[คำที่ ๔๙๐] เสฏฺฐชีวิต

 
Sudhipong.U
วันที่  8 ม.ค. 2564
หมายเลข  33553
อ่าน  1,045

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “เสฏฺฐชีวิต”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

เสฏฺฐชีวิต อ่านตามภาษาบาลีว่า เสด - ถะ - ชี - วิ - ตะ มาจากคำว่า เสฏฺฐ (ประเสริฐ) กับคำว่า ชีวิต (ความเป็นอยู่, ความดำรงอยู่, ชีวิต) รวมกันเป็น เสฏฺฐชีวิต แปลว่า ความเป็นอยู่ที่ประเสริฐ, ชีวิตที่ประเสริฐ

ชีวิตที่ประเสริฐ ไม่ใช่เกิดมาทำชั่วทำแต่สิ่งที่ไม่ดีประการต่างๆ แต่เป็นชีวิตที่ประกอบด้วยสภาพธรรมฝ่ายดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ปัญญาความเข้าใจถูกเห็นถูก ซึ่งจะเกื้อกูลให้คุณความดีทั้งหลายทั้งปวงเจริญขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อยู่ในสถานการณ์ใด ก็ไม่เดือดร้อน เพราะสามารถเข้าใจความจริงและไม่ละทิ้งคุณความดีทั้งปวง

ข้อความในสารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค วิตตสูตร แสดงความเป็นจริงว่า บุคคลผู้เป็นอยู่หรือมีชีวิตอยู่ด้วยปัญญา เป็นผู้มีชีวิตที่ประเสริฐ ดังนี้

บทว่า ปญฺญาชีวี ชีวิตมาหุ เสฏฺฐํ [คนที่เป็นอยู่ด้วยปัญญา นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวว่า มีชีวิตประเสริฐ] ความว่า บุคคลใด เป็นอยู่ด้วยปัญญา เป็นคฤหัสถ์ ย่อมดำรงอยู่ในศีล ๕ เริ่มตั้งสลากภัตร (ภัตรที่ถวายตามสลาก) เป็นต้น จึงชื่อว่า เป็นอยู่ด้วยปัญญา หรือว่า เป็นบรรพชิต เมื่อปัจจัยเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม ก็ย่อมพิจารณาสิ่งที่มีอยู่นี้แล้วจึงบริโภค ถือเอากรรมฐาน เริ่มตั้งวิปัสสนา ชื่อว่าเป็นอยู่ด้วยปัญญา เพราะสามารถบรรลุอริยผลได้ ด้วยเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลาย จึงกล่าวว่า บุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญานั้น มีชีวิตเป็นอยู่อันประเสริฐ ดังนี้แล”


ธรรม เป็นสิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง และมีจริงในขณะนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นขณะใดก็ตามไม่พ้นไปจากธรรมเลย ไม่ต้องไปแสวงหาธรรมที่ไหน มีจิต (สภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ [อารมณ์คือสิ่งที่จิตรู้] ) เจตสิก (สภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) และ รูป (สภาพธรรมที่ไม่รู้อะไร, ไม่ใช่สภาพรู้) เท่านั้นเกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเป็นธรรมแต่ละหนึ่งๆ จึงหาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนไม่ได้เลย

แต่ละบุคคลสะสมอกุศลมามาก เพราะความเป็นปุถุชนผู้หนาแน่นไปด้วยกิเลสที่ได้สะสมมาอย่างเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์ เมื่อมีความเข้าใจว่าอกุศลธรรมมีมาก จึงเห็นโทษของอกุศลธรรม มีการศึกษาพระธรรม ฟังพระธรรม เพื่อที่จะขัดเกลาละคลายอกุศลธรรม เมื่อได้ศึกษาพระธรรมแล้ว ก็จะค่อยๆ เห็นว่าขณะจิตที่เป็นไปในแต่ละวันนั้น เป็นไปด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ตลอดเวลาที่จิตไม่ได้เป็นไปในการให้ทาน สละสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ไม่ได้เป็นไปในการรักษาศีล เว้นในสิ่งที่เป็นโทษพร้อมทั้งประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ และไม่ได้เป็นไปในการอบรมเจริญปัญญาจากการฟังธรรมบ้าง สนทนาธรรมบ้าง ไตร่ตรองธรรมบ้าง จิตก็จะเป็นอกุศลโดยส่วนใหญ่

แม้จะได้ฟังพระธรรมมาบ้างและมีความเข้าใจด้วยว่า ทุกอย่างเป็นธรรม โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลธรรมทั้งหมด ก็เป็นธรรม และสามารถกล่าวได้ว่า อกุศลธรรม เป็นธรรมฝ่ายไม่ดี เป็นธรรมฝ่ายดำ ควรละ แต่ก็ยังละไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสภาพธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น ถ้ายังไม่เข้าใจว่าธรรมเป็นอนัตตาจริงๆ ก็ไม่มีทางที่จะละโลภะ โทสะ โมหะ และอกุศลธรรมใดๆ ได้เลย ทั้งหมดทั้งปวงนั้น ต้องเป็นความเข้าใจถูกเห็นถูกจริงๆ ความเข้าใจถูก เห็นถูก คือ ปัญญา สามารถทำให้อกุศลธรรมที่เคยมี ค่อยๆ จางลง ค่อยๆ ลดน้อยลงไปได้ และสามารถดับได้ในที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ว่า พระอริยบุคคลทั้งหลายในอดีต ก่อนที่ท่านจะได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ นั้น กิเลสอกุศลธรรมที่ท่านได้สะสมมา ก็เกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย แต่เพราะเมื่อมีความสมบูรณ์พร้อมของปัญญา อันเกิดจากการอบรมเจริญที่อาศัยกาลเวลาที่ยาวนาน ก็สามารถดับกิเลสได้ตามลำดับ และกิเลสที่ดับได้แล้ว ก็ไม่เกิดอีกเลยในสังสารวัฏฏ์

ในชีวิตประจำวัน ประโยชน์ของการมีชีวิต ไม่ใช่เพื่อย่างอื่น แต่เพื่ออบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก โดยอาศัยพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเป็นที่พึ่ง จากที่ไม่เคยเข้าใจความจริง จากที่เต็มไปด้วยความมืดมิด คืออวิชชาความไม่รู้ความจริง ก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกในสภาพธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงยิ่งขึ้น เมื่อมีปัญญาเจริญขึ้น ก็จะทำให้เป็นผู้มีชีวิตที่ดำเนินไปด้วยปัญญาตามที่ตนมี เป็นผู้มีปัญญาเป็นที่พึ่ง ซึ่งไม่เป็นเหตุทำให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนใดๆ เลย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม ปัญญาก็เป็นที่พึ่งได้โดยตลอด

บุคคลผู้มีปัญญา ย่อมรู้ว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด แล้วประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงามเท่านั้น ไม่ประมาทในการเจริญกุศลสะสมความดีทุกประการ จึงเป็นเสมือนมีเครื่องนำทางชีวิตที่ดีที่คอยเกื้อกูลให้ได้เข้าใจ ว่าสิ่งนี้ท่านควรทำ สิ่งนี้ท่านไม่ควรทำ สิ่งนี้ควรอบรมให้เจริญมากขึ้น เป็นต้น เพราะปัญญาที่ค่อยๆ เจริญขึ้นนั่นเอง

สิ่งที่ประเสริฐสำหรับชีวิต ก็คือ ปัญญา แล้วปัญญาจะมาจากไหน ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง บังคับบัญชาให้เกิดก็ไม่ได้ แต่ต้องอาศัยเหตุ คือ การฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โดยไม่ขาดการฟัง ไม่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองพระธรรม ไม่ประมาทในพระธรรมแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง เพราะพระธรรมแต่ละคำมาจากพระคุณอันประเสริฐยิ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด แต่ละคำล้วนเกื้อกูลให้ผู้ฟังผู้ศึกษาได้เข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในขณะนี้ตามความเป็นจริง ไม่ผิด ไม่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ดังนั้น จึงควรที่จะได้พิจารณาว่า สาระสำคัญของชีวิตที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สินเงินทอง การมีเครื่องใช้สอยที่เพียบพร้อม การได้หลับพักผ่อน การมีความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ แล้วก็ตายไป แต่สาระสำคัญของชีวิตอยู่ที่การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งความเจริญในกุศลธรรมทุกประการ เพราะปัญญานำไปในกิจทั้งปวงที่ดีงามโดยตลอด อุปการะเกื้อกูลให้คุณความดีเจริญขึ้นในชีวิตประจำวัน เป็นไปเพื่อขัดเกลาละคลายกิเลสที่สะสมมามากในสังสารวัฏฏ์ นั่นคือ ชีวิตที่ประเสริฐอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นชีวิตที่ประกอบด้วยคุณความดีและความเข้าใจพระธรรม


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ


  ความคิดเห็นที่ 1  
 
chatchai.k
วันที่ 8 ม.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ 

 
  ความคิดเห็นที่ 2  
 
pulit
วันที่ 12 ม.ค. 2564

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ 

 
เขียนความคิดเห็น กรุณาเข้าระบบ