[คำที่ ๔๘๔] วิริยธมฺม
ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วิริยธมฺม”
โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย
วิริยธมฺม อ่านตามภาษาบาลีว่า วิ - ริ - ยะ - ดำ - มะ มาจากคำว่า วิริย (ความเพียร) กับคำว่า ธมฺม (สิ่งที่มีจริง, ธรรม) รวมกันเป็น วิริยธมฺม เขียนเป็นไทยว่า วิริยธรรม แปลว่า สิ่งที่มีจริง คือ ความเพียร จะเห็นได้ว่าความเพียรที่ถูกต้องหรือความเพียรชอบนั้น ต้องเป็นความเพียรที่เป็นไปในกุศล เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญา ซึ่งจะทำให้ผู้นั้นมีที่พึ่งอย่างแท้จริง ตามข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต ปฐมนาถสูตร ดังนี้
“ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย นี้เป็นธรรมที่กระทำให้มีที่พึ่ง”
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา เป็นไปเพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกของพุทธบริษัทโดยตลอด เป็นไปเพื่อเข้าใจธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ซึ่งละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง เป็นสภาพธรรมที่ปฏิเสธความเป็นตัวตนเป็นสัตว์บุคคลอย่างสิ้นเชิง พระธรรมที่พระองค์ทรงแสดง นับคำไม่ถ้วนทั้งในส่วนของพระวินัย พระสูตร และ พระอภิธรรม ทั้งหมดก็ไม่พ้นไปจากเพื่อให้เข้าใจถูกเห็นถูกในสิ่งที่มีจริงตามความเป็นจริง ไม่ว่าจะกล่าวถึงอะไร ก็ไม่พ้นไปจากธรรมเลย แม้แต่ที่กล่าวถึงความเพียร ก็ไม่พ้นไปจากธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ ไม่มีตัวตนที่จะไปทำความเพียร เพราะความเพียรเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีใครบังคับบัญชาได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเพียรไปทางไหน ระหว่างเพียรถูก กับ เพียรผิด ซึ่งก็เป็นไปตามการสะสมของแต่ละบุคคล
วิริยะ (ความเพียร) เป็นธรรม คือเป็นสิ่งที่มีจริง เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ความเพียรเกิดร่วมกับจิตเกือบทุกประเภท เช่น ในขณะที่ฟังพระธรรม ขณะที่ให้ทาน ขณะที่รักษาศีล ซึ่งเป็นกุศล เป็นความดี ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย หรือแม้กระทั่งขณะที่อกุศลจิตเกิด เป็นไปกับความไม่พอใจ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ หรือเป็นไปกับความติดข้องยินดีพอใจ ก็มีความเพียรเกิดร่วมด้วย ดังนั้น ความเพียรจึงมีทั้งเพียรที่เป็นกุศล และเพียรที่เป็นอกุศลด้วย จึงควรพิจารณาว่า ความเพียรใดๆ ก็ตาม ถ้าหากว่าเมื่อเพียรไปแล้วเป็นไปเพื่อความพอกพูนอกุศลธรรม ทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้นไม่ควรเริ่ม ไม่ควรประกอบ ตรงกันข้าม หากความเพียรใดๆ เมื่อเพียรไปแล้ว เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรม ทำให้อกุศลธรรมเสื่อมไป ความเพียรนั้น ควรเริ่ม ควรประกอบ ควรอบรมให้เจริญยิ่งขึ้น
ความเพียรที่จะกล่าวในสิ่งที่ถูกต้อง กล่าวคำจริงเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น ความเพียรที่จะเป็นผู้ประพฤติสุจริตทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยที่ไม่กลัวต่อความเดือดร้อน ไม่กลัวต่อความยากลำบาก ไม่กลัวต่อความขัดสน นี้เป็นลักษณะของความเพียรในทางที่ถูกต้อง หรือเพียรที่จะแสดงเหตุและผลของธรรมตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยที่ไม่เกรงว่าจะไม่เป็นที่รัก ไม่เกรงว่าจะมีคนเข้าใจเจตนานั้นผิดไป เพราะคำจริงทุกคำของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ควรกล้าอย่างยิ่งที่จะเปิดเผย เพื่อให้ผู้อื่นมีความเข้าใจถูกต้อง ด้วยความเป็นมิตรเป็นเพื่อนหวังดี ผู้ที่เคยหลงผิดไป ก็จะได้ตั้งต้นใหม่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ไม่ไปในทางที่ผิดอีก
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวงอย่างแท้จริง กล่าวได้ว่าเป็นไปเพื่ออบรมจิตและบ่มเพาะปัญญาให้เจริญขึ้น ขัดเกลากิเลสซึ่งสะสมมาอย่างมากและยาวนานในสังสารวัฏฏ์ ทุกคำของพระองค์ เป็นเครื่องเตือนให้จิตน้อมไปในทางกุศล เกิดความไม่ประมาท และมีกำลังที่จะเพียรไปในการอบรมเจริญปัญญา เพื่อความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ในการเจริญกุศลทุกประการ จะขาดธรรมคือความเพียร ไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าจะต้องฝืนกระแสของอกุศล ฝืนความพอใจความสะดวกสบายทุกประการ เพื่อที่จะให้กุศลนั้นๆ สำเร็จ แม้การฟังพระธรรม ก็ขาดธรรมคือความเพียรไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเพียรที่จะเข้าใจความจริง เพียรที่จะขัดเกลาละคลายความเห็นผิดและความไม่รู้ จึงฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ด้วยความเคารพละเอียดรอบคอบเห็นคุณอย่างยิ่งในทุกคำของพระองค์
ธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง แต่ก็ไม่เหลือวิสัยสำหรับผู้ที่มีความตั้งใจที่จะฟังที่จะศึกษา เพราะว่า เมื่อมีความเพียรที่จะฟังที่จะศึกษาต่อไปด้วยความอดทน จริงใจ ความเข้าใจถูกเห็นถูกก็จะค่อยๆ เจริญขึ้นไปตามลำดับ ขอเพียงเป็นผู้เห็นประโยชน์และให้เวลากับพระธรรม ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นแล้ว ความเพียรที่เป็นไปในการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา พร้อมทั้งเจริญกุศลทุกประการ เพื่อขัดเกลากิเลสของตนเองในชีวิตประจำวัน เป็นความเพียรที่ควรประกอบ ควรอบรมให้เจริญขึ้นเป็นอย่างยิ่ง เป็นประโยชน์ทั้งในโลกนี้ ทั้งในโลกหน้า สะสมเป็นที่พึ่งต่อไปจนกว่าปัญญาจะมีกำลังสามารถดับกิเลสตามลำดับขั้นได้ในที่สุด
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ