[คำที่ ๔๘๕] ปริสโสภณ

 
Sudhipong.U
วันที่  3 ธ.ค. 2563
หมายเลข  33380
อ่าน  645

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “ปริสโสภณ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

ปริสโสภณ อ่านตามภาษาบาลีว่า ปะ - ริ - สะ - โส - พะ - นะ มาจากคำว่า ปริส (กลุ่มชน, บริษัท) กับคำว่า โสภณ (งาม) รวมกันเป็น ปริสโสภณ เขียนเป็นไทยได้ว่า ปริสโสภณะ แปลว่า ผู้ยังบริษัทคือกลุ่มชนให้งาม ซึ่งแสดงถึงบุคคลผู้เป็นคนดี มีธรรมอันงาม คือความดีทั้งหลายทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้น บุคคลประเภทนี้ ย่อมทำประโยชน์ให้กับบุคคลโดยรวม เกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูก เกื้อกูลให้ความดีทั้งหลายเจริญขึ้น ไม่มีการทำร้ายสร้างความเสียหายหรือเบียดเบียนผู้อื่นเลยแม้แต่น้อย ข้อความใน พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ปริสาสูตร แสดงความเป็นจริงของบุคคลผู้ยังบริษัทคือกลุ่มชนให้งาม ดังนี้

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ทำบริษัทให้งาม ๔ จำพวกนี้ ๔ จำพวกเป็นไฉน คือ ภิกษุ ผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ชื่อว่า ผู้ทำบริษัทให้งาม ๑ ภิกษุณี ผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ชื่อว่า ผู้ทำบริษัทให้งาม ๑ อุบาสก ผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ชื่อว่า ผู้ทำบริษัทให้งาม ๑ อุบาสิกา ผู้มีศีล มีธรรมอันงาม ชื่อว่า ผู้ทำบริษัทให้งาม ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ทำบริษัทให้งาม ๔ จำพวกนี้แล


แต่ละคนที่เกิดมาล้วนมีความเสมอกันโดยความที่มีนามธรรมและรูปธรรมเกิดขึ้นเป็นไป กล่าวคือ มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และรูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร) แต่ที่แตกต่างกัน คือการสะสมและการได้รับผลของกรรม แต่ละคนเป็นแต่ละหนึ่ง ไม่เหมือนกันเลย ผู้ที่มีความประพฤติไม่ดี เป็นคนไม่ดี ขาดความละอาย ขาดความเกรงกลัวต่อบาป ไม่มีความเป็นมิตรเป็นเพื่อนที่ดีต่อผู้อื่น เป็นต้น มีทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่มีเฉพาะในสมัยนี้เท่านั้น กล่าวโดยสภาพธรรมแล้ว ก็เป็นธรรมคืออกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไปเท่านั้น ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน ในทางตรงกันข้าม คนที่เป็นคนดี มีความประพฤติที่ดีงาม ทางกาย ทางวาจา และทางใจ ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น ก็มีทุกยุคทุกสมัยเช่นเดียวกัน เมื่อว่าโดยสภาพธรรมแล้ว ก็ได้แก่ธรรมฝ่ายดี คือกุศลธรรม เกิดขึ้นเป็นไป ไม่มีสัตว์ ไม่มีบุคคล ไม่มีตัวตน

สิ่งที่ควรจะได้พิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่แต่ละคนมีโอกาสได้ยินได้ฟังคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นคำที่แม้บุคคลเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้วก็ยากยิ่งที่จะได้ยิน จึงไม่ควรที่จะเป็นผู้เผินที่เพียงได้ยินได้ฟัง แล้วก็เก็บแต่เพียงคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยยังไม่เห็นพระคุณที่แท้จริง ที่เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ทรงมีพระมหากรุณาแสดงความจริงเกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวว่า มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ก็ต้องเป็นผู้ที่ตรงต่อคำที่กล่าวด้วย ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่พึ่งเพื่อให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกเป็นปัญญาของตนเอง ด้วยการอาศัยแต่ละคำของพระองค์ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป เพราะอีกไม่นานทุกคนก็จะหายไปจากโลกนี้ ใครจะไปก่อน ใครจะไปทีหลัง ช้าหรือเร็วนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่น่าคิดก็คือ จากไม่เคยเป็นคนนี้ แล้วก็มาเป็นคนนี้ แล้วก็จะหมดสิ้นการเป็นบุคคลนี้ ทุกคนเหมือนกันหมด

ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคงในเรื่องเหตุและผล ก็จะรู้ได้ว่า มีสิ่งที่มีจริง ๒ ฝ่าย คือความจริงที่เป็น “ความดี” อย่างหนึ่ง และความจริงที่เป็นฝ่ายตรงกันข้ามความดี คือ “ความชั่ว” อีกอย่างหนึ่ง ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะเห็นได้ว่า แต่ละคนที่เกิดมาก็มีทั้งความดีและความชั่ว ซึ่งเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย และไม่ปะปนกันด้วย แต่ถ้าไม่มีการฟังพระธรรมให้เข้าใจในเหตุและผล ก็ยากที่จะพ้นจากความชั่วได้ ก็ยังเป็นคนไม่ดี และยังมากไปด้วยความไม่ดีอยู่นั่นเอง

ตราบใดที่เป็นคนไม่ดี หมายความว่า มีแต่อกุศลธรรมเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใดๆ ทั้งสิ้น เช่น โลภะ (ความติดข้อง) โทสะ (ความโกรธความขุ่นเคืองใจ) โมหะ (ความหลง ความไม่รู้) มิจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิด) มานะ (ความสำคัญตน) เป็นต้น ทั้งหมดที่เป็นอกุศล ขณะนั้นไม่สามารถที่จะรู้ความจริงได้เลย กลับเพิ่มขึ้นทับถมยิ่งขึ้นยากแก่การที่จะรู้ความจริงได้ เมื่อเข้าใจอย่างนี้ ก็เริ่มเห็นคุณของบารมี คือคุณความดีซึ่งเกิดขึ้นเป็นไปโดยที่ว่าขณะนั้นอกุศลไม่เกิด แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มคุณความดีขึ้น ก็ย่อมสามารถที่จะเป็นทางให้ละความไม่รู้และความไม่ดีทั้งหลายได้ เพราะเหตุว่าทั้งสองอย่างนี้ กล่าวคือ อกุศลกับกุศลจะเกิดพร้อมกันหรือร่วมกันไม่ได้เลย ด้วยเหตุนี้ การเห็นโทษเห็นภัยของอกุศล ย่อมเป็นเหตุให้กุศลเกิดและเป็นผู้ไม่ประมาทด้วย เพราะไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการเป็นคนดี แต่ดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอ จนกว่าจะถึงความเป็นพระอรหันต์ ที่ว่าดีเท่าไหร่ก็ยังไม่พอนั้น ก็เพราะเหตุว่ากิเลสมีมากที่สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ สะสมสืบต่ออยู่ในจิต เมื่อได้เหตุปัจจัย กิเลสก็เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะฉะนั้น ถ้ามีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะเป็นผู้ที่มั่นคงในความดีแม้เพียงเล็กน้อยนิดๆ หน่อยๆ สะสมไปโดยไม่ประมาท และไม่ประมาทในการฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา เพราะเหตุว่าประมาทเมื่อใด ก็เป็นอกุศลเมื่อนั้น

บุคคลผู้ที่เป็นคนดี มีความเข้าใจถูก มีความประพฤติที่ดีงาม ประกอบด้วยคุณความดีประการต่างๆ ไม่ว่าจะอยู่ในเพศบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ก็งาม เพราะงามด้วยความดีและปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก และบุคคลประเภทนี้ ก็สามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่นได้อย่างมากทีเดียว โดยเฉพาะในเรื่องการเกื้อกูลให้เกิดความเข้าใจถูกเห็นถูกในพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง จากที่เคยเข้าใจผิด เห็นผิด ปฏิบัติผิด แต่เมื่อได้ฟังสิ่งที่ถูกต้อง ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้นั้น ที่ทำให้ได้เข้าใจความจริงว่าอะไรผิดอะไรถูก แล้วก็ทิ้งในสิ่งที่ผิดได้ เป็นการเกื้อกูลให้บุคคลอื่นงามด้วยคุณความดีและความเข้าใจถูกเห็นถูกไปด้วย

พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงตลอด ๔๕ พรรษา จึงเป็นเครื่องอุปการะเกื้อกูลแก่ผู้ที่ได้ฟังได้ศึกษา อย่างแท้จริง เป็นไปเพื่อความเป็นผู้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ซึ่งจะเป็นเครื่องนำทางชีวิตที่ดี ทำให้เป็นคนดีและมีปัญญาค่อยๆ เจริญขึ้น และผลสูงสุดของการอบรมเจริญปัญญา คือสามารถดับกิเลสได้ตามลำดับขั้นจนไม่มีกิเลสใดๆ เกิดขึ้นอีกเลย เพราะฉะนั้นแล้ว สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต คือการมีโอกาสได้สะสมความดีและฟังพระธรรมให้เข้าใจ สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งกับตนเองและบุคคลอื่นด้วย


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 6 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
มกร
วันที่ 12 ธ.ค. 2563

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ