ฟังธรรม แต่ต้องการเจริญสมถะกรรมฐานด้วย
เมื่อไม่อยู่ในสถานที่เอื้ออำนวยต่อการฟังธรรมเลย สติปัฏฐานก็ไม่ได้เกิดบ่อยนัก ดังนั้น การเจริญสมถะกรรมฐานนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง กระผมจึงต้องการเจริญสมถะกรรมฐาน ที่ไม่ใช่มิจฉาสมาธิ อยากทราบความละเอียดว่ามีวิธีเจริญอย่างไร การเจริญที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ขอท่านวิทยากรได้โปรดแนะนำด้วย ครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น มีความละเอียด ลึกซึ้งเป็นอย่างยิ่ง แม้แต่ในเรื่องการอบรมเจริญสมถภาวนา ก็มีความละเอียดลึกซึ้งมาก ที่ตั้งที่จะให้จิตสงบ คือ อารมณ์ของสมถภาวนา นั้น มี ๔๐ คือ กสิณ ๑๐ อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ เป็นต้น ไม่ใช่เป็นเพียงชื่อ การอบรมเจริญสมถภาวนา ต้องเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ถูกต้องเห็นความต่างระหว่างกุศล กับ อกุศล ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ แล้วจะเป็นผู้เจริญสมถภาวนา จะต้องเริ่มต้นด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องจริงๆ และประการที่สำคัญ ไม่มีตัวตนที่ไปทำหรือไปเจริญ แต่เป็นความเจริญขึ้นของกุศลธรรม นั่นเอง สมถภาวนา เป็นการอบรมจิตเพื่อให้สงบจากอกุศลธรรมทั้งหลายซึ่งเป็นเครื่องกลุ้มรุมจิต แต่ข้อที่น่าพิจารณา คือ ผู้ที่เจริญสมถภาวนา ที่ไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ความเข้าใจ เจริญไม่ถูก จิตย่อมไม่สงบจากอกุศล แต่เป็นอกุศล เป็นการเพิ่มอกุศลให้มีมากขึ้น อย่างนี้ไม่ชื่อว่า การอบรมเจริญสมถภาวนา
แม้ในชีวิตประจำวัน ขณที่มีเมตตา มีความเป็นเพื่อนกับบุคคลอื่น ไม่คิดร้ายต่อผู้อื่น ตลอดจนถึงระลึกถึงความตาย ด้วยเข้าใจที่ถูกต้องว่า ในเมื่อจะต้องตาย สิ่งใดที่เป็นประโยชน์เกื้อกูล ก็ควรประพฤติในสิ่งนั้น ขณะนั้น จิตก็สงบจากอกุศล เป็นตัวอย่างของการเจริญความสงบในชีวิตประจำวันได้ ครับ
ขอเชิญศึกษารายละเอียดจากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ได้ที่หัวข้อด้านล่างนี้ ครับ
วินัยคฤหัสถ์-สมถภาวนา
อารมณ์ของสมภภาวนา ๔๐ ทำให้จิตสงบในระดับต่างกัน
...ยินดีในความดีของทุกๆ ท่านครับ...