า "เอรกปัตตะ" นั่นแล ในขณะที่เกิดแล้วนั่นเอง พระยานาคนั้นแลดูอัตภาพแล้ว ได้มีความเดือดร้อนว่า "เราทำสมณธรรมตลอดกาลชื่อมีประมาณเท่านี้ เป็นผู้บังเกิดในที่มีกบเป็นอาหาร ในกำเนิดแห่งอเหตุกสัตว์"

ขอเชิญอ่านพระสูตรเรื่องเต็ม...

ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก [เรื่องนาคราชชื่อเอรกปัตตะ]

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
talaykwang
วันที่ 30 พ.ย. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
ธีรพันธ์
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ภิกษุในธรรมวินัยควรอนุเคราะห์เพศคฤหัสถ์ดังนี้

ขออัญเชิญข้อความบางส่วนจาก

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค

สิงคาลกสูตร

[๒๐๔] ดูก่อนคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตรพึงบำรุงด้วยสถาน ๕ คือ

ด้วยกายกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑

ด้วยวจีกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑

ด้วยมโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ๑

ด้วยความเป็นผู้ไม่ปิดประตู ๑

ด้วยให้อามิสทานเนืองๆ ๑

ดูก่อนคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตร บำรุงด้วยสถาน ๕ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ คือ

ห้ามจากความชั่ว ๑

ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑

อนุเคราะห์ด้วยใจงาม ๑

ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑

ทำสิ่งที่เคยฟังแล้วให้แจ่มแจ้ง ๑

บอกทางสวรรค์ให้ ๑

ดูก่อนคฤหบดีบุตร สมณพราหมณ์ผู้เป็นทิศเบื้องบน อันกุลบุตร บำรุงแล้วด้วยสถาน ๕ เหล่านี้ ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรด้วยสถาน ๖ เหล่านี้ ทิศเบื้องบนนั้นชื่อว่า อันกุลบุตรปกปิดให้เกษมสำราญให้ไม่มีภัย ด้วย ประการฉะนี้.

 
  ความคิดเห็นที่ 7  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ