อุปสมบท คำและความหมายต่างจากบรรพชาตรงไหน

 
Thanapolb
วันที่  2 ธ.ค. 2563
หมายเลข  33376
อ่าน  1,218

อุปสมบท ภาษาดั้งเดิมแปลว่าอะไร มีความหมายต่างจากบรรพชาตรงไหนบ้างครับ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
khampan.a
วันที่ 2 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

คำว่า อุปสมบท มาจากภาษาบาลีว่า อุปสมฺปทา แปลว่า ความเข้าไปถึงพร้อมด้วยกุศล หรือ การยังกุศลให้ถึงพร้อม คนไทยเรา ก็คุ้นในคำว่า อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ซึ่งนั่นหมายความว่า เป็นพระภิกษุ เพื่ออะไร? ก็เพื่อการยังกุศลให้ถึงพร้อม แสดงถึงการเว้นจากอกุศล เว้นจากเครื่องติดข้องทั้งหมดที่เคยมีเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ สละทรัพย์สมบัติ วงศาคณาญาติ เพื่อมุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง คือ เพศบรรพชิต เพื่อศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา มีความประพฤติคล้อยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ขัดเกลากิเลสของตนเอง เป็นสำคัญ สูงสุดเพื่อถึงความเป็นพระอรหันต์ห่างไกลแสนไกลจากกิเลสโดยประการทั้งปวง และนั่น ก็เป็นการสละทั่ว ตรงกับคำว่า บรรพชา (บวช สละเพศคฤหัสถ์) จึงมีคำต่อกันเป็น บรรพชาอุปสมบท ซึ่งก็เป็นการสละทั่ว เว้นทั่ว เว้นจากอกุศล เว้นจากเครื่องติดข้องทั้งหมดที่เคยมีเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ มุ่งสู่เพศที่สูงยิ่ง เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง นั่นเอง ดังนั้น เมื่ออุปสมบท เป็นพระภิกษุ ก็ต้องเป็นผู้สละเพศคฤหัสถ์ จึงจะเป็นเพศบรรพชิตได้

จะเห็นได้ว่า คำว่า บวช หรือ บรรพชา เป็นคำกลางๆ ที่แสดงถึงการสละเพศคฤหัสถ์สู่เพศที่สูงยิ่ง ไม่ว่าจะบวช (บรรพชา) เป็นสามเณร หรือ บวช เป็นพระภิกษุ ก็ใช้รวมในคำว่า บวช หรือ ปพฺพชฺช (บรรพชา) ได้ทั้งหมด แต่ถ้ามุ่งถึงการบวชเป็นพระภิกษุ ก็กำกับด้วยคำว่า อุปสมบท อีกทีหนึ่งเพื่อให้แตกต่างจากการบวชเป็นสามเณร

การบวช จึงไม่ใช่เรื่องง่าย (ไม่ว่าจะบวช เป็นสามเณร หรือ บวช/อุปสมบท เป็นพระภิกษุ) เพราะเป็นเรื่องอัธยาศัยของผู้นั้นจริงๆ ที่สะสมมาที่จะเห็นโทษของการอยู่ครองเรือน และมุ่งที่จะขัดเกลากิเลสให้ยิ่งขึ้นจริงๆ ยิ่งกว่าคฤหัสถ์ ไม่ใช่อยากจะบวชก็บวช ไม่ใช่บวชตามๆ กัน ข้อความในอรรถกถาทั้งหลาย แสดงถึงความยากของการบวชไว้ ดังนี้

[เล่มที่ 41] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๔ - หน้าที่ ๑๗๖

"บทว่า ทุปฺปพฺพชฺชํ ความว่า ชื่อว่า การละกองแห่งโภคะน้อยก็ตาม มากก็ตาม และละเครือญาติ แล้วบวชมอบอุระ (ถวายชีวิต) ในศาสนานี้ เป็นการยาก

บทว่า ทุรภิรมํ ความว่า การที่กุลบุตรแม้บวชแล้วอย่างนั้น สืบต่อความเป็นไปแห่งชีวิต ด้วยการเที่ยวไปเพื่อภิกษา (เที่ยวบิณฑบาต) ยินดียิ่ง ด้วยสามารถแห่งการคุ้มครองคุณคือศีลอันไม่มีประมาณ และบำเพ็ญข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรแก่ธรรมให้บริบูรณ์ เป็นการยาก"


[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้าที่ ๔๙๙

บทว่า ทุปฺปพฺพฺชฺชํ ความว่า การเว้นทั่ว ชื่อว่า ทำได้ยาก เพราะการสละกองโภคสมบัติ และความห้อมล้อมของหมู่ญาติ น้อยก็ตาม มากก็ตาม แล้วบวชถวายชีวิตในพระศาสนานี้ ชื่อว่า ยาก เพราะกระทำได้โดยยาก คือการบรรพชาทำได้โดยยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า "ทุปฺปพฺพชฺชํ" (การบวชทำได้ยาก) .

(ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา เชนตเถรคาถา)


...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ....

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
chatchai.k
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 3  
 
Thanapolb
วันที่ 3 ธ.ค. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

กราบบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่ง ในกุศลวิริยะของอาจารย์คำปั่น ที่เกื้อกูลให้เข้าใจครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 4  
 
เฉลิมพร
วันที่ 4 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 5  
 
pulit
วันที่ 4 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
  ความคิดเห็นที่ 6  
 
talaykwang
วันที่ 6 ธ.ค. 2563

กราบขอบพระคุณและขออนุโมทนาในกุศลค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ