น้อยคนนักที่จะสนใจศึกษาอย่างจริงจัง
คำตอบเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์นั้นมีกล่าวไว้แล้วในพระพุทธศาสนา เพียงแต่น้อยคนนักที่จะสนใจศึกษาอย่างจริงจัง ชาวพุทธส่วนมากไม่สนใจศึกษาพระธรรมขั้นละเอียด เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินจะเข้าใจได้ ในขณะที่ชาวพุทธบางกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาสูงๆ เข้าใจผิดคิดว่าพระธรรมง่าย สามารถจะคาดคะเน หรือคิดเอาเองได้ตามความคิดนึกของแต่ละคน ไม่จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก็สามารถจะเข้าใจเองได้ โดยคิดว่าเป็นหลักคำสอนที่สอนให้คนทำความดี ละความชั่ว เหมือนกับหลักคำสอนของศาสนาอื่นๆ ทั่วไป
ถึงแม้ว่าจะสนใจศึกษาธรรมะจริงๆ แต่ก็น้อยคนนักที่จะเข้าใจถูก และเข้าถึงเฉพาะสภาพธรรมนั้นจริงๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนอย่างไร
พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 119 ข้อความบางตอนจาก โพธิราชกุมารสูตร ธรรมที่เราบรรลุแล้วนี้เป็นธรรมลึก ยากที่จะเห็นได้ สัตว์อื่นจะตรัสรู้ตามได้ยาก เป็นธรรมสงบระงับ ประณีต ไม่เป็นวิสัยที่จะหยั่งลงได้ด้วยความตรึก เป็นธรรมละเอียด อันบัณฑิตจะพึงรู้แจ้ง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 115
อรรถกถาอายาจนสูตร บทว่า อธิคโต แปลว่า บรรลุแล้ว. บทว่า ธมฺโม ได้แก่ธรรมคือสัจจะ ๔. บทว่า คมฺภีโร นี้เป็นบทห้ามความตื้น. บทว่า ทุทฺทโส ความว่า ชื่อว่าเห็นได้ยาก คือเห็นได้โดยลำบากอันใครๆ ไม่อาจเห็นได้สะดวกเพราะลึกซึ้ง ชื่อว่ารู้ตามได้ยาก คือพึงหยั่งรู้ได้โดยลำบาก เพราะเห็นได้โดยยากใครๆ ไม่อาจจะหยั่งรู้ได้สะดวก.
ขอนอบน้อมแด่พระธรรมอันตรัสดีแล้ว มีนิพพาน เป็นต้น