ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นสภาพไม่เที่ยง เพราะพระบาลีว่า สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 293
เชิญคลิกอ่านที่ >>> เที่ยงหรือไม่เที่ยง. เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เพราะเป็นภาระ ต้องคอยดูแลบำรุงรักษา เช่น รูปร่างกาย ต้องทำความสะอาด อาบน้ำ แปรงฟัน รูปก็มีการเสื่อมชรา ผมหงอก ตามัว ตาฟาง ฯลฯ ทุกคนต้องการเวทนาที่เป็นสุข แต่สุขเวทนาก็ไม่เที่ยงเพราะแปรปรวน ทุกอย่างเกิดขึ้นดับไปจึงเป็นทุกข์ ยกเว้นนิพพานไม่เกิดดับจึงเป็นสุขและเที่ยงค่ะ
ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เพราะเป็นสภาพธรรมะที่เกิดดับ จึงเป็นทุกข์ ดังนั้นการจะเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ ก็ด้วยปัญญา ปัญญาก็มีหลายระดับ ต้องเป็นปัญญาระดับสูงขั้นวิปัสสนาญาณ ประจักษ์แจ้ง ไม่ใช่ปัญญาขั้นคิดนึก ที่คิดว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เพราะต้องเจ็บป่วย เมื่อย แต่ขณะที่ไม่เจ็บป่วย ไม่เมื่อย ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์อย่างไร แม้ในขณะนี้ ขันธ์ ๕ ก็เป็นทุกข์ เพราะเป็นสภาพธรรมะที่เกิดขึ้นและก็ดับไป เช่น ขณะที่เห็น เห็นเกิดขึ้นและก็ดับไป จึงเป็นทุกข์
ดังนั้น ก่อนอื่นปัญญาจึงต้องรู้ว่า ขันธ์ ๕ คืออะไร ก็คือ สภาพธรรมะที่มีในขณะนี้ และเป็นทุกข์ เพราะเกิดดับในขณะนี้ และเป็นปัญญาระดับสูงที่จะรู้ว่าเป็นทุกข์ มิใช่ขั้นคิดนึกเอาว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ และขณะนี้ล่ะเป็นทุกข์อย่างไร ดังนั้น การอบรมปัญญาต้องเริ่มจากการฟังให้เข้าใจว่า ธรรม คืออะไร ธรรมอยู่ในขณะไหน และปัญญาควรรู้อะไรครับ
ควรประพฤติตนดั่งผ้าเช็ดธุลี
ศึกษาพระธรรม ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นหนทางที่จะนำไปสู่ความ เข้าใจว่าธรรมะคืออะไร แล้วเข้าใจถึงที่สุดว่าขันธ์ ๕ คืออะไร ปัญญาเท่านั้นจึงจะทำกิจ ตามคำว่า "ประพฤติตนดั่งผ้าเช็ดธุลี " เมื่อนั้นจึงเบาสบาย อริยบุคคล ท่านพ้นจากความหนักไปทีละขั้น เพราะท่านประจักษ์ในความจริง
ปุถุชน คือผู้ที่ยังหนัก เพราะแบกสิ่งที่หนักแสนหนัก คือขันธ์ ๕ ด้วยความยึดติด จากการ ไม่รู้ความจริง จึงแบกภาระ ไม่สิ้นสุด เหตุนี้จึงต้องฟังพระธรรม และฟังต่อไปทุกวัน จนชีวิตไม่มีลมหายใจ สะสมความเข้าใจไว้ ด้วยความอดทนและเคารพในการฟังพระธรรม
กราบขอบพระคุณยินดีในกุศลทุกท่านด้วยค่ะ